ล็อคเป้า 3 เก้าอี้ ‘บิ๊ก ขรก.’ ส่งเข้ากรุ ที่ปรึกษานายกฯ

ล็อคเป้า 3 เก้าอี้ ‘บิ๊ก ขรก.’  ส่งเข้ากรุ ที่ปรึกษานายกฯ

ที่สำคัญ “ปกรณ์-อ้อนฟ้า-ดนุชา” ได้รับการแต่งตั้งในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลการใช้บริการคนย่อมมีแนวคิด-วิธีการที่เปลี่ยนไปด้วย โดยขณะนี้มีตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง

Key Points

  • คำสั่ง เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ห้ามต่ออายุข้าราชการเกษียณ และดำรงตำแหน่งครบวาระ หลังเปิดศึกรบ "กฤษฎีกา" ปมออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ดำเนินโครงการแจก 10,000 ดิจิทัลวอลเล็ต สะเทือนวงการข้าราชการ
  • เช็คลิสต์ "บิ๊กข้าราชการ" ที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ในปีนี้มี "ปกรณ์ นิลประพันธ์" เลขาธิการกฤษฎีกา "อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ" เลขาธิการ ก.พ.ร. "ดนุชา พิชยนันท์" เลขาธิการสภาพัฒน์
  • สำหรับโยกย้ายต้องหาตำแหน่ง ซี 11 เพื่อรอบรับทั้ง 3 คน โดยมีมีเก้าอี้ที่ปรึกษานายกฯว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง

ข้อสั่งการของ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกฯ รมว.คลัง ในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2566 ห้ามทุกกระทรวง-หน่วยงานรัฐ ต่ออายุข้าราชการเกษียณ แม้จะอ้างเปิดทางให้ใหม่ๆ ได้เข้ามานั่งเก้าอี้หัวหน้าส่วนราชการ แต่เบื้องหลังล็อคเป้าล้างเครือข่ายเก่า

ปมการตีความ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อดำเนินโครงการแจก 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่เปิดทางให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการ แถมยังตีกรอบให้ทางเดินแคบลง ทำให้ “บิ๊กตึกไทยคู่ฟ้า-คนชั้น 14” ต้องขยับปรับเปลี่ยน “บิ๊กข้าราชการ”

ส่งผลให้ “เศรษฐา” ประกาศทันทีภายหลังได้รับความเห็น “กฤษฎีกา” ว่า “ข้าราชการชั้นสูงว่าไม่ให้มีการต่ออายุ สาเหตุนั้นก็อยากให้คนอื่นขึ้นมาได้ เพราะข้าราชการระดับกลางคนทำงานจะได้ขึ้นมาได้”

เป้าแรก “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการกฤษฎีกา ซึ่งได้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาฯกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 ก่อนเสนอชื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบ ในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2562 และเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในช่วงต้นปี 2563 จะครบวาระ 4 ปี ในช่วงต้นปี 2567

โดยปกติตำแหน่งเลขาฯกฤษฎีกา จะสามารถต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี โดยสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 6 ปี แต่เมื่อนายกฯ “เศรษฐา” มีข้อสั่งการไม่ต่ออายุราชการข้าราชการเกษียณ ในช่วงที่ “กฤษฎีกา” เพิ่งส่งความเห็นปมร้อนกู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต จึงไม่พ้นถูกโยงไปยังปมร้อนนี้ว่า มีการล็อกเป้า เลขาฯ “ปกรณ์”

หากย้อนไปดูประวัติ “ปกรณ์” ถือเป็นศิษย์ก้นกุฎิของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” และ “วิษณุ เครืองาม” เนติบริกรรุ่นบุกเบิก ฉะนั้นดีเอ็นเอเนติบริกรของ “ปกรณ์” จึงไหลเวียนอยู่ทั่วร่าง แม้ “เพื่อไทย”จะเปลี่ยนขั้ว แต่ปมกฎหมายเป็นคนละเรื่อง

"อ้อนฟ้า"ญาติ "อภิสิทธิ์"อยู่ในลิสต์

เป้าสอง "อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ" เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยเจ้าตัวจะดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 6 ก.พ. 2567 หากไม่ต่ออายุให้ดำรงตำแหน่งเลขาฯ ก.พ.ร. “เศรษฐา” ต้องหาตำแหน่งให้ระนาบซี 11 ให้นั่ง

สำหรับ “อ้อนฟ้า” เป็นเครือญาติของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเป็นบุตรของ ชลิต เวชชาชีวะ (น้องชาย บิดาอภิสิทธิ์) ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2558-2559 เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารงานสารสนเทศ ก.พ.ร.

โดยในปี 2559-2560 เป็นที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต่อมาปี 2560-2561 เป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กระทั่งถูกโยกกลับเข้า ก.พ.ร. เป็นรองเลขาธิการ และได้เลื่อนขึ้นเป็นเลขาธิการ ก.พ.ร. แทน “ปกรณ์” ที่โยกไปนั่งเลขาฯกฤษฎีกา

"ดนุชา"ไม่ปลดรอครบวาระ

เป้าสาม “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ จะดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี ในวันที่ 1 ต.ค. 2567 แม้จะมีเวลาอีกกว่า 9 เดือน แต่รัฐบาลต้องการคนที่ไว้ใจ รวมถึงอาจจะสั่งการทางลับได้ ให้มานั่งเก้าอี้สำคัญด้านเศรษฐกิจ

ตัวของ “ดนุชา” ถือเป็นลูกหม้อสภาพัฒน์ ปี 2556 เป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบาย และแผนทรงคุณวุฒิ) ก่อนขึ้นมาเป็นรองเลขาธิการสภาพัฒนาฯ ปี 2559 และก้าวขึ้นมานั่งเลขาฯสภาพัฒน์ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563

มีกระแสข่าวว่าทั้ง 3 ตำแหน่ง อยู่ในลิสต์ที่ “เศรษฐา-บิ๊กเพื่อไทย” ต้องการปรับเปลี่ยน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานควบคู่กับรัฐบาล 

ที่สำคัญ “ปกรณ์-อ้อนฟ้า-ดนุชา” ได้รับการแต่งตั้งในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลการใช้บริการคนย่อมมีแนวคิด-วิธีการที่เปลี่ยนไปด้วย

ทั้งนี้การไม่ต่ออายุให้ดำรงตำแหน่งเมื่อครบวาระ 4 ปี ถือเป็นความชอบธรรมของ “รัฐบาล” ที่จะสามารถดำเนินการได้ ที่สำคัญ “เศรษฐา-บิ๊กเพื่อไทย” ยอมรอเวลา เพื่ออาศัยความชอบธรรมทางกฎหมาย ไม่ห้าวหาญพอที่ปลด “บิ๊กข้าราชการ” ต่างขั้วอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ เมื่อครบวาระดำรงตำแหน่งแล้ว แต่ยังไม่เกษียณอายุราชการ “รัฐบาล” จำเป็นต้องหาตำแหน่งระนาบ “ซี 11” ให้สั่งกัด

โดยขณะนี้มีตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง ซึ่งน่าจับตาในกรณีของ “ปกรณ์-อ้อนฟ้า” ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในช่วงต้นปี จะถูกโยกย้ายไปประจำการที่ทำเนียบรัฐบาลหรือไม่