เปิดสเปก‘เครื่องบินรบ’ฝูงใหม่ ‘ทัพฟ้า’เล็ง 2 ค่าย ลุ้นงบ 68
คงต้องรอลุ้นในปีงบประมาณ 2568 "กองทัพอากาศไทย" จะเคาะเลือกเครื่องบินขับไล่โจมตีฝูงใหม่เป็นของสัญชาติใด ที่สำคัญรัฐบาล รัฐสภา และประชาชน จะไฟเขียวให้ผ่านฉลุยหรือไม่
ชัดเจนว่าในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในส่วนของ “กองทัพอากาศ” ไม่มีการจัดซื้อจัดหาโครงการใหญ่ ยกเว้นการอัพเกรดโครงสร้าง และหน้าปัดเครื่องบิน C-130 ที่ใช้งานมากว่า 40 ปี ให้ยืดอายุใช้งานไปอีก 10 ปี
โดยเน้นปรับปรุงเครื่องยนต์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับนักบินและผู้โดยสาร ประมาณ 30 เครื่อง ( C-130 ลำหนึ่งมี 4 เครื่องยนต์ เฉลี่ยรวม 7 ลำ) เพราะหากไม่รีบดำเนินการ จะหาซื้ออะไหล่ไม่ได้ในอนาคต
รวมถึงการจัดหา“เรดาร์ป้องกันทางอากาศ” ทดแทนของเดิมที่หมดอายุจากการใช้งาน ซึ่งปกติมีอายุการใช้งาน 10-20 ปี แต่ปัจจุบัน กองทัพอากาศใช้งานมาแล้ว 25 ปี ขณะที่กระบวนการจัดหามีขั้นตอนต่างๆ กว่าจะตรวจรับเครื่องใหม่ รวมทั้งติดตั้ง ต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 3 ปี
สำหรับการจัดหา “เครื่องบินขับไล่โจมตี” ฝูงใหม่ ทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบที่ F-16 A/B ที่มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน ซึ่งกองทัพอากาศเตรียมทยอยปลดประจำการ โดยในปี 2572 จะครบอายุการใช้งาน และถูกบรรจุไว้ในปีงบประมาณประจำปี 2568
แน่นอนว่า เครื่องบินรบที่อยู่ในใจของกองทัพอากาศ ยังเป็นของค่ายสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยมี 2 ตัวเลือก คือ เครื่องบินขับไล่ F-16 C/D Block 70/72 ของบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ประเทศสหรัฐอเมริกา และเครื่องบินขับไล่ Saab Gripen E/F ประเทศสวีเดน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้บริษัทเสนอราคา ภายใต้เงื่อนไขงบประมาณของกองทัพอากาศ
พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2568 กองทัพอากาศมีโครงการใหญ่ คือการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีฝูงใหม่ ทดแทนเครื่องบิน F-16 ที่ทยอยปลดประจำการ ซึ่งได้เรียนกับรัฐบาลไปว่า ในงบประมาณประจำปี 2567 เราเข้าใจสภาพของรัฐบาล ที่มีความจำเป็นต้องนำเงินไปช่วยเหลือประชาชนก่อน แต่ในปีงบประมาณ 2568 การจัดซื้อจัดหาอาวุธของกองทัพ ไม่ใช่ว่าเราต้องการแล้วอยากได้ แล้วก็ซื้อ
หากดูจากประวัติการใช้งานยุทโธปกรณ์ที่เรามีใช้มายาวนาน ประกอบกับการวิเคราะห์ว่า ภัยคุกคามในอนาคตคืออะไร สุดท้ายก็ต้องมาดูว่า สภาพบ้านเมือง และสภาพงบประมาณของประเทศ พร้อมที่จะสนับสนุนให้กองทัพได้พัฒนามากน้อยแค่ไหน เราไม่ได้ดันทุรัง แต่บางอย่างพอเป็นเรื่องของความมั่นคง ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ
ผบ.ทอ.ยอมรับว่า ขณะนี้กองทัพอากาศเตรียมโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทนแล้ว แต่จะเป็นเครื่องบินแบบไหนนั้น อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการพิจารณา ปัจจัยแรกที่ต้องคำนึงนอกจากงบประมาณแล้ว ต้องดูว่ากำลังพลมีความคุ้นเคย ชำนาญหรือไม่ และมีอะไรเทียบกับของเก่าได้บ้าง
รวมถึงการตอบสนอง เรื่องความมั่นคง ภัยคุกคามในอนาคต 30 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องอยู่ในกรอบของเครื่องบินที่กองทัพอากาศเคยใช้งานอยู่แล้ว คือ ตระกูล F-16 ของสหรัฐฯ และกริพเพน ของสวีเดน
“รอให้บริษัทเสนอเข้ามา 1 ฝูงราคาเท่าไหร่ เราจำเป็นต้องขอตัวเลขอย่างเป็นทางการ และอยู่ในกรอบงบประมาณที่กองทัพอากาศได้รับ ขอให้เสนอราคาเข้ามา ซึ่งเราต้องขอว่า 4 เครื่อง หรือ 6 เครื่อง เป็นราคาเท่าไหร่ ติดตั้งอะไรให้บ้าง และมาดูของที่เรามีอยู่ ว่าสามารถเชื่อมโยงกันได้หรือไม่ ทั้งการติดตั้งอาวุธ จรวด หรืออาวุธที่เรามีอยู่แล้ว และของใหม่ต้องดีกว่า ยิงได้ไกล และแม่นยำกว่า มีประสิทธิภาพ” พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าว
สำหรับประเด็นข้อกังวลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันนั้น ผบ.ทอ.ชี้แจงว่า ทุกโครงการของกองทัพอากาศ นอกจากจะดำเนินการภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งมีผู้แทนภาคประชาชน กรมบัญชีกลาง ผู้เชี่ยวชาญ เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2564 ในรูปแบบคณะกรรมการเข้ามาดูแลพร้อมให้คำแนะนำ
“เขาก็แฮปปี้ว่า โครงการที่ผ่านมาของกองทัพอากาศ ทำด้วยความโปร่งใส ในการจัดซื้อจัดหา มีการเซ็นเอกสารครบถ้วน เพราะฉะนั้นกองทัพอากาศยินดีให้คณะกรรมการข้อตกลงโครงการคุณธรรมเข้ามาดูแล ตรวจสอบในทุกโครงการ หากกังวลเรื่องความไม่โปร่งใส แต่อยากให้เข้าใจว่า การทำหน้าที่ เราสวมเครื่องแบบทหารอากาศ ต้องดูเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัยทางด้านอากาศให้กับประเทศชาติ” พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวและว่า
จากนี้ไปกองทัพอากาศเริ่มชี้แจง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลทุกมิติถึงความจำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีฝูงใหม่ ในปีงบประมาณ 2568 ยืนยันว่าการจัดหาเริ่มจากครั้งละ 4 เครื่อง งบผูกพัน 3 ปีจนครบฝูง ขณะที่เครื่องบิน F-16 ก็จะทยอยปลดประจำการ โดยในปี 2572 ก็จะครบอายุการใช้งาน และอะไหล่ของเครื่องบินที่เราจะต้องสรรหามาทดแทนราคาจะสูงขึ้น เพราะทั่วโลกไม่ใช้แล้ว เราก็ต้องไปหาของเก่า หรือต้องไปหาผู้แทน หรือตัวแทน ต้องไปจัดหามา ทำให้มีราคาสูง และหายากเช่นกัน
ดังนั้นต้องรอลุ้นในปีงบประมาณ 2568 กองทัพอากาศไทย จะเคาะเลือกเครื่องบินขับไล่โจมตีฝูงใหม่เป็นของสัญชาติใด ที่สำคัญรัฐบาล รัฐสภา และประชาชน จะไฟเขียวให้ผ่านฉลุยหรือไม่