'ก้าวไกล' เตือนรัฐบาล กฤษฎีกายังไม่ไฟเขียวกู้เงิน ระวังเคาะแจกเงินดิจิทัล
‘ศิริกัญญา’ เตือน ’รัฐบาล‘ กฤษฎีกายังไม่ได้ไฟเขียว พ.ร.บ.กู้เงินฯ แค่ชี้เงื่อนไขทางกฎหมาย ขอให้ กก.ดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ลงมติอย่างระวัง ลุ้นรัฐบาลทำตัวเลขให้ดูวิกฤต
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งความเห็นต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า หากจะมองว่ากฤษฎีกาไฟเขียว ถ้าตนเป็นข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็จะรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ เพราะสิ่งที่กฤษฎีกาบอกคือหากโครงการเป็นไปตามกฏหมาย มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 และมาตรา 9 ของวินัยการเงินการคลัง จะสามารถกระทำได้ แต่หากผิดเงื่อนไขเหล่านั้น ก็ไม่สามารถกระทำได้
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความตามข้อกฎหมายโดยตรง จึงขอฝากไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนว่ากฤษฎีกาให้นำเรื่องนี้กลับเข้ามาประชุมในคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตคณะใหญ่อีกครั้ง ซึ่งมีข้าราชการและผู้มีความรู้หลายท่านให้ระมัดระวังเรื่องการลงมติเกี่ยวกับพ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อให้กระทรวงการคลังกู้เงินด้วย โดยที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ชัดอะไรมาเลยว่าอะไรที่สามารถกระทำได้และไม่สามารถกระทำได้ สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลฯ ชุดใหญ่ ว่าการดำเนินการจะเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ยังรอคอยรายงานการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ เพราะเราไม่มีข้อมูลในเชิงลึก จึงได้แต่งตั้งคำถามจากประสบการณ์ที่ประเทศต่างๆ พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ ซึ่งไม่ใช่วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด แต่อาจจะเป็นวิธีการที่เร็วที่สุด และไม่ได้คุ้มค่าต่อเม็ดเงินมากที่สุด ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นรายละเอียดอย่างครบถ้วนว่าโครงการมูลค่า 5 แสนล้านบาทจากกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไหร่
เมื่อถามว่า จากข้อสังเกตของฝ่ายค้าน รัฐบาลควรประเมินในเรื่องใดบ้างก่อนดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า สิ่งแรกคือต้องประเมินว่าสรุปแล้วประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ ซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ว่านิยามของคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจจะต้องไปในแนวทางที่เห็นเด่นชัดว่าเป็นวิกฤตที่เหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือโควิด ซึ่งทุกคนเห็นเด่นชัดและไม่มีใครเถียง ดังนั้น จึงตกอยู่กับทางรัฐบาลแล้วว่าจะไปหากลวิธีอย่างใดเพื่อทำให้ข้อมูล ทางเศรษฐกิจดูวิกฤต
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ลักษณะของวิกฤตคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น รายได้ของประชาชน GDP การจ้างงาน จึงจะเรียกว่าวิกฤต และต้องดูว่ารัฐบาลจะหาตัวเลขใดมา สุดท้ายหากำลังพิจารณาพ.ร.บ.กู้เงินกันอยู่ แล้วเศรษฐกิจเกิดกระเตื้องขึ้นมา สรุปแล้วจะยังอยู่ในเงื่อนไขเดิมหรือไม่ ก็ต้องไปลุ้นกัน