กางแนวคำวินิจฉัยศาล รธน.คดีล้มการปกครอง ลุ้น 31 ม.ค.ชี้ชะตา ‘พิธา-ก้าวไกล’
กางแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครอง ยุบ ทษช.-ห้ามม็อบ 3 นิ้วเคลื่อนไหว ลุ้น 31 ม.ค.วันชี้ชะตา ‘พิธา-ก้าวไกล’ พ่าย หรือพ้นบ่วง ปมหาเสียงแก้ไข ม.112
KeyPoints
- 31 ม.ค.ชี้ชะตา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-พรรคก้าวไกล” คดีล้มล้างการปกครอง จากนโยบายหาเสียงแก้ไขมาตรา 112
- เป็นคดีสุดท้ายในศาลรัฐธรรมนูญว่า “พลพรรคสีส้ม” จะรอดพ้นบ่วง แล้วเดินหน้าตาม “โรดแมป 67” ได้หรือไม่
- หากผลลัพธ์ออกเชิงบวก ทุกพรรคมีเสรีภาพในการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ได้ โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกต่อไป
- ถ้าผลลัพธ์ออกเชิงลบ “ก้าวไกล” ส่อถูกร้อง “ยุบพรรค” อิงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดียุบ ทษช.-ม็อบ 3 นิ้ว
- “พิธา” อาจโดนร้อง ป.ป.ช.สอบผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ซ้ำรอย “ช่อ พรรณิการ์” โดนประหารชีวิตทางการเมือง
31 ม.ค.นี้ เป็นอีกวันที่ต้องบันทึกไว้บนประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ “พรรคก้าวไกล” คดีถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง จากนโยบายหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ที่น่าสนใจ บรรดา “บิ๊กเนมสีส้ม” ยืนยันว่า นโยบายแก้ไขมาตรา 112 มิใช่การ “ล้มล้าง” มิใช่การ “ยกเลิก” กฎหมายทุกฉบับต้องแก้ไขได้ มิใช่นำไปสู่รูปแบบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมชูม็อตโต้ “ปฏิรูป ต้องไม่เท่ากับ ล้มล้าง”
อย่างไรก็ดีในแง่มุมข้อเท็จจริง “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ในฐานะผู้ร้อง ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งแค่ “ยุติการกระทำ” มิได้ร้องขอให้ถึงขั้น “ยุบพรรค” ดังนั้นฝ่าย “ก้าวไกล” น่าจะพอหายใจหายคอได้บ้าง มิว่าผลจะออกมาในเชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม
ทั้งนี้ “บิ๊กเนมก้าวไกล” แม้ว่าจะยืนกรานผ่านสื่อว่าการแก้ไขมาตรา 112 ไม่เข้าข่ายถึงขั้นถูกยุบพรรค แต่มีการประเมิน และวิเคราะห์ฉากทัศน์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผลลัพธ์เชิงบวก หรือเชิงลบทั้งหมดเอาไว้ โดยเฉพาะฉากทัศน์ “ก้าวไกล” หากถูกยุบพรรคนั้นมีแผนเตรียมการรองรับเอาไว้อยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างชั่วคราว ที่มิได้ผลักดันบรรดาแกนนำระดับ “หัวแถว” เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือแม้แต่การดัน “ชัยธวัช ตุลาธน” ขึ้นมาเป็นแม่ทัพชั่วคราว ก่อนจะปรับโครงสร้างใหญ่อีกครั้งในเดือน เม.ย. 2567 ซึ่งเกิดขึ้นหลังพ้นบ่วงคดีนี้
ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีนี้ ต้องเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยคดี “ล้มล้างการปกครอง” 2 คดีในศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้า ได้แก่
1.คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กรณีเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้เห็นว่า เป็นการ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” สถาบันฯ โดยอ้างถึง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติในเรื่อง "เจตนา" เพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว หาต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือรอให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงขึ้นเสียก่อนไม่ เพื่อให้เป็นมาตรการป้องกันการเสียหายแก่สถาบันหลักของประเทศ เป็นนโยบาย "ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้กองไฟเล็ก โหมไหม้ จนเป็นมหันตภัยที่มิอาจต้านทานได้ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรค ทษช.
2.คดีม็อบราษฎร ถูกร้องเรียนกรณีเคลื่อนไหวทางการเมือง และเปิดเวทีปราศรัยขอให้มีการ ยกเลิกมาตรา 112 โดยศาลรํฐธรรมนูญชี้ให้เห็นว่า การกระทำดังกล่าว “มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่การปฏิรูป … เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครอง” เป็นการเซาะกร่อนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการใช้สิทธิเสรีภาพที่ไม่ถูกต้อง จึงสั่งการให้ม็อบราษฎร รวมถึงองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง
ดังนั้นคาดว่า 31 ม.ค.นี้ศาลจะวินิจฉัยใน 2 ประเด็น
1.ศาลจะวินิจฉัยว่าให้ยุติการกระทำ ในการนำเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ไปเป็นนโยบายหาเสียงหรือไม่
2.การนำนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ไปหาเสียงดังกล่าว เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่
หากผลเป็นเชิงบวก แน่นอนว่าทุกพรรคสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
แต่หากผลจากคำวินิจฉัยเป็นเชิงลบ ถึงแม้ว่า “ก้าวไกล” ยังไม่ถึงขั้น “ยุบพรรค” แต่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะหลังจากนี้พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคใด มิอาจทำเรื่อง แก้ไขมาตรา 112 ได้อีก แน่ว่าจะส่งผลต่อฐานเสียง “ด้อมส้ม” บางส่วนที่เลือก “ก้าวไกล” มา เพื่อทำนโยบายนี้โดยเฉพาะ
นอกจากนี้ “ก้าวไกล” ยังต้องเผชิญผลที่ตามมาอีกนั่นคือ อาจถูกร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้วินิจฉัยว่า การกระทำของพรรค เข้าข่ายถูกยุบพรรค เนื่องจากล้มล้างการปกครอง ซ้ำรอยกับ ทษช. หรือไม่
ขณะที่ “พิธา” อาจถูกร้องเรียนกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนว่า เข้าข่ายผิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และอาจโดนลงดาบซ้ำรอย “ช่อ พรรณิการ์ วานิช” อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกศาลฎีกาประหารชีวิตทางการเมืองไปแล้วก่อนหน้านี้ จากกรณีรูปภาพที่ส่อหมิ่นเหม่สถาบันฯซึ่งลงในโซเชียลมีเดียตั้งแต่ 10 ปีก่อน
ดังนั้น 31 ม.ค.เป็นอีกวันที่ชี้ชะตาอนาคตของ “ก้าวไกล” ว่าจะเดินหน้า “โรดแมป 67” อย่างที่แถลงเอาไว้ได้หรือไม่ และทิศทางลมของการเมืองไทยจะพัดไปในทิศทางไหน ต้องติดตาม