'พิธา' ลั่นนิรโทษกรรม ไม่น่ากลัว ต้องไม่ผูกขาดแค่'รัฐประหาร-ล้มล้างการปกครอง '
"พิธา" อภิปรายญัตติตั้งกมธ.ศึกษากฎหมายนิรโทษกรรม ลั่นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ต้องไม่ผูกขาดแค่"รัฐประหาร-ล้มล้างการปกครอง " จี้ล้างผิด80,000กว่าคดียุคคณะรัฐประหาร
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทน ราษฎร ทำหน้าที่การประชุม เพื่อพิจารณาญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เสนอโดยน.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
หลังผู้เสนอญัตติมีการเสนอเสร็จสิ้นเรียบร้อยได้เปิดให้สมาชิกอภิปราย เริ่มที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเสมอไป ถ้ามีเป้าหมายชัดเจน เราเคยนิรโทษกรรมมาแล้ว 22ครั้ง ถ้าจะนิรโทษกรรมเพื่อลดความขัดแย้ง ก็คิดว่า ไม่น่ากลัว หรือเป็นภาพลบ
"ผมคิดว่า โอกาสในการรับนิรโทษกรรม ไม่ควรผูกขาดกับคณะรัฐประหาร หรือคนที่คิดที่จะล้มล้างการปกครอง เพียงอย่างเดียว ไม่ควรที่จะผูกขาดกับคนที่จะบ่อนเซาะต้องการที่จะทำลายระบบประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว" นายพิธา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธา จะหยิบเอกสารจากสภาฯ ขึ้นมาอ้างอิง พร้อมระบุ ตั้งแต่ปี 2475 - 2557 ไม่ว่าจะครั้งไหน มีเพียงแค่ 2521 ครั้งเดียว ที่เป็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ นอกจากนั้น มีแต่นิรโทษกรรมผู้กระทำการปฏิวัติ ยึดอำนาจปกครองประเทศ ความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรในฐานะ กบฏ นี่คือสิ่งที่ไม่ควรอนุญาตให้การผูกขาดการนิรโทษกรรม อยู่กับการรัฐประหาร เพียงอย่างเดียว
นายพิธายังกล่าวว่า เราต้องยอมรับอยู่ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่สร้างบาดแผลร้าวลึกในสังคม เป็น10กว่าปีที่สูญหาย ตั้งแต่ปี2549 -2567 มีนายกฯ 7คน รัฐประหาร 2ครั้ง มีม็อบต้านรัฐบาล 9ระลอก คนตายเป็นร้อย บาดเจ็บเป็นพัน เศรษฐกิจเสียหายเป็นแสนล้านบาท
การนิรโทษกรรมครั้งนี้ ไม่ควรคิดถึงคนทำรัฐประหาร แต่ควรคิดถึงเหยื่อของคนที่ทำรัฐประหาร คนได้รับผลกระทบจากนโยนบายและรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจรัฐประหาร ไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่มีผู้ที่ต้องติดคุก
นายพิธา ยังกล่าวว่า นโยบายในช่วงรัฐประหาร 80,000กว่าคดี คดีประมงไอยูยูอีก 3หมื่นกว่าคดี และคดีการฟ้องร้องปิดปากประชาชนอีกไม่รู้เท่าไร กระบวนการที่จะทำต้องไม่ใช่แค่ยุติคดีอาญา แต่จะต้องมีการเยียวยา การรับผิดชอบต่อสาธารณะ ไม่ให้เกิดการวัฒนธรรมลอยนวลของคนสั่งฆ่า จึงจะเป็นการนิรโทษกรรมที่รอบคอบ บรรลุเป้าหมาย