'สรรเพชญ' หวั่นกู้แจกหมื่น เสี่ยงก่อหนี้1ล้านล้าน จี้รัฐยึดพ.ร.บ.วินัยการคลัง

'สรรเพชญ' หวั่นกู้แจกหมื่น เสี่ยงก่อหนี้1ล้านล้าน จี้รัฐยึดพ.ร.บ.วินัยการคลัง

"สรรเพชญ" หวั่นกู้แจกหมื่นดิจิทัล เสี่ยงก่อหนี้1.1.ล้านล้าน เหตุไม่ปรากฎใช้งบประมาณ จี้รัฐยึดบาลพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็น กรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาส่ง ความเห็นกรณี การออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำนโยบาย Digital Wallet กลับมายังกระทรวงการคลัง ว่าตามที่ตนได้รับทราบข่าวกฤษฎีกาไม่ได้ฟันธงว่ารัฐบาลสามารถจัดทำนโยบาย Digital wallet ได้หรือไม่ แต่กฤษฎีกาทำหน้าที่ส่งความเห็นในเชิงกฎหมายเพียงเท่านั้น โดยตนเห็นว่ากฤษฎีกากำลังบอกรัฐบาลว่าหากจะจัดทำนโยบาย Digital Wallet ต้องพิจารณาภายใต้กฎหมายใดเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ตนเห็นว่านโยบายรัฐบาล คือฉันทามติของสังคมที่ไม่สามารถหักล้างได้ ขณะเดียวกัน หากสุดท้ายมันผิดกฎหมายจริงๆ  รัฐบาลจำเป็นรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและการเมืองเป็นอย่างน้อย เพราะมันคือนโยบายหาเสียงที่จำเป็นตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ก่อนจะประกาศหาเสียงเลือกตั้ง 

กรณีตัวนโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศโดยนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ภายใต้ความฮือฮาก็มีข้อกังขาถึงความเป็นไปได้ของนโยบาย มาจนถึงวันนี้ ความชัดเจนของนโยบายก็ยังไม่คืบหน้า เพราะรัฐบาลไม่มีเงินที่จะมาทำนโยบาย

อีกทั้งรัฐบาลเองก็มีความสับสนในช่วงแรกว่าจะกู้หรือไม่กู้ จะใช้เงินผ่าน Platform หรือ Application ซึ่งรัฐบาลเองก็ยังไม่มีความ โดยนโยบาย Digital wallet ที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นไว้กับ กกต. ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เรื่องของการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องให้จ่ายเงิน พบว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล วงเงิน 560,000 ล้านบาท ซึ่งที่น่าสังเกตคือที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการโดยจะมาจาก 4 แหล่ง คือ

1.รายได้ที่รัฐจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 260,000 ล้านบาท

2.ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท

3.การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท

4.การบริหารงบประมาณที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท 

ซึ่งไม่มีเรื่องของการกู้ จึงหมายความว่า นโยบายนี้จะสามารถดำเนินการได้โดยใช้เงินที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องสร้างภาระให้กับประเทศเพิ่ม  

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าการทำนโยบาย Digital Wallet หากรัฐบาลจะดึงดันให้สามารถดำเนินการภายในปี 2567 เท่ากับรัฐบาลนายเศรษฐาจะต้องกู้เงินถึง 1.1 ล้านล้านบาท เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งในรายละเอียดไม่ปรากฎนโยบาย Digital Wallet และร่าง พ.ร.บ. งบ 67 มีการกู้เงินเพื่อชดใช้เงินคงคลังกว่า 600,000 แสนล้านบาท

และหากจะดำเนินการ นโยบาย Digital Wallet  รัฐบาลจะต้องกู้อีก 560,000 ล้านบาท รวมแล้วรัฐบาลนายเศรษฐา จะสร้างหนี้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท  ทั้งนี้ การกู้เงินของรัฐบาลจะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ที่ระบุไว้ว่า “คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”
.

อีกทั้งหากพิจารณาเรื่องของหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือน พฤศจิกายน 2566 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท ซึ่งหากต้องกู้เพื่อทำนโยบาย Digital Wallet ตนไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว การกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวมันมีอยู่หลากหลายแนวทาง หลายแนวทางมันนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ การฝึกทักษะใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ 

นายสรรเพชญ กล่าวในตอนท้ายว่า “ความท้าทายของรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทย คือมาตรฐานนโยบายการเมืองกับความถูกต้องทางกฎหมาย และจำเป็นต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของนโยบายที่ให้ไว้เป็นสัญญาประชาคมว่า Digital Wallet จะเป็นนโยบายที่ไม่ต้องกู้เงิน ซึ่งรัฐบาลจะต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง”