ส่องเกม ‘นิติสงคราม’ซ้ำรอย? สกัด ‘กฎหมายการเงิน’ฝ่ายค้าน
ร่างกฎหมายแก้ฝุ่นพิษ ของ "ก้าวไกล" แม้จะฝ่าด่าน "รับรอง" ของนายกฯ และส่งเข้าสภาฯ พิจารณาแบบไม่ตกขบวนได้ ทว่าร่างกฎหมายก้าวหน้าอีกหลายฉบับต้องจับตา จะถูกลูกเล่น "นิติสงคราม" สกัดหรือไม่
Key Points :
- พรรคก้าวไกล ฐานะฝ่ายค้าน มีแนวคิดผลักดันร่างกฎหมายก้าวหน้า เพื่อเป็นผลงานทางการเมือง
- รัฐบาล-เสียงข้างมากในสภาฯ มีอำนาจที่จะตัดสินว่าจะเอาด้วยกับ "ก้าวไกล" หรือไม่ หรือจะยื้อออกไป
- ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับของสภาฯ มีกลไกที่ให้สิทธิรัฐบาล-เสียงข้างมาก ตีตกร่างกฎหมายฝ่ายค้านได้
- สภาชุดที่ผ่านมา พบว่ามีกฎหมายฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ถูกแช่แข็ง เพราะนายกฯ ไม่ลงนามเนื่องจากเป็นกฎหมายการเงิน
แม้สภาฯ จะได้พิจารณากลุ่มร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อแก้ไขมลพิษทางอากาศ 7 ฉบับ ตามที่ ภาคประชาชน พรรคก้าวไกล พรรคร่วมรัฐบาล และคณะรัฐมนตรีเสนอ
ทว่า กว่าจะได้พิจารณาครบ 7 ฉบับในคราวเดียว พรรคก้าวไกลต้องใช้ความพยายามกดดันผ่านมาตรการทางการเมืองและสังคม เพราะเป็นฉบับที่รอให้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ ลงนามรับรองก่อน ถึงจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้ เนื่องจาก “ร่างพ.ร.บ.ฝุ่นพิษ และการก่อมลพิษข้ามพรมแดน” ของพรรคก้าวไกล เป็นกฎหมายการเงิน
โดยนายกฯ “เศรษฐา” ยอมลงนามรับรองให้ในนาทีสุดท้าย และทันส่งร่างกฎหมายฝุ่นพิษฯ เข้าสู่การพิจารณาได้ทัน ไม่ตกขบวน ซึ่งสภาฯ ได้เริ่มต้นพิจารณาเมื่อบ่ายวันที่ 11 ม.ค.
อย่างที่ทราบกันว่า ในประเด็นการพิจารณาร่างกฎหมายในสภาฯ ที่เสนอโดยกลไกอื่น ที่ไม่ใช่ “ครม.” นอกจากจะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 แล้ว ยังต้อง “ฝ่าด่าน” ความเห็นชอบจาก “รัฐบาล” หากถูกตีความว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับ "การเงิน” ด้วย
โดยโอกาสที่นายกฯ จะลงนามเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับใดหรือไม่นั้น มีค่าเปอร์เซ็นต์ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับร่างกฎหมายฉบับนั้น “ซ่อนปมการเมือง” ใดไว้ด้วยหรือไม่ และ “ผู้ถืออำนาจ” ในขณะนั้นต้องการด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ดี ในประเด็นของ “พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ในสภาฯ ชุดที่ผ่านมาพบว่าเคยถูกส่งให้เข้ากระบวนการ “ตราเป็นกฎหมาย” 2 ฉบับ คือ ฉบับของ “พรรคภูมิใจไทย” และฉบับประชาชน โดยภาคี “เครือข่ายอากาศสะอาด” ที่ใช้ชื่อว่า “พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด” ซึ่งสภาฯ ตีความว่าเป็น “ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน” ที่ต้องส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ขณะนั้นลงนามรับรองตามกฎหมายก่อน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ นายกฯไม่ลงนามรับรอง ทั้งที่ “ภูมิใจไทย” มีสถานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น
นอกจากนี้ ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ยังพบว่านอกจากร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคร่วมฯ ไม่ถูกลงนามรับรองแล้ว “ร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้าน” ในขณะนั้น ก็ไม่ถูกรับรองอีกหลายฉบับ ซึ่งไม่ได้มีแค่เฉพาะ “ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล” เท่านั้น
