กว่าจะเป็น 'สุนัขทหาร' บัดดี้กองทัพ 'ยุทโธปกรณ์มีชีวิต'
"ยืนหยัดยง คงคู่นาย กายเคียงกัน เข้าประจัญ หาญประยุทธ์ สุดกำลัง " ข้อความเชิดชูเกียรติ บนอนุสาวรีย์สุนัขทหาร
ในภารกิจความมั่นคง สนับสนุนการรบ ลาดตระเวน สะกดรอย ค้นหาวัตถุระเบิด รักษาความปลอดภัย
Key Points
- ศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก ทำหน้าที่ผลิตสุนัขป้อนเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อใช้ในภารกิจด้านความมั่นคง
- ในทุกปีจะผลิตลูกสุนัขเข้ารับการฝึกจำนวน 2 เท่าของสุนัขที่มีอยู่
- สุนัขทหารได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติ ตั้งแต่เข้ารับราชการจนสิ้นอายุขัย ไม่ต่างจากคน
ในทุกๆ ปี การประมูลสุนัขทหารที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ของ ศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก ต. หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมาได้รับความสนใจจากคนรักสุนัขอย่างล้นหลาม
ไม่ต่างกับปีนี้ มีสุนัขทหารที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ถูกนำมาร่วมประมูล 54 ตัว แยกเป็น พันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ 6 ตัว พันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด 28 ตัว และพันธุ์เบลเยี่ยม มาลินอยส์ 20 ตัว โดยราคาประมูลเริ่มต้นต่ำสุดอยู่ที่ 1,500 บาท และสามารถประมูลเพิ่มได้ครั้งละ 100 บาท
โดยศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบกได้กำหนดให้ผู้ร่วมประมูลเป็นเจ้าของสุนัขได้คนละไม่เกิน 2 ตัว เท่านั้น
ในขณะที่การตั้งราคาประเมิน กำหนดไว้เพื่อคัดกรองบุคคลที่มีความพร้อมเท่านั้น ซึ่งการประมูลสุนัขทหารครั้งนี้ มีราคาต่ำสุดคือ 7,000 บาท และประมูลราคาสูงสุดที่ 95,000 บาท
กว่าจะมาถึงจุดนี้ ศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก ได้ทำหน้าที่ผลิตสุนัขป้อนเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อใช้ในภารกิจด้านความมั่นคง ทั้งสนับสนุนการรบ ด้วยการลาดตระเวน สะกดรอย ค้นหาวัตถุระเบิด และเพิ่มขีดความสามารถให้กับหน่วยทหารในการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งทางทหาร และคลังยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ให้การสนับสนุนหน่วยทหารในการค้นหายาเสพติด อาวุธปืน และวัตถุระเบิด และปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ตามที่กองทัพบกมอบหมาย
สำหรับที่มาของสุนัขทหาร มาจาก"โครงการสุนัขสงคราม" ริเริ่มขึ้นในช่วงปี 2515 สนองพระราโชบาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ) ที่ทรงพิจารณาเห็นว่า การปฏิบัติการทางทหารของหน่วยกำลังรบ ในการกวาดล้างกองกำลังผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ฝ่ายเรามักสูญเสียเนื่องจากสงครามทุ่นระเบิดกับระเบิด และถูกซุ่มโจมตีอยู่เสมอ จึงได้โปรดเกล้าฯให้ กรมการสัตว์ทหารบก ได้จัดทำโครงการสุนัขสงครามขึ้น
โดยพระราชทานสุนัขสงครามให้กับ กรมการสัตว์ทหารบก 15 ตัว ต่อมาได้พัฒนาเป็น "กองร้อยสุนัขทหาร" กระทั่งกองทัพบกได้ยกระดับขึ้นเป็น"กองพันสุนัขทหาร" ในปี 2538 โดยเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพบก และฝากการบังคับบัญชาไว้กับกรมการสัตว์ทหารบก
กองพันสุนัขทหาร จึงเป็นกลไกหลักของกองทัพบก ในด้านการใช้สุนัขทหาร เพื่อสนับสนุนหน่วยกำลังรบ และสนับสนุนภารกิจ อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหน่วยที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่น
ปัจจุบันในศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก มีสุนัขอยู่ในความดูแลกว่า 700 ตัว ในแต่ละปีจะผลิตลูกสุนัขเข้ารับการฝึกจำนวน 2 เท่าของจำนวนสุนัข เช่น 1 ปี มี 2 หลักสูตร หลักสูตรละ 70 ตัว รวม 140 ตัว จะมีลูกสุนัขเข้าโรงเรียนฝึก 280 ตัว
โดยการฝึกจะเริ่มตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัขอายุ 2-3 เดือน จนถึง 1 ปี 5 เดือน
ช่วงเริ่มต้นหน่วยจะเน้นการฝึกแบบส่งเสริมแรงขับ โดยวิธีการเล่นเกม ยังไม่ใช้สายจูง แต่ให้รางวัลเป็นแรงจูงใจ ไม่บังคับ เมื่อลูกสุนัขโตขึ้นมาอีกระยะหนึ่ง จะฝึกรูปแบบ ฝึกท่าทาง การฟังคำสั่ง
ควบคู่ไปกับการฝึกผู้บังคับทหาร ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะ"บัดดี้" จึงทำให้สุนัขทหารเปรียบเหมือน “ยุทโธปกรณ์มีชีวิต” ดังนั้น คนบังคับสุนัขต้องมีใจรักและอดทน รู้ความต้องการของสุนัข
โดย“สุนัขทหาร”ปฏิบัติหน้าที่คล้ายกับคน มีเวลาทำงาน เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็เข้าพัก ไม่ให้ใช้งานหนักเกินไป พร้อมมีสัตวแพทย์คอยตรวจสุขภาพ ประเมินขีดความสามารถตลอดเวลา หากขีดความสามารถลดลง ก็จะต้องมีการฝึกทบทวนเพิ่มเติม
ส่วนอายุการใช้งานอยู่ที่ 8 ปี ก่อนปลดประจำการ และนำกลับมาดูแลเลี้ยงดูจนสิ้นอายุขัย แต่หากสุนัขตัวใดที่มีสภาพร่างกายเสื่อมก่อน 8 ปีก็จะถูกปลดประจำการเช่นกัน และนำมาดูแลจนสิ้นอายุขัยเช่นกัน
ส่วนการคัดเลือกสุนัขทหารนำไปใช้งาน ดูตามภารกิจ และประเภทของงาน เช่น พันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ เป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ มีรูปร่าง โครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ส่วนหัวใหญ่ มีดวงตาที่ดูอ่อนโยน เฉลียวฉลาด มีลักษณะเด่นจมูกดมกลิ่น ใช้ในภารกิจค้นหายาเสพติด วัตถุระเบิด
พันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด และพันธุ์เบลเยี่ยม มาลินอยส์ มีความโดดเด่นด้านพละกำลัง ความคล่องแคล่วว่องไว ใช้ในภารกิจเป็นสุนัขยาม หรือรักษาความปลอดภัยในงานด้านยุทธวิธี เป็นต้น
กองทัพให้ความสำคัญ ยกย่องและเชิดชูเกียรติสุนัขทหารไม่ต่างกับคน เนื่องจากมีส่วนร่วมในภารกิจของกองทัพ การช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ โดยจะมี“อนุสาวรีย์สุนัขทหาร” ที่ถูกก่อสร้างที่กองบังคับการกองพันสุนัขทหาร พร้อมข้อความ
"ยืนหยัดยง คงคู่นาย กายเคียงกัน เข้าประจัญ หาญประยุทธ์ สุดกำลัง"
นอกจากนี้ยังมี อนุสาวรีย์ยูเบิร์ก ที่หน่วยสร้างขึ้นเพื่อให้เกียรติสุนัขทหารที่เสียสละชีวิตในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ โดยมี“สายจูง” เป็นสัญลักษณ์ความเชื่อมโยงผูกพันระหว่างคนกับสุนัข เช่นเดียวกับสุนัขที่สิ้นอายุขัย เพื่อรำลึกถึงสุนัขทหารตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
สำหรับสุนัขที่ไม่ผ่านเกณฑ์ เช่น อ้วน เชื่องช้า เฉยชา มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี เข้ากับคนได้ง่าย ขี้เล่น ซึ่งเหมาะเป็นเพื่อนกับคน เป็นสัตว์เลี้ยง ก็จะถูกนำมาประมูล เพื่อหาบ้านให้สุนัขเหล่านี้ เพื่อลดภาระ ศูนย์ฝึก และนำรายได้เข้าสู่คลังจังหวัด
ถือเป็นผลพลอยได้จากการปฎิบัติราชการ และจะขอนำมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากิจการสุนัขในอนาคตต่อไป