เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกัน ‘คว่ำร่างผังเมืองใหม่ กทม.’
เครือข่ายภาคประชาชน สภาผู้บริโภค พรรคการเมือง และประชาชน ร่วมกันคว่ำเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 ชี้ขัดมาตรา 9 พ.ร.บ. ผังเมือง ขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่แรก
เครือข่ายภาคประชาชน สภาผู้บริโภค พรรคการเมือง และประชาชน ร่วมกันคว่ำเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ชี้ขัดมาตรา 9 พ.ร.บ.ผังเมือง ขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่แรก ไม่รับฟังชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดถนน จี้จัดทำร่างผังเมืองใหม่โดยมีกระบวนการรับฟังประชาชนตั้งแต่ต้น
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 กรณีกรุงเทพมหานคร จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) หลังจากที่จัดรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 4 ครั้ง
และเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะติดประกาศ แล้วรวบรวมให้ผู้ไม่เห็นด้วยมาคัดค้านภายใน 90 วันก่อนประกาศบังคับใช้ผังเมืองฉบับปรังปรุงครั้งที่ 4 โดยในเวทีมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบออกมาคัดค้าน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขยายถนน และถูกเวนคืนที่ดิน โดยไม่ได้แจ้งหรือรับข้อมูลจาก กทม.มาก่อน
ปัญหาผลกระทบจากร่างผังเมืองดังกล่าว เครือข่ายภาคประชาชน สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร และ ผู้แทนพรรคการเมือง รวมไปถึงประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจึงได้ออกมาร่วมกันคัดค้านคว่ำร่างผังเมืองของกรุงเทพมหานคร พร้อมกับเรียกร้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนใหม่ให้เข้ามาร่วมร่างผังเมืองอย่างแท้จริง
นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การร่างผังเมืองที่นำมารับฟังความคิดเห็นในวันนี้มีกระบวนการที่ผิดขั้นตอน ไม่ได้เกิดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนมีการร่างกันขึ้นมาแล้วค่อยมารับฟัง ซึ่งกระบวนการที่ถูกต้องควรจะต้องรับฟังประชาชนก่อนว่าต้องการผังเมืองแบบไหน แต่การร่างเสร็จแล้วค่อยมาบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ จึงถือเป็นการผิดขั้นตอน
นายก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง กล่าวว่า กระบวนการร่างผังเมืองเริ่มต้นผิด ไม่ได้เริ่มจากการรับฟังประชาชนก่อน เพราะประชาชนไม่รู้เรื่องการร่างผังเมืองฉบับวิปริตอันนี้กี่คน จนร่างผังเมืองเสร็จแล้วคอยนำมารับฟังความคิดเห็น ซึ่งตามกฎหมายผังเมือง มาตรา 9 ระบุให้รับฟังประชาชนก่อน แต่ประชาชนไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจ ซึ่งคือ จุดอ่อนของร่างผังเมืองฉบับนี้ที่ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลเลย
“ผมขอถามว่า ในการร่างผังเมือง ที่ขีดเส้นการเวนคืนถนน 148 สาย ระยะทาง 600 กว่ากิโลเมตร ที่พาดผ่านหลังคาบ้านประชาชน แต่ประชาชนไม่รู้เรื่องเลย แล้วใครเป็นคนขีดเส้นถนนกว้าง 12 เมตร 16 เมตร 20 เมตร 30 เมตร 40 เมตร ถามประชาชนหรือยัง ช่วยมาถามประชาชนก่อนได้ไหม ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากถนนที่กว้างขึ้น นอกจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์”
นางรัชนี บูรณภาธนะ เจ้าของที่ดินในซอยเสรีไทย 66 เขตมีนบุรี เปิดเผยว่าความเดือดร้อนที่เจ้าหน้าที่วางผังเมืองขีดเส้นถนนทาบที่ดินในซอย 66 เต็มพื้นที่ 10 ไร่ 3 งาน 36 ตารางวา เป็นถนนทั้งหมด ซึ่งที่ดินแปลงนี้เป็นมรดกของพ่อเพื่อลูก 4 คน ซึ่งเธอไม่ทราบเลยว่าการวางผังเมืองไปทาบเอาที่ดินแปลงนี้ โดยผู้วางผังเมืองไม่เคยแจ้งให้ทราบแม้แต่ครั้งเดียวว่า จะวางผังเมืองในที่ดินของเธอ ทำไปโดยพละการโดยแท้ เธอจึงไม่ยอมให้ทำเป็นถนนโดยเด็ดขาด
“คนจะวางผังเมืองทำไมไม่ไปดูว่าที่ดินของใคร และเขายินยอมหรือไม่ ดิฉันขอให้ลบแผนการสร้างถนนบนที่ดินของดิฉันออกโดยเร็ว ไม่ยินยอมให้ทำถนนโดยเด็ดขาด”
สำหรับผู้ได้รับผลกระทบอีกกลุ่มหนึ่งนำโดย นางดาริณ สิริสุวรรณกิจ พร้อมด้วยชาวบานที่ได้รับผลกระทบจากแนวเวนคืน ฉ.4 ที่จะมีการตัดถนน กล่าวว่า พื้นที่เอกชัย 31/1 บ้านถูกเวนคืนโดย พ.ร.ก. 31 พ.ค. 66 แนวเวนคืน ฉ4 ไม่เคยได้รับจดหมายแม้แต่ฉบับเดียว ไม่เคยรับรู้เวทีรับฟังความคิดเห็น ไม่เคยรับรู้อะไร ตอนนี้ทางกลุ่มกำลังรอจดหมายจาก กทม. เพื่อนำไปยื่นต่อศาลปกครอง
“เวนคืนบ้านเราทำแบบนี้ได้หรือ ก่อสร้างถนน 1 หมื่นล้าน ไม่มีแม้แต่กระดาษใบเดียวที่จะแจ้งประชาชน ไม่เคยได้รับจดหมายแม้แต่ฉบับเดียว ไม่เคยรับรู้เวทีรับฟังความคิดเห็น ไม่เคยรับรู้อะไร คุณจะมาเอาบ้านเราไป แต่คุณยังไม่บอกเราเลย” นางดาริณ ย้ำถึงความไม่เห็นด้วย
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน ระบุว่า กระบวนการและสาระของผังเมืองที่ กทม.เสนอ ก็มีปัญหา สะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างฯ โดยกระบวนการที่มีไม่ได้ทำให้ประชาชนเข้าใจในสิ่งที่ กทม. นำเสนอ ควรรับฟังประชาชนว่าแบบที่ กทม.เสนอมีข้อบกพร่องอย่างไร ไม่ได้มีการถามประชาชนอย่างจริงจังว่าแบบที่ประชาชนต้องการอะไร
“เจตนารมณ์ของผังเมืองที่มาและประโยชน์ของการเปลี่ยนแผนผังของ กทม.ผู้ได้ประโยชน์มากสุดคือนายทุน และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่จะขยายถนน 148 เส้นทาง วัตถุประสงค์สำคัญคือ การเพิ่มโอกาสสร้างตึกสูงในพื้นที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนที่มีความแออัด ไม่ว่าจะเป็นการลดพื้นที่ซับน้ำที่เป็นการเปิดช่องจากนายทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขยายพื้นที่ได้”
ขณะที่ นายภัณฑิล น่วมเจิม สส.พรรคก้าวไกล เขตคลองเตย – วัฒนา กล่าวว่า การร่างผังเมือง ฉบับนี้ไม่มีกระบวนการรับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง มีประชาชนจำนวนมากไม่เข้าใจและไม่รับรู้เรื่องผังเมือง ซึ่งตามหลักการแล้ว ผังเมืองเป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันของชาว กทม. เนื่องจากมีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง จึงอยากให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้นอย่างแท้จริง และมีวิธีการในการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจผังเมืองมากขึ้น
ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชน สภาผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานภาคประชาชน และประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ขอคัดค้าน และไม่เห็นด้วย ต่อรูปแบบการจัดการในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) และเรียกร้องให้มีการ ปรับปรุงในขั้นตอน กระบวนการ และเนื้อหาของการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ใหม่