เบื้องหลังคำเตือนเงินดิจิทัล สัญญาณสุดท้าย ป.ป.ช.ถึง ‘รัฐบาล’
ที่น่าสนใจในมุมมองของคณะกรรมการศึกษาฯ และ ป.ป.ช.ชี้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จึงยังไม่จำเป็นต้อง “กู้เงิน” เพื่อจัดทำนโยบายนี้ จึงแสดงความ “ห่วงใย” ไปยังรัฐบาลว่า หากรัฐบาลใช้งบประมาณปกติ
KeyPoints
- โครงการแจกเงินดิจิทัลของ "รัฐบาลเศรษฐา" ยังคงถูกตั้งคำถามจากสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง
- เพราะนับตั้งแต่เข้าบริหารราชการแผ่นดินเมื่อเกือบ 6 เดือนก่อน จนถึงปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยน "งบประมาณ" รวมถึง "กลุ่มเป้าหมาย" หลายครั้ง ทำให้ยังไม่ได้เริ่ม "นับหนึ่ง"
- แม้จะมีการเคาะครั้งสุดท้ายว่าจะใช้งบจาก "เงินกู้" 5 แสนล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการ แต่กลับถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า
- ป.ป.ช.อาศัยอำนาจตามกฎหมายใหม่ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาฯ ผ่านมาราว 3 เดือนมีบทสรุปว่าโครงการนี้ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนไปใช้งบปกติ อาจเสี่ยงขัดต่อกฎหมายหลายบท
- โดยเฉพาะจุดเสี่ยงมีการคอร์รัปชัน-เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ที่สำคัญ ป.ป.ช.ยืนยันหนักแน่นขณะนี้ยังไม่ถึงจุด "วิกฤติเศรษฐกิจ" เพราะฉะนั้นยังไม่มีความจำเป็นต้อง "กู้เงิน" มาทำโครงการนี้
- เป็นคำเตือนสุดท้ายไปยังรัฐบาล วัดใจ "เศรษฐา" จะกล้าเดินหน้าต่อหรือไม่
“รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” ช่วงเวลานี้เรียกได้ว่า “พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก” เข้าเต็มเปา
ภายในวันเดียวกัน (7 ก.พ.) โดนทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 เสียง “คงดอกเบี้ยนโยบาย” อยู่ที่ 2.5% ต่อปี เหมือนเดิม เช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติส่งผลศึกษานโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ไปยังรัฐบาล เพื่อ “เตือน-เสนอแนะ” ถึงจุดเสี่ยงในโครงการนี้
โฟกัสไปที่ประเด็น ป.ป.ช. ชงผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 35 ตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบให้ส่งผลการศึกษาเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) นำโดย “สุภา ปิยะจิตติ” กรรมการ ป.ป.ช. ที่กำลังจะเกษียณเป็นประธาน
หลังศึกษามาหลายเดือน รับฟังความเห็นทั้งจากฝ่ายรัฐบาล นักวิชาการ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง สรุปท้ายเคาะบทสรุปมาลักษณะว่า อาจซ้ำรอย “โครงการรับจำนำข้าว” ในประเด็นสุ่มเสี่ยงเกิดการ “ทุจริตเชิงนโยบาย” เกิดขึ้นได้
โดยใน “ร่างผลการศึกษา” ในชั้นคณะกรรมการศึกษาฯ มีถ้อยความค่อนข้างรุนแรง วิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้อย่างหนัก ส่งผลให้ “บิ๊กเนมรัฐบาล” หลายคนไม่พอใจอย่างมาก โดยมองว่า ป.ป.ช.กำลังขัดขวางโครงการนี้
อย่างไรก็ดีเมื่อคณะกรรมการศึกษาฯ ส่ง “ร่างผลการศึกษา” ไปยังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ได้มีการปรับปรุงถ้อยความให้ดู “ซอฟต์ลง” แต่ “ความหมายคงเดิม” เพื่อหวังลดแรงเสียดทานจากสังคม และรัฐบาล
เพราะต้องไม่ลืมว่าใน “ร่างผลการศึกษา” ของคณะกรรมการศึกษาฯ โดยเฉพาะ “สุภา” ที่นั่งเป็นหัวโต๊ะนั้น มีภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างขัดแย้งกับ “รัฐบาลเพื่อไทย” พอสมควร
