บ่วงหุ้น ‘ศักดิ์สยาม’ ลามยุบ ‘ภูมิใจไทย’ ?

บ่วงหุ้น ‘ศักดิ์สยาม’   ลามยุบ ‘ภูมิใจไทย’ ?

ผลคำวินิจฉัยคดีหุ้น "ศักดิ์สยาม" เดิมพันจังหวะก้าวย่าง “ภูมิใจไทย”  เปิดคำร้องถอดรหัส! ปมเสี่ยงปากเหว -ลามยุบพรรค?

Key Points:

  • ผลคำวินิจฉัยที่จะออกมา นอกจากเป็น “ด่านชี้ชะตา” ตัว “ศักดิ์สยาม”แล้ว ยังอาจรวมไปถึงเดิมพันครั้งสำคัญรวมถึงจังหวะก้าวย่าง “พรรคภูมิใจไทย”  ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลหลังจากนี้อีกด้วย
  • มีการมองว่า อาจลุกลามไปถึงขั้น  “ยุบพรรค” จากกรณีที่ศักดิ์สยาม เคยบริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทย เทียบเคียงกับกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท
  • “ภูมิใจไทย” มองบวก ตีความตรงตัว ตามคำร้อง แค่มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 ในเรื่องของคุณสมบัติของรัฐมนตรีเท่านั้น
  • แกนนำก็ยังต้องไล่ “รีเช็กสัญญาณ” เพื่อความชัวร์ วันต่อวัน เพราะลึกๆ ก็ย่อมรู้ดีถึงสถานการณ์ที่อาจเหนือความคาดหมาย

17 ม.ค.2567ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ในฐานะอดีต รมว.คมนาคม หลังจากประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 ในกรณีคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและเป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น​ จนถึงวันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ 

ผลคำวินิจฉัยที่จะออกมา นอกจากเป็น “ด่านชี้ชะตา” ตัว “ศักดิ์สยาม”แล้ว ยังอาจรวมไปถึงเดิมพันครั้งสำคัญรวมถึงจังหวะก้าวย่าง “พรรคภูมิใจไทย”  ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลหลังจากนี้อีกด้วย

 

บ่วงหุ้น ‘ศักดิ์สยาม’   ลามยุบ ‘ภูมิใจไทย’ ?

หากผลเป็นไปใน“ทางบวก” คือศักดิ์สยาม“รอด” ย่อมต้องจับตาไปที่จังหวะการเมือง โดยเฉพาะสัญญาณปรับครม.ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก

โดยเฉพาะโควตาของเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยของศักดิ์สยาม ที่เวลานี้มีพี่ชาย “บิ๊กอุ้ม”พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ถือครองแทนชั่วคราว

หากมีการเขย่าใหม่ “บิ๊กสีน้ำเงิน” ย่อมหวังสูงไปถึง"กระทรวงเกรดเอ" ดูแลเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง สามารถตุนกระสุนการเมือง ไว้ใช้ในอนาคต ให้มาอยู่ในการครอบครอง 

 

ตรงกันข้าม หากผลเป็นไปใน “ทางลบ” คือ ศักดิ์สยามติดบ่วง ผลคือ เขาจะต้องหลุดจากตำแหน่ง รมว.คมนาคม แต่นั่นไม่ได้มีผลอะไรเลย เพราะเวลานี้ได้เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และศักดิ์สยามเองก็ไม่ได้อยู่ในฐานะ รมว.คมนาคม อีกต่อไป

ทว่า ผลที่ออกมา อาจต้องจับตาจังหวะก้าวย่างของภูมิใจไทยที่ลึกไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโควตารัฐมนตรี ซึ่งถูกถือครองแทนโดยพี่ชายย่อมเป็นที่หมายปอง ของบรรดาบ้านใหญ่-นายทุน ภายในพรรคที่รอลุ้นหลังจากนี้

หนักไปกว่านั้น จากปมร้อนหุ้นสื่อ มีการมองว่า อาจลุกลามไปถึงขั้น  “ยุบพรรค” จากกรณีที่ศักดิ์สยาม เคยบริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทย เทียบเคียงกับกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท

ก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเงินดังกล่าว ถือเป็นเงินบริจาค หรือประโยชน์อื่นใด ที่ต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง รวมทั้ฝ่าฝืนมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เป็นเหตุให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี

 หากเป็นเช่นนี้ จะหมายรวมไปถึง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด 11 คนที่ต้องติดบ่วงแบบ“ยกเข่ง”ด้วยหรือไม่

บ่วงหุ้น ‘ศักดิ์สยาม’   ลามยุบ ‘ภูมิใจไทย’ ?

อันที่จริงเรื่องปมหุ้นลามยุบพรรคก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเพราะก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ปี่กลองเลือกตั้งดังกระหึ่ม!

ก็เป็น "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" อดีตนักการเมืองจอมแฉ  ที่ออกมาเปิดข้อมูล พร้อมนำหลักฐานซึ่งระบุว่าเกี่ยวกับการรับบริจาคเงินของพรรคภูมิใจไทยบัญชีทรัพย์สินของศักดิ์สยาม และเอกสารโอนเงินโอนหุ้นของบริษัท ที่พบว่า ศักดิ์สยามเป็นเจ้าของ ยื่นให้กกต. พิจารณายุบพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากเห็นว่า เข้าข่ายความผิด ตามมาตรา 72 

แต่จะว่าไป ประเด็นนี้ มุมหนึ่งก็มีการหยิบยกเหตุผลเพื่อหักล้างจากทาง  “ภูมิใจไทย” โดยมองบวก ตีความตรงตัว ตามคำร้อง แค่มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 ในเรื่องของคุณสมบัติของรัฐมนตรีเท่านั้น

โดยเฉพาะ  “ศุภชัย ใจสมุทร”  นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นมือกฎหมายพรรค เคยให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ว่า กรณีของศักดิ์สยามเป็นเพียงเรื่องการร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี  ไม่ได้ร้องสอบในตำแหน่งเลขาธิการพรรค จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรค 

เปรียบเทียบกับกรณีการถือหุ้นสหกรณ์ของ “ชวน หลีกภัย”อดีตนายกรัฐมนตรี หรือคดีซุกหุ้นของ“ทักษิณ ชินวัตร”ในอดีต

หากตีความเช่นนี้ ร้ายแรงที่สุด ก็แค่ความผิดเฉพาะตัวบุคคลคือศักดิ์สยามคนเดียวเท่านั้น

บ่วงหุ้น ‘ศักดิ์สยาม’   ลามยุบ ‘ภูมิใจไทย’ ?

ทว่าลึกๆ แล้ว “บิ๊กสีน้ำเงิน” ก็ใช่ว่าจะวางใจได้อย่างสนิท แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าวเล็ดลอดออกมาตลอด ถึงการเปิดดีลต่อรองในระดับ “ซูเปอร์บิ๊กเนม” ระหว่างพรรคสีน้ำเงิน และพรรคแกนนำรัฐบาล 

เอาเข้าจริง แกนนำก็ยังต้องไล่ “รีเช็กสัญญาณ” เพื่อความชัวร์ วันต่อวัน เพราะลึกๆ ก็ย่อมรู้ดีถึงสถานการณ์ที่อาจเหนือความคาดหมาย เลวร้ายไปถึงขั้น “ยุบพรรค” รวมถึงตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคยกเข่ง ที่อาจต้องลุ้นว่าจะมีการงัดดาบสองยื่นตีความตามมาตรา72 ในภายหลังหรือไม่? 

หากมีการ "ตีไพ่" หน้านี้ ก็อาจเข้าทาง “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น” ที่รอจังหวะ “ตีค่ายสีน้ำเงิน” ให้เสียกระบวนทัพ แถมลดพลานุภาพในการต่อรองทางเกมอำนาจไปในคราวเดียวกันอีกด้วย 

เช่นนี้ต้องจับตาคำวินิจฉัยศาลธรรมนูญ ซึ่งจะถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของค่ายสีน้ำเงิน รวมไปถึงอนาคตการเมืองจากนี้ต่อไป