‘สมศักดิ์’ นำถก งบฯ บูรณาการแก้ไฟใต้ ปี68 กว่า 8 พันล้าน ย้ำ ต้องใช้จ่ายคุ้มค่า
“สมศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะถก คกก.จัดทำงบฯปี68 ภายใต้แผนบูรณาการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ย้ำ ต้องช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตปชช. ใช้กฎหมายพิเศษให้เป็นธรรม ลดพื้นที่ฉุกเฉิน กำชับใช้เงินกว่า 8 พันล้านให้คุ้มค่า ต้องมีตัวชี้วัด
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปี 2568 ภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีหลายหน่วยงานเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก อาทิ นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการฯ ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอภิชาต รัตนราศรี รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นต้น
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอบคุณข้าราชการทุกท่านที่ได้เสียสละเวลามาร่วมประชุมในวันนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการจัดทำงบประมาณนั้น ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล การพิจารณางบประมาณเป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องจบในที่ประชุมแห่งนี้ก่อนต้องส่งต่อไปเพื่อพิจารณา
"ผมขอยืนยันว่า รัฐบาลที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ยังย้ำกับตนว่าต้องให้ความสำคัญ และยังคงมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องขอยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องการศึกษา ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ การใช้กฎหมายพิเศษให้เป็นธรรม รวมถึงการลดการประกาศพื้นที่ฉุกเฉิน เสริมสร้างการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับแผนประเทศเพื่อนบ้าน และการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม" นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การได้รับงบประมาณต้องใช้อย่างคุ้มค่า ทุกหน่วยงานที่เสนอมามีมูลค่างบประมาณรวม ถึง 8,417 ล้านบาทเศษ โดยเงินส่วนนี้มีถึง 51 หน่วยงาน เสนอขอมาเพื่อขอใช้งบประมาณ ถือเป็นวงเงินที่ค่อนข้างสูง แต่การทำงานที่ลงทุนไปเราต้องมีตัวชี้วัดให้ได้ ว่าเงินที่เราใช้ไปเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากเท่าไหร่ เราช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนดีขึ้นได้กี่ครัวเรือน เราต้องนำส่วนนี้มาชี้แจงต่อสังคมให้ได้ เพื่อจะได้เห็นว่างบประมาณนั้นที่ใช้ไปมีความคุ้มค่าเพียงใด
"สมมุติว่าเราใช้เงิน 3,000 ล้านบาทต่อปีในเรื่องของการพัฒนา แล้วเราช่วยประชาชนได้เพียง 10,000 ครัวเรือน ก็ตีเป็นว่าครอบครัวละ 3 แสนบาทนั้นคุ้มค่าหรือไม่ การวิจัย การคิดคำนวณ การวางแผน เป็นเรื่องสำคัญ ต้องคุ้มค่าในการลงทุนและประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด ก็ฝากทุกท่านไปช่วยกันทำการบ้านให้กับพี่น้องประชาชน งบประมาณที่กระจายลงพื้นที่ สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องตอบให้ได้ว่าการแก้ปัญหาความยากจนนั้นดีขึ้นกับประชาชนจำนวนเท่าใด ดังนั้นหน่วยงานที่รับงบประมาณไปก็ควรจะมีตัวเลขสถิติชื่อประชาชน ที่ลงไปช่วย และตัวชี้วัดว่าสำเร็จจริงหรือไม่ ข้อมูลต้องชัดเจน และขอย้ำเลยว่าต้องตอบสังคมให้ได้" นายสมศักดิ์ กล่าว