'อุนทิน' ไฟเขียวลูกพรรคภท. ชงสภาฯ ดัน 'ยกเลิกประกาศ-คำสั่งคสช.' พรุ่งนี้
"อุนทิน" ไฟเขียวลูกพรรคภูมิใจไทย ชงสภาฯ ดัน "ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ-คำสั่งคสช."- "สฤษฏ์พงษ์" เผย รายละเอียดพรุ่งนี้
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. ตนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย จะเดินทางไปยื่น ร่างพระราชบัญญัติ ยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คำสั่งคสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ... ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ สส.พรรคภูมิใจไทย ร่วมกันเข้าชื่อเสนอ ที่อาคารรัฐสภา
กฎหมายฉบับนี้มี หลักการให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช.) และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสิทธิชุมชนของประชาชน และกำหนดสถานะทางกฎหมายของคดีความของบุคคล พลเรือนที่เคยพิจารณาโดยศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
โดยมีเหตุผล คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติทำการยึดอำนาจล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยพร้อมทั้งประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และได้ออกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลายฉบับที่มีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน
โดยอ้างความจำเป็นเพื่อครอบคลุมสถานการณ์ และความสงบเรียบร้อยในระหว่างการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง โดยสิทธิเสรีภาพที่ถูกจำกัด ได้แก่ เสรีภาพในการชุมนุมหรือสมาคม เสรีภาพของสื่อมวลชนที่จะนำเสนอข่าวสารอย่างเป็นอิสระ สิทธิในร่างกาย และเสรีภาพในการเดินทางที่ถูกจำกัด ด้วยการเรียกไปรายงานตัว การกักตัว และให้ทำข้อตกลงที่จะงดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
รวมทั้ง สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิชุมนุมที่จะมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของรัฐ และสิทธิในการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นต้น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว และประเทศกำลังกลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่บรรดาประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้ตั้งแต่ช่วง เวลาของการยึดอำนาจก็ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่
ทั้งในเวลาต่อมาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกจำนวนมาก
ซึ่งบางฉบับมีเนื้อหาในทางจำกัดสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรับรองไว้ ประกาศและคำสั่งเหล่านี้จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปในทางที่ดี และสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
จึงสมควรที่จะยกเลิกประกาศ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้ง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสิทธิชุมชนของประชาชน และให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรอง และถูกจำกัดเพียงเท่าที่จำเป็นตามกฎหมายในสถานการณ์ปกติ
นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า จะมีการชี้แจงในรายละเอียดการจำแนกประเภท ของประกาศ คำสั่ง และวิธีการดำเนินการ ในวันจันทร์ 5 ก.พ. 2567 พร้อมกับการยื่นร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว