‘กมธ.ทหาร’ ปะฉะดะ อำนาจ (ไม่) ล้นฟ้า
ต้องรอดูว่า "โฆษก กมธ.ทหาร" แค่พูดเอามันหวังโหนกระแสยูทูบเบอร์ชื่อดัง แต่หากจริงจัง หวังใช้อำนาจลงพื้นที่ตรวจสอบ “สนามกอล์ฟ-คอนโด- บ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์” เรื่องนี้ก็น่าจะมีตอนต่อไป
Key Points :
- กมธ.ทหาร ถูกตั้งคำถามถึงขอบเขต หน้าที่ หลังเปิดประเด็นขอลงพื้นที่ตรวจสอบ ที่พักทหารย่านเกียกกาย สนามกอล์ฟ และบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์
- บ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งในเขตพระราชฐาน และปัจจุบันจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เอง
- รองประธานสภา กางระเบียบ กรอบการทำงาน กมธ.ทหาร ชี้หากทำพลการ เสี่ยงละเมิดสิทธิบุคคล และทำผิดกฎหมายเสียเอง
ดูเหมือนยังไม่จบ สำหรับคอนเทนต์ “ทหารมีไว้ทำไม” ของยูทูบเบอร์ดัง “พลอย พลอยไพลิน” หรือ “Pigkaploy” ยูทูบเบอร์ ตอน “ลองใช้ชีวิตเป็นทหารชายแดนเหนือ 3 วัน 2 คืน l ไทย-เมียนมา” ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักและลามไปสู่ประเด็นการเมือง
“จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร ยกความเป็นอยู่ทหารชายแดน เปรียบเทียบกับ ทหารนายพลในเมืองกรุง
พร้อมขอ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ช่วยอนุญาตและอำนวยความสะดวกขอไปถ่ายทำ ส่องความเป็นอยู่ทหารชั้นนายพล คอนโด แถวเกียกกาย 18 ชั้น 1 ยูนิต กว้าง 94 ตารางเมตร 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องรับเเขก ที่จอดรถห้องละ 2 คัน ว่าใช้อยู่อาศัยกันจริง หรือเเอบปล่อยให้เช่าหรือไม่ หรือสนามกอล์ฟกานตรัตน์ (สนามงู) ใจกลางรันเวย์สนามบินดอนเมือง อยู่ในความดูแลกองทัพอากาศ
ตบท้ายจะขอเข้าไปดูบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ในฐานะองคมนตรี ซึ่งตั้งอยู่ในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ก่อนถูกแปรสภาพเปลี่ยนชื่อเป็น กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) ปัจจุบันเป็นเขตพระราชฐาน
โดยมี “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาฯ พรรคก้าวไกล ที่เพิ่งอาการดีขึ้น หลังจากลาพักรักษาตัวเนื่องจากมีอาการป่วยเรื้อรัง และมีอาการเครียดสะสมจากการทำงาน กระโดดลงมารับลูก พร้อมนำประเด็น “จิรัฏฐ์” เสนอเข้าหารือในวง กมธ.ทหาร อีกด้วย
ประเด็นแรก คอนโดทหาร เกียกกาย ชื่อเต็มคือ อาคารรับรองกองทัพบกเกียกกาย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ที่พักทหารชั้นนายพล ทหารระดับพันเอก และอีกส่วนเปิดให้ทหารต่างจังหวัด ที่มาติดต่อราชการ สามารถเช่าพักอาศัย โดยมีราคาสวัสดิการ ครอบคลุมไปถึงข้าราชการ บุคคลทั่วไป
มีห้องพักเตียงเดี่ยว ห้องพักเตียงคู่ ห้องพิเศษแบบเชื่อมต่อกัน ห้องพักแบบ VIP โดยราคาเริ่มต้น 600 บาท สูงสุดราคา 1,600 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทของห้อง ซึ่งสามารถเข้าชมได้ ในเว็ปไซต์อาคารรับรองกองทัพบกเกียกกาย
ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคารบ้านพักของข้าราชการ และลูกจ้างประจำในกองทัพบก
เช่นเดียวกับ บ้านพักหลวง พล.อ.ประยุทธ์ หลังศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิฉัยครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ผิดจริยธรรมร้ายแรง ไม่ได้เรียกรับประโยชน์ที่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ทำให้สถานะนายกฯ ต้องสิ้นสุดลง ตามคำร้องของ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น
โดยศาลรัฐธรรมนูญยกระเบียบกองทัพบก ให้สิทธิเข้าพักอาศัย อดีต ผบ.ทบ.และผู้ที่ทำคุณประโยชน์กับประเทศ ครอบคลุมถึงนายกรัฐมนตรี ส่วนการที่กองทัพบกสนับสนุนค่าไฟฟ้า และค่าประปา สามารถทำได้เช่นกัน
