ศาลสั่งจำคุก 'มายด์ ภัสราวลี' 2 ปี คดี ม.112 ปราศรัยหมิ่นสถาบัน
ศาลสั่งจำคุก "มายด์ ภัสราวลี" 2 ปี คดี ม.112 ชี้ ข้อความปราศรัยเป็นการหมิ่นสถาบันฯ ให้รอลงอาญา 3 ปี ปรับตัวเป็นคนดี ส่วนคดีฝ่าฝืนพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ยกฟ้อง
31 มกราคม 2567 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดฟังคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ยื่นฟ้อง น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “มายด์” นักกิจกรรม ในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยใน “#ม็อบ24มีนา64 เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร” จัดขึ้นโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณสี่แยกราชประสงค์
ภายหลังอ่านคำพิพากษา น.ส.ภัสราวลี หรือ มายด์ ธนกิจวิบูลย์ผล เปิดเผยว่า วันนี้ศาลอ่านคำพิพากษา ในความผิด 2 ข้อหาคือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องตนข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ตนเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม
ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศาลมีคำพิพากษาว่า ตนกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยคำปราศรัยเป็นการหมิ่นสถาบันฯ ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ และมีสถานะเป็นนักศึกษาลดโทษ1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี และให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี เพื่อให้ปรับตัวเป็นคนดี
ทั้งนี้ เวลา 08.40 น. น.ส.ภัสราวลี เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก่อนเข้าฟังคำพิพากษา ว่า วันนี้(31 ม.ค.) ตนค่อนข้างมั่นใจว่า ต้องได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม หรืออย่างน้อยที่สุด สิทธิ์ในการประกันตัวต้องเกิดขึ้น เพราะว่าคดียังไม่ถึงที่สุด ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของพวกเรา ที่จะต้องได้รับการประกันตัวไปสู้คดีอย่างเต็มที่
อยากฝากถึงเรื่องนิรโทษกรรม ที่รัฐบาลต้องริเริ่มพูดคุยอย่างจริงจังได้เเล้ว รวมถึงสิ่งที่ประชาชนกำลังล่ารายชื่อ เพื่อให้รัฐบาลผ่านให้ เพื่อคลายความขัดเเย้งทางการเมือง เพราะไม่ควรมีใครต้องโดนคดีเเบบ "มายด์" เเละคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดในสังคมประชาธิปไตย
สำหรับตนนั้น มีคดี ม.112 อยู่ 3 คดี สำหรับในคดีนี้เป็น การชุมนุมกรณีร่วมชุมนุมและปราศรัยใน “ม็อบ24มีนา64 เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร” จัดขึ้นโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งตนมั่นใจว่าการปราศรัยของตน พูดด้วยความสุภาพนอบน้อม พูดด้วยความหวังดีทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทแต่อย่างใด สิ่งที่พูดในวันนั้น ถือว่าเป็นความจำเป็นที่จะพูดถึงสถาบันฯกับการเมืองไทย ที่เกิดข้อถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน ถ้าหากไม่พูด เราก็จะยิ่งซุกปัญหาไว้ใต้พรม และไม่ได้แก้ไข ตนจึงมั่นใจว่า สิ่งที่ตนพูดไปเป็นประโยชน์ต่อทุกสถาบันการเมือง
โดยในคำพิพากษาศาลระบุว่า คำปราศรัยของตนไม่ได้พูดถึงข้อกฎหมายในตอนที่ปราศรัย อาจจะทำให้คนที่รับฟังเข้าใจผิดต่อสถาบันฯได้ แต่ตนยืนยันว่าข้อเท็จจริงที่ตนอ้างอิงใช้ประกอบในการปราศรัย เป็นข้อเท็จจริงที่เห็นในที่สาธารณะอยู่แล้ว โดยตนยืนยันว่าจะต่อสู้คดีนี้ต่อ เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานว่า ประชาชนอย่างเราจะสามารถพูดถึงทุกสถาบันการเมือง ที่อยู่ภายใต้แล้วรัฐธรรมนูญได้
“ทั้งนี้ในวันที่ 1 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ตนขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายร่าง “พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน” เพื่อให้เกิดการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมานาน รวมถึงจะได้คืนความเป็นธรรมให้อำนาจกับประชาชน เพราะประชาชนอย่างพวกเรามีสิทธิ์อย่างเต็มที่ ในการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์การเมือง
คดีทางการเมืองไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย หากรัฐบาลชุดไหนๆเข้าใจถึงหลักสิทธิเสรีภาพ ซึ่งตนคาดหวังมากว่า รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ที่มาจากการเลือกตั้ง จะเห็นความสำคัญของการริเริ่ม เรื่องนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อคงความสง่างามที่จะเข้าไปใน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” น.ส.ภัสราวลี กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับบรรยากาศในวันนี้ (31 ม.ค.) มีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจและมอบดอกกุหลาบให้กับ น.ส.ภัสสราวลี ก่อนขึ้นไปฟังคำพิพากษาด้วย