แจกเงินดิจิทัล-อุ้ม 'ทักษิณ' ท้าทายจุดตายฝ่ายอนุรักษ์
ดูเหมือน ส.ส. 314 เสียง ของรัฐบาล ที่ พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จัดตั้งรัฐบาล “ข้ามขั้ว” กับฝ่ายอนรักษ์ อาจทำให้เชื่อมั่นอย่างสูง ใน“เสถียรภาพ” ที่ต้องต่อกรกับพรรคฝ่ายค้าน
ทั้งยังอ่านเกมการเมืองทะลุปรุโปร่ง ว่า อำนาจต่อรองทั้งหมดอยู่ที่พรรคเพื่อไทย ในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องยากถึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่พรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์ จะร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ในวาระ 4 ปีของสภาผู้ทนราษฎรชุดนี้ แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะมีที่นั่งส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทยที่มีเสียงในสภาฯเกินพอ ก็ตาม
เนื่องเพราะ “เงื่อนไข” แก้“ป.อาญา ม.112” ของพรรคก้าวไกล ที่พรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์ มี “จุดยืน” ชัดเจนจะไม่ร่วมรัฐบาลด้วยเด็ดขาด ดังนั้นเหลือก็แต่พรรคเพื่อไทย ว่าจะ “พลิกไปพลิกมา” ในการดึงพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล และปล่อยมือฝ่ายอนุรักษ์ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ก็ดูเหมือน พรรคฝ่ายอนุรักษ์ จะขาดพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ในการจัดตั้งรัฐบาลยึดกุมอำนาจรัฐ เพราะเสียงของฝ่ายอนุรักษ์รวมกันแล้ว ถือว่าน้อยมาก เป็นได้ก็แต่รัฐบาลเสียงข้างน้อยเท่านั้น
อาจด้วยเหตุนี้ ทำให้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย แสดงออกถึงการมีอำนาจอย่างล้นเหลือ และท้าทายกับคำเตือนที่จะทำผิดกฎหมาย โดยอ้าง “ประชาชน” เอาประชาชน เป็นตัวประกัน
เห็นได้ชัด กรณีผลักดันนโยบาย “แจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท” ซึ่งปรับเงื่อนไขจากที่หาเสียงเลือกตั้งเอาไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะแจกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปอย่างถ้วนหน้า กลับกลายเป็นแบ่งแจกคนจนยกเว้นคนรวย จากที่มาของเงินที่เคยอ้างกับ กกต. และประชาชนว่า ไม่ต้องกู้เงินมาแจก เพราะมีวิธีการที่คิดไว้แล้ว แต่กลับกลายเป็นจะออกพ.ร.บ.กู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแจกในโครงการดังกล่าว
เรื่องนี้ มีคำถามแขวนเอาไว้ ให้ “กกต.” พิจารณา กรณีไม่ทำตามเงื่อนไขที่ให้ไว้กับ กกต. มีความผิดหรือไม่ แค่ไหน?
ประเด็นสำคัญ อยู่ที่การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาแจก เพราะกูรูการเงินแทบทุกคน ทุกฝ่าย เห็นตรงกันว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบมาตรา 53 และมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ซึ่งไม่อยู่ใน “วิกฤติ” และจำเป็นเร่งด่วน
โดย รัฐธรรมนูญ มาตรา 140 บัญญัติว่า
“การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐเว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป”
ส่วน พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561
มาตรา 53 บัญญัติว่า
“การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ โดยต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น
เงินที่ได้รับจากการกู้เงิน ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงาน หรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
และ มาตรา 57 บัญญัติว่า
“การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะทำได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงาน หรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงาน หรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว”