ทำให้การตีตกร่างกฎหมายโดย “นายกฯ” ถูกวิจารณ์ว่าเป็นประเด็น “กีดกัน” การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ไม่มีผลงานเพื่อผลักดัน-ขับเคลื่อนวาระที่นำไปสู่แก้ปัญหาทางสังคม และแก้ปัญหาให้ประชาชน ที่มีความต้องการเฉพาะเจาะจง ซึ่ง “หน่วยงานรัฐ” ไม่สามารถตอบสนองได้
ดังนั้น จากการกระทำที่เคยเกิดขึ้น และ “พรรคก้าวไกล” ในฐานะผู้ถูกกระทำ จึงเกิดความกลัวว่า “รัฐบาล-เศรษฐา ทวีสิน” จะมาไม้เดียวกัน และทำให้การผลักดันกฎหมายก้าวหน้า ที่หวังจะสร้างผลงาน ถูกแช่แข็ง และไม่มีผลงานเชิงประจักษ์ ที่นำไปขยายสร้างฐานนิยมทางการเมืองกับ กลุ่มโหวตเตอร์ได้
จากข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ในส่วนงานของการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ตั้งแต่มีสภาฯ ชุดที่ 26 จนถึงวันที่ 11 ม.ค.2567 พบว่ามีร่างกฎหมายที่เสนอเข้าสู่กระบวนการแล้ว 70 ฉบับ แบ่งเป็น ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดย สส.จำนวน 56 ฉบับ ในจำนวนดังกล่าว ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 26 ฉบับ ส่วนอีก 30 ฉบับไม่เป็นการเงิน
ขณะที่ ร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนมี 14 ฉบับ แบ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 9 ฉบับ ไม่เป็นการเงิน 5 ฉบับ
โดยขณะนี้ ร่างกฎหมายที่ถูกตีความว่าเป็นกฎหมายการเงินถูกส่งให้นายกฯเศรษฐาพิจารณาลงนามรับรองแล้ว 19 ฉบับแบ่งเป็นของภาคประชาชน 9 ฉบับ และ สส.10 ฉบับ และล่าสุดนายกฯลงนามรับรองแล้ว 2 ฉบับ คือของพรรคก้าวไกล 1 ฉบับ และภาคประชาชน 1 ฉบับ ในกลุ่มของ “อากาศสะอาด”
ทว่า ในส่วนร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งอยู่ในมือของนายกฯเศรษฐาอีก 17 ฉบับ และรอสภาฯ ส่งให้พิจารณาอีก 16 ฉบับ ยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะมีการลงนามรับรองเมื่อใด
เมื่อเปิดแฟ้มของสภาฯ ที่ชงร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินไปให้นายกฯ ลงนามรับรองนั้น จะพบว่าเป็นร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล รวม 5 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ร่างพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่างพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน
ในยามนี้ “ก้าวไกล” ไม่มั่นใจว่านายกฯเศรษฐาจะรับรอง และส่งให้สภาฯ พิจารณาเมื่อใด เพราะร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับนั้น ไม่อยู่ในแนวคิด หรือข้อเสนอจากรัฐบาล ดังนั้นประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอย “ดองร่างกฎหมาย” จนสิ้นอายุของรัฐบาลเหมือนสมัยที่ผ่านมา
นอกจากประเด็นการรับรองร่างกฎหมายที่ต้องจับตาแล้ว ยังมีกลไกที่ รัฐบาลอาจใช้เป็นช่องทางตัดตอนร่างกฎหมาย ด้วยการใช้กติกาขอรับ “ร่างกฎหมายฝ่ายค้าน” ไปพิจารณา ก่อนจะลงมติรับหลักการหรือไม่
หากดูจากข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ พบว่า มีร่างกฎหมายที่บรรจุระเบียบวาระและรอพิจารณาแล้ว 13 ฉบับ
นอกจากนั้น มีร่างกฎหมายที่ผ่านพิจารณาแล้วอีก 7 ฉบับ ซึ่งจำนวนดังกล่าวมี 3 ฉบับที่รัฐบาลใช้กลไกขอรับไปพิจารณาก่อนให้สภาฯ ลงมติรับหลักการ คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แบ่งเป็นของประชาชน 2 ฉบับ และของพรรคก้าวไกล 1 ฉบับ
ดังนั้น ต่อให้เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ไม่เป็นกฎหมายเงิน แต่หากฝ่ายรัฐบาลมีวาระซ่อนเร้นในการสกัดร่างกฎหมายของฝ่ายค้าน ก็ย่อมเห็นช่องทางที่ทำได้ ทั้ง “กีดกัน-แทรกคิว-ใช้เสียงข้างมากตีตก” เพื่อตัดตอนไม่ให้ผ่านพิจารณาไปได้
ฝ่ายค้านจึงจับจ้องว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะมีพฤติกรรมซ้ำรอยยุครัฐบาลที่ผ่านมา จนจุดชนวน “นิติสงคราม” รอบใหม่หรือไม่.