‘กกต.’ มีไว้ทำไม ? ความเสี่ยงนโยบาย ‘แจกหมื่น’
นโยบายแจกหมื่นของ "รัฐบาล" ดูท่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ มีองค์กรท้วงติงปม "ความเสี่ยงทุจริต" คำถามพ่วงในสังคมที่เกิดขึ้น คือ "กกต." ทำไมปล่อยผ่าน ละการทำหน้าที่ "ตัดไฟแต่ต้นลม"
Key Points
- กฤษฎีกา และ ป.ป.ช. ทักท้วง นโยบายแจกหมื่น ด้วยวิธีการกู้เงิน5แสนล้านบาท ว่า เสี่ยงทุจริตหลายช่อง หวังเบรกความเสียหาย
- ท่าทีรัฐบาล ประกาศเรือธงเดินหน้า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วย "เติมเงินดิจิทัลหมื่นบาท" ทั้งที่มีปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติ
- นโยบายที่มีปัญหาก่อนจะทำ คำถามใหญ่คือ ก่อนหน้าที่ "กกต." ทำไมไม่ทำอะไร หรือ "ตัดไฟแต่ต้นลม"
- จากรัฐธรรมนูญ ถึง พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดหน้าที่และอำนาจให้ กกต.ต้องกำกับการเลือกตั้งให้โปร่งใส
- คำถามจากนักวิชาการด้านกฎหมาย มองว่า กกต. ไม่ควรปัดภาระ และต้องร่วมรับผิดชอบกับประเด็น "แจกเงินดิจิทัล" ที่เกิดขึ้นด้วย
โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ถูกผลักดันให้เป็น “นโยบายเร่งด่วน” ของ รัฐบาลเศรษฐา ที่ต้องเร่งดำเนินการให้สำเร็จตามสัญญา ทว่ากลับมีกระแสทักท้วงจากหลายฝ่ายในสังคมอย่างต่อเนื่อง
แม้แต่ความเห็นจาก “กฤษฎีกา” ฐานะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ที่ไม่ไฟเขียวต่อการกู้เงินเพื่อทำโครงการนี้ กระทั่ง ล่าสุด คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ของป.ป.ช.ได้จัดทำ “ร่างข้อเสนอแนะ” ในหลายประเด็นที่สุ่มเสี่ยง ให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณา ก่อนจะมีมติส่งไปยังรัฐบาล
จากกรณีที่เกิดขึ้น มีประเด็นที่ถูกตั้งคำถามแทรกขึ้นมา ถึงบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ที่มีหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้ง และมีหน้าที่สำคัญต่อการกำกับ“นโยบายของพรรคการเมือง” ตั้งแต่เริ่มต้นหาเสียง
โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ได้ชื่อว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง และมีเค้าโครงการจัดทำรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 (7) มีสาระสำคัญ “ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”
ประเด็นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สารตั้งต้น” คือ โครงการประชานิยมของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา เช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการทุจริตขนานใหญ่
ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ที่มี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธาน ได้วางหลักการให้ “การเมืองโปร่งใส” บัญญัติให้ กกต. เป็นกลไกในกระบวนการสร้างการเมืองที่โปร่งใส ให้อำนาจออกระเบียบต่างๆ ควบคุมเลือกตั้ง การหาเสียง และการดำเนินการใดๆ ของพรรคการเมือง
แม้รัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปจะไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่หลักการดังกล่าวยังถูกคงไว้ และในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 224 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของ กกต. (5) ให้ดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
กับประเด็นที่ตั้งคำถามกับ กกต.ต่อการกำกับนโยบายของพรรคการเมืองนั้น กำหนดไว้ในมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ให้ส่งนโยบายหาเสียงให้ กกต. ให้ชี้แจงแหล่งที่มาของเงิน ความคุ้มค่า และประโยชน์ ผลกระทบความเสี่ยงในการทำนโยบาย
ต่อเรื่องนี้ “รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” ผู้ที่มีส่วนร่วมกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป และเป็นที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มองถึงข้อท้วงติงต่อโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยตั้งข้อสงสัยไปยัง กกต.ซึ่งมีหน้าที่ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ว่าทำไม ไม่กำกับนโยบายหาเสียงของ “พรรคการเมือง” ตั้งแต่ต้น
“ตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบายเติมเงินดิจิทัลฯ ต่อ กกต. ผมมองว่า กกต.พิจารณาความคลาดเคลื่อน เพราะจะรับว่า ทุกอย่างที่พรรคการเมืองเสนอ และเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าเป็นนโยบายทั้งหมดไม่ได้ แต่ต้องพิจารณารายละเอียดว่า อะไรคือนโยบาย อะไรคือการจัดเตรียม ที่เข้าข่ายเป็นสัญญาว่าจะให้” อ.เจษฎ์ เปิดประเด็น
มุมมองของนักกฎหมาย และผู้ที่คลุกวงใน การยกร่างกติกาสูงสุดของประเทศ มองว่า โครงการเติมเงินดิจิทัลนั้น ไม่ใช่นโยบาย แต่คือการสัญญาว่าจะให้ เข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตั้งแต่แรก และเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องกำกับอย่างเข้มข้น โดยไม่ปล่อยผ่าน แม้ กกต.เคยบอกว่า ให้พรรคเพื่อไทยชี้แจงรายละเอียดแล้ว แต่เมื่อชี้แจงไม่ได้ หรือไม่กระจ่าง ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ใน 3 หัวข้อหลัก และ 6 ประเด็นย่อย ไม่ควรรับรอง หรือปล่อยให้ใช้ขึ้นเวทีหาเสียง อีกทั้งต้องมีหน้าที่ติดตาม ไม่ใช่ปล่อยผ่าน
“กกต.มีหน้าที่ต้องกำกับนโยบายที่ใช้หาเสียงของพรรคการเมือง ต้องไม่อนุญาตให้ใช้หาเสียง หากแจกแจงรายละเอียดอย่างชัดเจนไม่ได้ กกต.ต้องหนักแน่น เพราะกรณีนี้เป็นปัญหาที่ชัดเจนกว่าการแจกใบส้มให้กับ สส.เพื่อไทย ที่เอาเงินไปถวายวัดอีก แต่จากวันนั้นถึงวันประกาศผลเลือกตั้ง กกต.ปล่อยผ่าน จนทำให้มีปัญหา และมีคำเตือนจากองค์กรตรวจสอบออกมา ดังนั้น กกต.ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ อย่าปัดภาระ” อ.เจษฎ์ ระบุ
ทั้งนี้ บทบาทของ กกต.ที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง “อ.เจษฎ์” ชี้ว่า ยังมีช่องทางตามมาตรา 245 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากพบการกระทำ ให้ส่งเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณา และหากเห็นพ้อง ให้ปรึกษาร่วมกับ ป.ป.ช. และ กกต. หากเห็นพ้องให้ส่งเรื่องไปยังสภาฯ วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ทราบโดยไม่ชักช้า
แม้ว่ามาตรการที่กำกับการทำงานของ “รัฐบาล” จะไม่มีข้อบ่งชี้ให้ “ยับยั้งการกระทำในทางปฏิบัติ” เป็นเพียงแค่การเตือน ทว่า “อ.เจษฎ์” ชี้ว่า อาจกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องยาว ที่จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ดังนั้น นอกจากสังคมจะจับตาทิศทางโครงการแจกหมื่นของรัฐบาลเพื่อไทย อีกมุมต้องตั้งคำถามกับ กกต. ด้วยว่า ที่ผ่านมาทำหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
หรือเป็นเพียง “องค์กรการเมือง” ที่ไหลตามกระแส แต่กลับละวางการกำกับการเมืองให้สุจริตโปร่งใส ที่เป็นโจทย์สำคัญของการแก้ปัญหาการเมืองไทย.