จากแนวโน้มที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายดังกล่าว เมื่อรัฐบาลส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือ ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล เพื่อปรึกษาข้อกฎหมาย ก็ได้คำตอบกลับมา ว่า
“ทำได้” แต่มีข้อสังเกต คือ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 และมาตรา 57 โดยต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของโครงการ และต้องรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน
ไม่เพียงเท่านั้น สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.)สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ว่า
ตนได้เห็นรายละเอียดดังกล่าวแล้ว พบว่าเป็นประเด็นที่คณะกรรมการดิจิทัลของรัฐบาลควรรับไปพิจารณาให้ละเอียดและรอบคอบ และต้องพิจารณาควบคู่กับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้ตอบคำถามในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะนั้นเป็นประเด็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตต่อการทำนโยบายของรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 32 โดยมีรายละเอียดของข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ สถานการณ์ประเทศยังไม่วิกฤต และการทำนโยบายควรมุ่งเน้นกลุ่มเปราะบาง รวมถึงใช้แอพลิเคชั่นเป๋าตังค์แทนใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงคำนึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
“ในข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ที่มีจำนวนหน้ากว่า 177 หน้า พบว่ามีข้อเสนอแนะอยู่ 58 หน้า ที่เหลือนั้นเป็นภาคผนวก ที่ผมมองว่า เป็นส่วนสำคัญ หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการจนเกิดความเสี่ยง หรือการกระทำที่ทำผิดกฎหมาย เอกสารในภาคผนวกนั้นสามารถใช้เป็นเอกสารพยานหลักฐานต่อศาลได้ ซึ่งการเตือนของ ป.ป.ช.นั้น คล้ายกับการวินิจฉัยในโครงการรับจำนำข้าว” นายสมชาย กล่าว
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ถึงเอกสารรายงานการกู้เงินโครงการดิจิทัลวอลเลตที่หลุดจาก ป.ป.ช. ว่า
เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบคำถามรัฐมนตรีคลังแล้ว โดยให้กู้เงินได้ถ้าไม่ผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง แต่เอกสาร ป.ป.ช.ลามถึงการอ้างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งเกี่ยวพันกับสัญญาว่าจะให้ และกฎหมายอย่างอื่นด้วย ซึ่งหมายถึงความผิดต้องติดคุก
“เอกสาร ป.ป.ช. หมายความว่า เป็นการส่งสัญญาณยาแรง ซึ่งเตือนหนักยิ่งกว่าการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้น สัญญาณของ ป.ป.ช.เตือนตั้งแต่นายกฯ รมว.คลัง รมช.คลัง และ ครม.ทั้งหลาย จึงทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีความสุขที่สุดที่เอกสาร ป.ป.ช.หลุดมา เหมือนยกดิจิทัลวอลเลตออกจากอก เพราะถ้าเข้า ครม.และยังดื้ออยู่ ก็ไม่รู้ว่าจะมี รัฐมนตรีเข้าประชุมกี่คน อาจเหลือรัฐมนตรีเพื่อไทยพรรคเดียวก็ได้”
“จตุพร” ชี้ให้เห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวนั้น ศาลตัดสินลงโทษรัฐมนตรีมากถึง 45 ปี และข้าราชการเจอโทษไปเป็นพวงคนละหลายปี ส่วนนายกฯ มีโทษถึง 5 ปี
ส่วนโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ “จตุพร” กล่าวว่า ป.ป.ช.ยังส่งสัญญาณไปถึง กกต. ด้วยว่า ให้ทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะการหาเสียงที่ประกาศนโยบายหลอกลวง โดยบอกว่าไม่กู้เงิน พอเป็นรัฐบาลกลับเสนอกู้เงินมาแจกคนละหมื่น แต่ กกต.เงียบเฉยไม่ตรวจสอบตามกฎหมายเลือกตั้ง
“อยากได้ยินเสียงของ กกต.เช่นเดียวกัน มิเช่นนั้นต่อไปนี้การหาเสียงคงต้มกันได้ หาเสียงอย่าง แล้วไปทำอย่าง ถ้าคนที่เลือกเพื่อไทยรู้ว่าต้องมากู้เงินแจก คนไปใช้สิทธิ์คงไม่ลงคะแนนให้เพื่อไทยมากเท่านี้ แต่เมื่อมีอำนาจกลับไปทำคนละอย่างที่หาเสียงไว้ ดังนั้น รายงาน ป.ป.ช.เท่ากับตีตะปูปิดฝาโลงโครงการดิจิทัลวอลเลตแล้ว โครงการนี้อย่างไรเกิดไม่ได้ ยกเว้นแปลงการแจกเงินให้เหลือแต่กลุ่มเปราะบางเท่านั้น”
แต่ถึงกระนั้น ท่าทีล่าสุดของ นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย ต่างออกมาเป็นเสียงเดียวกัน ว่า จะเดินหน้าต่ออย่างเต็มที่ ไม่มีถอยเด็ดขาด แม้ว่าจะเลื่อนเวลาแจกเงินดิจิทัลฯออกไป
โดย นายเศรษฐา อ้างว่า ที่ต้องล่าช้าออกไปกว่ากำหนดเดิมส่วนหนึ่งกำลังรอรายงานข้อเสนอแนะจาก “ป.ป.ช.”ก่อน แต่ยืนยันว่า ไม่เลื่อนไปนานกว่ากำหนดการเดิมมากนัก จนถึงงบประมาณรายจ่ายปี 2568
อีกเรื่อง ที่รัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจรัฐ “อุ้ม” นายทักษิณ ชินวัตร พ้นเรือนจำ หรือไม่ต้องติดคุก แม้แต่วันเดียว
โดย หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินลงโทษ 3 คดี 8 ปี และส่งนายทักษิณ เข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯในวันเดียวกัน(22 ส.ค.66) จากนั้น เวลาประมาณเที่ยงคืนกว่า นายทักษิณ ก็ถูกส่งมารักษาตัวนอกเรือนจำ ด้วยอาการป่วยกะทันหัน
ด้านโทษ 8 ปี นายทักษิณ ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จาก 8 ปี เหลือ 1 ปี
จนวันนี้ถือว่า เกิน 136 วันแล้ว และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ก็ได้เซ็นรับทราบถึงการนอนพักรักษาตัว พร้อมกับ กรมราชทัณฑ์ และแพทย์ผู้รักษา ยืนยันว่า นายทักษิณ จำเป็นที่จะต้องพักฟื้นและเฝ้าระวังอาการป่วยที่อาจถือแก่ชีวิต ที่โรงพยาบาลตำรวจต่อไป
ท่ามกลางกระแสใหม่ออกมาว่า จะได้รับการพิจารณาพักโทษเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกระแสข่าวดังกล่าวว่า “ที่ระบุว่า อดีตนายกฯเข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ คือ เป็น นักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง-สูงวัย-เจ็บป่วยหลายโรค” และบทบาททางการเมือง ในระหว่างการพักโทษ สามารถกระทำได้หากไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือไปทำอะไรที่ผิดระเบียบ
ประเด็นที่หลายคนสงสัยตามมา ก็คือ นายทักษิณ อาจได้รับพักโทษก่อนกำหนดหรือไม่ ซึ่งตามเกณฑ์ นายทักษิณจะได้รับการพิจารณาพักโทษในวันที่ 22 ก.พ.2567 หรือ ครบ 6 เดือนตามกฎหมายกำหนด เนื่องจากโทษ 1 ใน 3 น้อยกว่า 6 เดือน กฎหมายให้นับโทษ อย่างใดอย่างหนึ่งที่มากกว่า
ถ้านายทักษิณ ได้พักโทษกรณีพิเศษ ก่อนครบกำหนด 6 เดือน ทั้งที่เหลืออีกไม่กี่วัน สิ่งที่คลางแคลงใจใน “อำนาจ-บารมี” ของ “ทักษิณ” และ การบริหารประเทศ ของรัฐบาลเศรษฐา จะยิ่งร้อยเท่าพันทวี แม้ว่า การออกมาเคลื่อนไหว และกระแสวิพากษ์วิจารณ์จะอยู่ในคนบางกลุ่มเท่านั้น ก็ตาม เพราะแค่ “อุ้ม” ไม่ให้ติดคุกแม้แต่วันเดียว ทั้งที่โทษคดีทุจริตถูกศาลฯตัดสินจำคุก 3 คดี 8 ปี ก่อนที่จะได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือปีเดียว ก็ถือว่า ได้อภิสิทธิ์ เหลือล้น เหนือนักโทษคนอื่น แม้แต่คดีเล็กน้อยแล้ว
ลองนึกภาพในอนาคต ถ้าหากโครงการแจกเงินดิจิทัลฯล้มเหลว ผลที่ได้ไม่คุ้มกับเงินจำนวนมหาศาลที่ลงทุนไป และภาระหนี้สาธารณะที่ตามมาถึงลูกหลาน และรัฐบาลที่เดินหน้านโยบายนี้ ถูกตัดสินว่ามีความผิด จะเกิดอะไรขึ้น
ขณะที่ประเด็นใช้อำนาจ “อุ้มทักษิณ” ให้ “อภิสิทธิ์” เหนือนักโทษคนอื่น ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติสองมาตรฐาน ทำลายระบบยุติธรรมไทย ก็ยังคงคู่ขนาน ก็ยิ่งจะเป็นสองเท่าของพลังติดลบ
ต่อให้ 4 ปีรอดตัวได้จนครบเทอม เพราะมีเสียงข้างมากในสภาฯ แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าคือตัวตัดสิน และอาจยิ่งกว่าพลิกความคาดหมายก็เป็นได้ บางพรรค“แลนด์สไลด์” อาจเกิดขึ้นจริง ใครจะรู้!?