ทว่า เรื่องดังกล่าวไม่จบง่ายๆ หลัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในฐานะประธาน กมธ.ป.ป.ช. ขณะนั้นขอลงพื้นที่ไปตรวจสอบบ้านพักหลวง พล.อ.ประยุทธ์ หลังรับเรื่องจาก “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ” ให้ตรวจสอบความผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 128 ที่รับผลประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาทหรือไม่
โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ทำหนังสือไปยังกองทัพบก เพื่อขอเข้าพื้นที่ แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในเขตพระราชฐาน ต้องทำหนังสือขออนุญาตสำนักพระราชวัง ก่อนเรื่องดังกล่าวจะเงียบหายไป
“พล.อ.ประยุทธ์ จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ มาสักพักหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ยังไม่พ้นตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้เกิดความสบายใจกับทุกฝ่าย แม้จะมีสิทธิก็ตาม ทั้งนี้ ขอถามกลับไปยัง กมธ.ทหาร ใช้อำนาจอะไรมาขอดูบ้านองคมนตรี เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่นเดียวกับการเข้าไปสำรวจที่พักทหารชั้นนายพลเกียกกาย หากเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาต ไม่มีสิทธิเข้า” แหล่งข่าวกองทัพบก ระบุ
ขณะที่ สนามกอล์ฟกานตรัตน์ (สนามงู) ใจกลางรันเวย์สนามบินดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความดูแลกองทัพอากาศ เปิดให้ข้าราชการทหาร บุคคลทั่วไปใช้บริการไม่ต่างกับสนามกอล์ฟอื่นๆ โดยกองทัพอากาศยืนยันว่า หาก กมธ.ทหาร อยากเข้ามาเยี่ยมชม พร้อมต้อนรับตลอดเวลา แต่ขอนัดหมายล่วงหน้า เพื่อไม่ให้รบกวนแขกที่มาใช้บริการ
ทั้งนี้ หากย้อนไปดูบทบาทหน้าที่ “กรรมาธิการทหาร” เขียนไว้ในเว็ปไซต์รัฐสภา ระบุว่า “คณะกรรมาธิการทหาร มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกิจการทหารการป้องกัน การรักษาความมั่นคงและการพัฒนาประเทศ”
โดย “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานรัฐสภาคนที่ 2 ในฐานะกำกับดูแลงานสภา กล่าวถึงประเด็นนี้ ไว้อย่างน่าสนใจว่า การดำเนินการใดๆ ของคณะกรรมมาธิการ มีข้อบังคับ ขอบเขตการทำงาน คอยกำกับอยู่แล้ว หากทำอะไรโดยพลการ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลก็ผิดกฎหมาย เสี่ยงถูกฟ้องร้องได้เช่นกัน หากทำให้เสียชื่อเสียง
ตามระเบียบข้อบังคับ 1.ต้องมีคนร้องเรียน 2.พิจารณาแล้วต้องเป็นปัญหา 3. เจ้าของพื้นที่อนุญาตหรือไม่ "จะไปดูคอนโด ไปบ้านเขาหรือสถานที่อื่นๆ เขาอนุญาตหรือไม่ หากเขาไม่อนุญาตก็เข้าไปไม่ได้ ไม่ใช่ว่าคณะกรรมาธิการจะมีอำนาจล้นฟ้า ทุกอย่างต้องปฏิบัติตามกฎหมายไปทำสุ่มสี่สุ่มห้าเสี่ยงผิดกฎหมาย
ส่วนจะเรียกเป็นเอกสาร ก็ต้องทำหนังสือแจ้งว่า จะขอเข้าพบด้วยเรื่องอะไร ได้หรือไม่ หรือขอตรวจสอบ ถ้าเขาไม่อนุญาต ก็เข้าไม่ได้
ประเด็นสำคัญต้องมีผู้ร้องเรียนก่อน หรือมีมติจากคณะกรรมาธิการ แต่ถามว่าไปเพื่ออะไร ซึ่งมติของคณะกรรมาธิการก็ผิดได้เช่นกัน ก็ต้องระวัง
เรื่องที่พูดกันตอนนี้ เป็นประเด็นอยู่ในการพิจารณาสอบสวนอยู่หรือไม่ มีใครมาร้องเรียนหรือยัง และหน่วยงานหรือองค์กรผิดอะไร ถ้าหากไร้สาระ แล้วไปสร้างความเดือดร้อน ทำให้เสียชื่อเสียง คณะกรรมาธิการทหารจะโดนเสียเอง"
ดังนั้นต้องรอดูว่าโฆษก กมธ.ทหาร แค่พูดเอามัน สร้างคอนเทนต์โหนกระแสคลิป ทหารมีไว้ทำไม EP1 ของยูทูบเบอร์ชื่อดังหรือไม่ แต่หากจริงจัง หวังใช้อำนาจลงพื้นที่ตรวจสอบ “สนามกอล์ฟ-คอนโด- บ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์” เรื่องนี้ก็น่าจะมีตอนต่อไป