คดี‘ศักดิ์สยาม’ เดิมพัน‘ชิดชอบ’ จังหวะ ภท. ถ่ายมรดก ‘เจน 3’
ผลพวงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีซุกหุ้นของ "ศักดิ์สยาม" จับตาจังหวะก้าวย่างภูมิใจไทย ถึงคราว ส่งต่อมรดกทายาทรุ่น 3
Key Points:
- วิบากกรรมซุกหุ้นที่ “ศักดิ์สยาม” กำลังเผชิญ อาจไม่ได้จบเฉพาะตัวบุคคล แต่ยังอยู่ในสภาวะเสี่ยงสูงลุกลามไปถึงการงัดดาบสอง ยื่น “ยุบพรรคภูมิใจไทย” ตามมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ในกรณีศักดิ์สยามเคยบริจาคเงินให้พรรค
- จังหวะก้าวย่างภูมิใจไทย อาจถึงคราวต้องเตรียมแผนตั้งรับ ส่งต่อมรดกทายาทรุ่น 3
- การทำการเมือง ก็ต้องมีราคาค่างวดที่ต้องจ่าย เพราะนอกจาก“กระแส”แล้ว “กระสุน”ก็เป็นเรื่องที่สำคัญในสนามการเมือง!
มติศาลรัฐธรรมนูญ 7 ต่อ 1 วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 82 นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือวันที่ 3 มี.ค. 2566 จากคดีซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ผลวินิจฉัยที่ออกมา นอกจากจะทำให้ “ศักดิ์สยาม” จะต้องรอเวลาอีก 2 ปี นับจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ก่อนจะมีสิทธิ์กลับมาเป็นรัฐมนตรีได้อีกครั้ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (8)
ลึกไปกว่านั้น วิบากกรรมซุกหุ้นที่ “ศักดิ์สยาม” กำลังเผชิญ อาจไม่ได้จบเฉพาะตัวบุคคล แต่ยังอยู่ในสภาวะเสี่ยงสูงลุกลามไปถึงการงัดดาบสอง ยื่น “ยุบพรรคภูมิใจไทย” ตามมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ในกรณีศักดิ์สยามเคยบริจาคเงินให้พรรค
ฝั่ง “บิ๊กสีน้ำเงิน” ย่อมรู้ดีถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเบื้องหน้าคือ หาก"ภูมิใจไทย"ถูกยุบ ย่อมส่งผลให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค รวมถึงกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันรวม 10 คน ถูกตัดสิทธิการเมืองทั้งหมด
ทำไปทำมา จากบ่วงซุกหุ้นศักดิ์สยาม ที่ส่อลุกลามไปถึง “บ้านใหญ่ชิดชอบ” ที่สุดอาจเป็นจุดพลิกผันสำคัญ นำไปสู่การถ่ายโอนมรดกการเมืองจาก “เนวิน ชิดชอบ” พี่ใหญ่บุรีรัมย์ ไปสู่ทายาทรุ่น 3 หลังจากนี้
จับสัญญาณ ไม่กี่ชั่วโมงหลังผลวินิจฉัย ศักดิ์สยามตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และสส.บัญชีรายชื่อ อ้างว่าเพื่อแสดงความรับผิดชอบทันที
ย้อนเส้นทางการเมืองตระกูล “ชิดชอบ” เริ่มต้นที่ "ชัย ชิดชอบ" ต้นทางของบ้านใหญ่ชิดชอบ ปูทางการเมืองจากระดับท้องถิ่น ในตำแหน่งกำนันตำบลอิสาน และเจ้าของธุรกิจโรงโม่หินศิลาชัย ส่งต่อการเมืองให้กับ “เนวิน ชิดชอบ” ลูกชายคนที่ 4 ตามด้วย โอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ลูกชายคนเล็ก ให้เดินตามรอยพี่ชายเนวิน เข้าสู่ถนนการเมืองตั้งแต่ปี 2544
โดย “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ลาออกจากตำแหน่งปลัดอำเภอ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ลงสมัคร สส.บุรีรัมย์ สังกัดพรรคชาติไทย และได้เป็น สส.สมัยแรก
ปี 2548 เสี่ยโอ๋ ได้เป็น สส.อีกสมัย ในสีเสื้อไทยรักไทย และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีมหาดไทย (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ)
หลังรัฐประหาร ปี 2549 ศักดิ์สยาม ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
ปลายปี 2551 เนวิน ชิดชอบ ที่แยกตัวมาตั้งพรรคภูมิใจไทย แหกค่ายชินวัตรมาหนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิด วาทกรรม “มันจบแล้วครับนาย” และพรรคภูมิใจไทยได้โควตาคุมกระทรวงมหาดไทย มี “ปู่จิ้น” ชวรัตน์ ชาญวีรกูล พ่อของอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคเวลานั้นเป็นเสนาบดี รวมถึงกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นโควตาพรรค
เวลานั้นศักดิ์สยาม ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีมหาดไทย(ชวรัตน์ ชาญวีรกูล) จึงถูกสื่อสมัยนั้นวิจารณ์ว่า เนวินคือ มท.1 ตัวจริง เปิดการแสดงผ่านศักดิ์สยาม
ปี 2562 เนวินมอบให้ศักดิ์สยาม เป็นแม่ทัพคู่กับอนุทิน ชาญวีรกูล นำทัพภูมิใจไทย ลงสู้ศึกเลือกตั้ง และได้เข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์ ศักดิ์สยาม ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีคมนาคม
ไม่ต่างจากการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งมี “อนุทิน”เป็นแม่ทัพภูมิใจไทย เคียงคู่กับ“ศักดิ์สยาม” ในฐานะเลขาธิการพรรค
ไม่เว้นแม้แต่ “นก-ไชยชนก ชิดชอบ” ถือว่าเป็นรุ่นที่ 3 ของบ้านใหญ่ตระกูลชิดชอบ ที่พ่อเนวิน ฝากความหวังไว้ แต่อายุไม่ถึงเกณฑ์เป็นรัฐมนตรี เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการจึงไปตกที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ น้องชายอีกคน
ชัย ชิดชอบมีลูกชาย 3 คนคือ เนวิน เพิ่มพูน และศักดิ์สยาม ซึ่งกำนันชัย ไม่ได้วาดหวังให้ลูกชายคนกลางเป็นนักการเมือง จึงให้เดินไปตามเส้นทางราชการตำรวจ
ต่างจากลูกชายคนเล็ก ศักดิ์สยาม ที่กำนันชัยมองเห็นแววการเมือง และมีบุคลิกการเป็นผู้นำคล้ายกับเนวิน จึงให้ลาออกจากปลัดอำเภอ มาสมัคร สส.บุรีรัมย์
พล.ต.อ.เพิ่มพูน จบการศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง รับราชการตำรวจ ตั้งแต่ปี 2527 ที่สำนักงานเลขานุการ กรมตำรวจ ขณะที่พี่ชาย-เนวิน ชิดชอบ ได้เป็น สจ.บุรีรัมย์
ช่วงเนวิน ชิดชอบ เบ่งบารมีในยุครัฐบาลสมัคร เพิ่มพูน เป็นผบก.กองตรวจราชการ 2 จต. (จเรตำรวจ) และยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็น ผบก.ตม.กทม. (ตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพฯ)
เมื่อยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพิ่มพูน ถูกเด้งจาก ตม.ไปเป็นอำนวยการจเรตำรวจ ยุค คสช. เพิ่มพูน เป็นจเรตำรวจ (สบ 8) ก่อนขยับมารับตำแหน่ง ผช.ผบ.ตร. และเกษียณอายุราชการตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ด้วยอุบัติเหตุการเมืองที่เกิดขึ้นกับโอ๋-ศักดิ์สยาม ทำให้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ต้องกลายเป็น"ครูเพิ่มพูน" ในเวทีการเมือง
ต้องจับตา ในวันที่ศักดิ์สยามติดบ่วงซุกหุ้น ที่อาจกลายเป็นวิบากกรรมนำไปสู่การ “ยุบพรรค” และตัดสิทธิ 10 กรรมการบริหารยกชุด
จังหวะก้าวย่างภูมิใจไทย อาจถึงคราวต้องเตรียมแผนตั้งรับ ส่งต่อมรดกทายาทรุ่น 3 เร็วกว่ากำหนด
นอกเหนือจากลูกชายเนวิน "นก-ไชยชนก" ที่เวลานี้ ตีตั๋วเข้าสภาในฐานะผู้แทนเมืองปราสาทหินแล้ว ยังต้องจับตาไปที่ทายาทแถว 3 ในสายอื่นๆ ไม่ว่าเป็น “เป็ก”เศรณี ชาญวีรกูล ลูกชายคนเดียวของ “เสี่ยหนู” อนุทิน รวมถึงทายาทบ้านใหญ่-นายทุนสายต่างๆ บางกระแสบอกว่า อาจมีคนในตระกูล "รัชกิจประการ" ที่รวมอยู่ในจำนวนนี้ด้วย
การทำการเมือง ก็ต้องมีราคาค่างวดที่ต้องจ่าย เพราะนอกจาก“กระแส”แล้ว “กระสุน”ก็เป็นเรื่องที่สำคัญในสนามการเมือง!