ภท.ยื่นร่างก.ม.รื้อ'คำสั่งคสช. ' ปรับเป็น 'พ.ร.บ.' หวังดูดีในสายตาต่างชาติ
ภูมิใจไทย ยื่นร่างกฎหมายรื้อคำสั่ง “คสช. “ ลั่น ไม่ได้ตำหนิ แต่ขอเปลี่ยนชื่อเป็น “พ.ร.บ.” หวังดูดีในสายตาต่างชาติ
ที่รัฐสภา นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส. กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ยื่น ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. … ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับยื่นร่าง
โดยนายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เข้าสู่ระบบรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. และทางพรรคได้ติดตามเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ สืบเนื่องจากนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้มอบหมายให้นายศุภชัย ใจสมุทร และทีมกฎหมายของพรรคภูมิใจไทยศึกษาว่าประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่ผ่านมามีปัญหาต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและได้รับการร้องเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนจากหลายองค์กร
จึงเป็นที่มาในวันนี้ โดยการศึกษาคำประกาศและคำสั่งของ คสช.ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 240 เรื่อง โดยมีออกเป็นกฎหมาย 71 ฉบับ ซึ่งคำสั่งของคณะปฏิวัติเทียบเท่ากับพ.ร.บ.ก็จะต้องทำเป็นพ.ร.บ. ในการยกเลิกเช่นกัน จึงมีการศึกษาว่าเนื้อหามีสาระสำคัญที่ยังใช้บังคับได้มีด้วยกัน 37 เรื่อง จะสามารถนำมาใช้โดยเปลี่ยนเป็นคำสั่งหรือประกาศให้เป็นพ.ร.บ. ส่วนประกาศหรืออย่างอื่นที่ต่ำกว่าพ.ร.บ. สามารถยกเลิกได้โดยการทำเป็นพระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวงอย่างละ 2 ฉบับ ส่วนสิ่งที่ต่ำกว่า พ.ร.บ. ที่เทียบเท่ามติครม. มีทั้งหมด 55 เรื่อง
นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่พ.ร.บ.พ่วง คือการรวมประกาศในคำสั่งที่จะมาแก้ไขด้วยกันซึ่ง 240 ฉบับนั้น มีเรื่องที่ที่จะต้องแก้ไข 71 เรื่อง จึงได้นำเรื่องที่จะต้องแก้ไขมาใช้เป็นท้ายร่างประกาศ ส่วนก่อนหน้านี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 25 ที่ผ่านมาเคยมีการทบทวนคล้ายกับการสังคายนากฏหมาย และมีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560
“ประเทศไทยในวันนี้มีประกาศคณะปฏิวัติที่บังคับใช้อยู่ตั้งแต่ตอนต้นรวมกว่าพันฉบับ ซึ่งก่อนครบวาระสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 มีการพยายามทำกฏหมายโดยการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยสะดวก แต่ กมธ. ชุดนี้ดำเนินการไปเพียง 12 ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การพยายามเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้สนับสนุนในเรื่องของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และไม่ได้ตำหนิคำประกาศของคณะปฏิวัติแต่อย่างใด บางฉบับก็มีความจำเป็นในการปกครองประเทศ เพียงแค่เปลี่ยนชื่อจากคำประกาศคณะปฏิวัติมาให้เป็นกฎหมาย ชื่อพ.ร.บ.หรืออย่างอื่น จะดูดีในของชาวต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทย” นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าว