คอบร้าโกลด์ 2024 'ไทย-สหรัฐฯ' เปิดไฮไลต์ กู้เรือหลวงสุโขทัย
"ไทย-สหรัฐฯ" แถลงฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 พร้อมเตรียมเปิดปฏิบัติการกู้เรือสุโขทัยแบบจำกัด
ทูตสหรัฐฯ หวังภารกิจนี้ได้บทสรุปสำหรับครอบครัวทหารเรือ และนาวิกโยธินผู้กล้าหาญที่สูญหาย
2 ก.พ.2567 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และนายโรเบิร์ต เอฟ โกเดค (Robert F.Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วมฝ่ายสหรัฐฯ พร้อมด้วยพล.ร.อ.ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผู้แทนจากกองทัพเรือ แถลงข่าวการฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 โดยในปีนี้มีภารกิจสำคัญ คือการเปิดปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด ระหว่างกองทัพสหรัฐ กับกองทัพเรือไทย
นายโรเบิร์ต เอฟ โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ระบุว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ จะมีส่วนสนับสนุนความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางทหารระหว่างไทยและสหรัฐฯ หลายด้าน นำไปใช้กับภารกิจจริง อย่างเช่น ภารกิจของกองทัพอากาศไทยในการอพยพคนไทยจากซูดานเมื่อเดือนเมษายนปี 2566 และในปีนี้กองทัพเรือสหรัฐฯ จะร่วมกับกองทัพเรือไทยปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด โดยจะดำเนินการภายใต้การฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภารกิจนี้จะนำมาซึ่งกำลังใจ และข้อสรุปให้แก่ครอบครัวของทหารเรือ และนาวิกโยธินผู้กล้าหาญทั้งหมดที่สูญหายไป โดยมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ร่วมกันอย่างปลอดภัย และละเอียดถี่ถ้วน
ขณะที่พล.ร.อ.ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ย้ำว่า การกู้เรือสุโขทัยแบบจำกัดตามที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ระบุนั้น คือการกู้เรือแบบ Light Savage ซึ่งคำว่า Light savage ที่สหรัฐฯ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วย มี 4 เรื่อง ได้แก่ การค้นหาผู้สูญหาย 5 คน การลงไปสำรวจหลักฐานใต้น้ำเพื่อน้ำมาประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริง การทำให้ยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ หมดความสามารถที่จะใช้งานต่อไป และกองทัพเรือจะนำอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์บางอย่างขึ้นมา
พร้อมกันนี้ยังระบุว่า สาเหตุที่ไม่ให้สหรัฐฯเข้ามาช่วยเหลือในการกู้เรือหลวงสุโขทัยตั้งแต่แรก เนื่องจากกองทัพเรือได้ของบประมาณในการกู้เรือจากรัฐบาลไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 และกองทัพเรือมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการกู้เรือขึ้นมาได้ทั้งลำ ซึ่งแนวทางที่จะดำเนินการในขณะนั้น ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ยังระบุว่า ก่อนหน้านี้กองทัพเรือ ได้เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ ที่มีคุณสมบัติในการกู้เรือเข้ามาเสนอราคาโดยเปิดโอสกาส 2 ครั้งด้วยกัน แต่ยังไม่มีบริษัทใดผ่านการพิจารณาของกองทัพเรือ ทำให้กองทัพเรือมองว่าการจ้างบริษัทมากู้เรือเป็นเรื่องยาก ประกอบกับงบประมาณประจำปี 2566 มีกรอบระยะเวลาในการใช้และระยะเวลาในการเบิกจ่าย ซึ่งต้องดำเนินการก่อนเดือนกันยายน 2567
โดยสหรัฐฯได้ยื่นข้อเสนอมาพอดี และสิ่งที่กองทัพเรือได้พูดคุยกับสหรัฐฯ สอดคล้องกัน ถือเป็นสิ่งที่บรรลุวัตถุประสงค์ของเรา และเชื่อมั่นว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีบริษัทจากประเทศจีน ได้รับเลือกเข้ามากู้เรือสุโขทัยก่อนหน้านี้ ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่มีบริษัทใดได้รับการคัดเลือก
สำหรับปฏิบัติการกู้เรือสุโขทัยแบบจำกัดในช่วงการฝึกคอบร้าโกลด์ จะอยู่ระหว่างวันที่ 19 ก.พ.- 4 มี.ค. 2567 โดยกำลังพลที่เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ ในส่วนของกองทัพเรือประกอบด้วย เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด 2 ลำ เรือตรวจการณ์ 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง 18 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ EOD จำนวน 40 นาย ในขณะที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งเรือ Ocean valor พร้อมเจ้าหน้าที่ EOD 20 นายมา สนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้
สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ นับเป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารขนาดใหญ่ และมีประวัติยาวนานที่สุดการฝึกหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี