เดิมพัน ‘เกาะกูด’ แบ่งขุมทรัพย์ ‘ไทย-กัมพูชา’
การเจรจา ผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ตาม เอ็มโอยู 2544 ระบุว่า การแบ่งเขตสำหรับทะเล อาณาเขตไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะและพื้นที่จะเป็นเขตพัฒนาร่วม แยกจากกันมิได้เด็ดขาด
Key Points:
- "เศรษฐา-ฮุนมาเนต" เตรียมผลักดันการเจรจาผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา 7 ก.พ. แต่ขณะเดียวกันรัฐบาล ยังไม่แต่งตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย
- กระทรวงกลาโหม เสนอความเห็นต่อ "นายกฯ" การเจรจาควรยึดกรอบเอ็มโอยู 2544
- "กองทัพ" รับไม่ได้กัมพูชาขีดเส้นอาณาเขตทางบก และทางทะเล โดยอ้างสิทธิ์ "เกาะกูด"
ต้องจับตาว่านโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” เรื่องการเจรจาผลประโยชน์ "พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา" จะให้น้ำหนักในเรื่องใด ระหว่างการพัฒนาร่วม และการแบ่งเขตทางทะเล หลังนายกฯกัมพูชา "ฮุน มาเนต" มีกำหนดการเดินทางมาเยือนไทย 7 ก.พ.นี้
แน่นอนว่า นายกฯ 2 ประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า จะหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยอีกครั้ง เพื่อนำทรัพยากรปิโตรเลียม โดยเฉพาะแก๊สธรรมชาติใน พื้นที่ทับซ้อน กว่า 26,000 ตร.กม. ขึ้นมาใช้ประโยชน์ เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันทางด้านพลังงานของ 2 ประเทศ ในภาวะที่ทั่วโลกเกิดการสู้รบ
ทว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะเห็นได้ว่า การเจรจายืดเยื้อมานานรวม 22 ปี นับตั้งแต่ ไทย-กัมพูชา ลงนามเอ็มโอยู 2544 โดยประเทศไทยผ่านนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 7 คน แต่ยังไร้ความคืบหน้าใดๆ
โดยรัฐบาลก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย และได้จัดทำกรอบการเจรจากับกัมพูชา แต่ไม่ได้เจาะจงเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่เน้นย้ำให้ยึดการเจรจาตามเอ็มโอยู 2544 เพื่อรักษาสิทธิของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ
โดยมีการตั้งคณะทำงาน 2 ชุดคือ คณะทำงานว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้า และคณะทำงานว่าด้วยระบอบการพัฒนาร่วม มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้า
ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคฝ่ายไทย ว่าจะมอบหมายให้ใครทำหน้าที่ในการนำเจรจาแทน พล.อ.ประวิตร หรือจะมีการเปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ และแนวทางการเจรจา ก็ยังไร้ความชัดเจน
ล่าสุด รัฐบาลได้สอบถามไปยัง กระทรวงกลาโหม ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านความมั่นคง ถึงความพร้อมในการรองรับการยกระดับการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้งฝั่ง จ.สระแก้ว โดยเฉพาะ จ.ศรีสะเกษ จะเปิดด่านถาวรหลายจุด รวมถึงผลักดันให้มีการเปิดชายแดนเขาพระวิหารอีกครั้ง หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
“กระทรวงกลาโหม” ยืนยันว่า มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน สนับสนุนนโยบายเรื่องการพัฒนาการค้าชายแดน และเห็นด้วยกับรัฐบาล ผลักดันให้มีการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพราะปัจจุบันไทยเหลือแหล่งก๊าซธรรมชาติจำกัด และลดน้อยอย่างมีนัยสำคัญ
อีกทั้ง ปัจจุบัน ไทย-กัมพูชา มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในทุกระดับชั้น ตั้งแต่นายกฯ รัฐบาล รมว.กลาโหม ผบ.เหล่าทัพ กองทัพ ทหารตามแนวชายแดน รวมถึงประชาชนของสองประเทศ ถือเป็นโอกาสและจังหวะเหมาะสมที่จะพูดคุย
แต่กระนั้น “กระทรวงกลาโหม”ได้ย้ำถึงจุดยืนการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ควรดำเนินการภายใต้กรอบเอ็มโอยู 2544 ที่มีสาระสำคัญว่า
“ให้ทำการแบ่งเขตสำหรับทะเล อาณาเขตไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะและพื้นที่ จะเป็นเขตพัฒนาร่วม ไปพร้อมกัน สองเรื่องนี้จะแยกจากกันมิได้เป็นอันขาด” แหล่งข่าวหน่วยงานความมั่นคง ระบุและว่า
กองทัพรับไม่ได้เด็ดขาดที่กัมพูชาขีดเส้นอาณาเขตทางบก และทางทะเล โดยยึดหลักเขตที่ 73 บ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ได้ลากเส้นไปยังละติจูด 101 ลิปดา 20 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 11 ลิปดา 32 ลิปดาตะวันออก และลากยาวผ่านไปยังภูเขาที่สูงที่สุดของ อ.เกาะกูด และยังลากไปยังเส้นลองจิจูด 101 ลิปดา 13 ลิปดาเหนือ และละติจูด 10 ลิปดา 59 ลิปดาตะวันออก และลากไปชนกับเส้นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 120 ไมล์ทะเล ที่มากกว่า 150,000 ตารางกิโลเมตร
“และอ้างสิทธิว่า เกาะกูด เป็นของกัมพูชา เพราะฉะนั้นการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน ควรทำควบคู่กับการแบ่งเขตแดน และต้องดำเนินการให้เสร็จพร้อมๆ กัน จะแยกจากกันไม่ได้ เพราะหากให้น้ำหนักเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ โดยไม่พูดคุยเขตแดนให้จบ เมื่อขุดก๊าซธรรมชาติขึ้นมาหมดเมื่อไหร่ กัมพูชาจะเดินหน้าเต็มสูบ แบ่งเขตแดน ยึดเส้นอาญาเขตที่ตัวเองเขียนขึ้นมา โดยอ้างสิทธิเกาะกูด เพราะเรื่องเขตแดนไม่มีใครยอมใครแน่นอน แต่ที่ยังไม่ขยับเขยื้อนอะไรกัน เป็นเพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อน” แหล่งข่าวความมั่นคง ระบุ และเชื่อว่า
การพบกันระหว่าง นายกฯไทยและกัมพูชา ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เชื่อว่ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เรื่องการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนแน่นอน แต่หน่วยงานความมั่นคง มีความเป็นห่วงในหลายประเด็น เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องผลประโยชน์ อธิปไตย และความสัมพันธ์ของสองประเทศ การจะพูดอะไรออกไป แม้จะไม่มีผลผูกพันจนกว่าจะมีการลงนาม แต่จะทำให้อีกฝ่ายจับทางอีกฝ่ายได้ว่ากำลังคิดอะไร
ดังนั้น ดูเหมือนว่าการพบกันระหว่าง “เศรษฐา-ฮุน มาเนต” 7 ก.พ.นี้ น่าจะได้แนวทางพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน ส่วนการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา คงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่นอน