เนื่องจากในอดีต “สุภา” สมัยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เคยให้ความเห็นในโครงการรับจำนำข้าวว่า มีโอกาสและความเสี่ยงเกิดการทุจริตทุกขั้นตอน พร้อมกับเปิดตัวเลขความเสียหายจากโครงการนี้เบื้องต้นกว่า 2 แสนล้านบาท จนโดน “สั่งแขวน” และ “ถูกสอบ” มาแล้ว
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญเมื่อ “ร่างผลการศึกษา” ในตอนแรกออกมา “ค่อนข้างรุนแรง” คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข โดยคง “ความหมายเดิม” เอาไว้ แค่ปรับเปลี่ยนถ้อยคำให้ดู “ซอฟต์” มากยิ่งขึ้น
โดยเมื่อ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา “นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.รับหน้าเสื่อแถลงถึงรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะโครงการดังกล่าว โดยสรุปสาระสำคัญว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา จำนวน 4 ประเด็นหลัก
1. ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ
2.ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต
3.ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะต้องตระหนัก และใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ
4.ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง
พร้อมกับชงข้อเสนอแนะ 8 ข้อไปยังรัฐบาล เช่น รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจน อย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการ เอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566
ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน จึง “เขี่ยบอล” ไปยัง กกต.เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ หรือไม่ เพื่อมิให้เป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้
นอกจากนี้จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น เป็นต้น
สาระสำคัญหากสกัดจากผลการศึกษาจำนวน 60 หน้า รวมภาคผนวกกว่า 100 หน้า จะพบว่ามีแค่โครงการนี้ “สุ่มเสี่ยง” จะเกิดการทุจริตขึ้นหรือไม่ และรัฐบาลจะป้องกัน หรือมีมาตรการอย่างไรให้รัดกุมในเรื่องนี้
ที่น่าสนใจในมุมมองของคณะกรรมการศึกษาฯ และ ป.ป.ช.ชี้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จึงยังไม่จำเป็นต้อง “กู้เงิน” เพื่อจัดทำนโยบายนี้ จึงแสดงความ “ห่วงใย” ไปยังรัฐบาลว่า หากรัฐบาลใช้งบประมาณปกติ
โดยปรับลดงบประมาณอื่นให้สามารถดำเนินโครงการนี้ได้ จะไม่สุ่มเสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลังจาก ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะดังกล่าวแล้ว คงไม่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีก จนกว่ารัฐบาลจะ “นับหนึ่ง” โครงการนี้อย่างเป็นทางการ
“ประเทศไทยจะอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น ตามที่ ป.ป.ช.มีมุมมองว่า อาจจะยังไม่เข้าขั้น แต่ในมุมของรัฐบาล อาจมองว่า วิกฤต เรื่องนี้ ป.ป.ช. ได้ส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่การคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะทุจริตหรือไม่ สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะต้องเป็นผู้อธิบายในโครงการนี้ ถ้ามีเหตุมีผลรัฐบาลก็สามารถขับเคลื่อนได้” นิวัติไชย ยืนยัน
ดังนั้นร่างผลการศึกษาฯครั้งนี้มิใช่แค่ “ข้อเสนอแนะ” เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็น “คำเตือน” ครั้งสุดท้ายไปถึง “รัฐบาล” ด้วยว่า จะ “กล้าเสี่ยง” ผลักดันโครงการที่มีข้อจำกัดจำนวนมาก สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายหลายบทหรือไม่ อย่างไร
หากสุดท้ายรัฐบาลเดินหน้าต่อจนสุดท้ายเกิดความเสียหาย หรือซ้ำรอยกับสารพัดโครงการในอดีต จะกล้ารับผิดชอบหรือไม่