‘สมศักดิ์’ ยัวะ ‘โคบาลชายแดนใต้’ ไม่จบ สั่งเร่งเปลี่ยนวัวใหม่ให้ชาวบ้าน
“สมศักดิ์” ยัวะ ปัญหาไม่จบ “โคบาลชายแดนใต้” สั่ง “ศอ.บต.” เร่งบูรณาการทุกหน่วยงานแก้ปัญหาช่วยชาวบ้าน อย่าโยนความผิดกันไปมา ชี้ วัวที่มีปัญหาต้องเปลี่ยนให้ ปชช. ขีดเส้น ประชุมครั้งหน้าต้องเห็นโครงการไปในทิศทางที่ดีขึ้น
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ ปศุสัตว์จังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประชุมหารือเป็นการเร่งด่วน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หลังจากโครงการโคบาลชายแดนใต้ ที่ดำเนินการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดการร้องเรียนว่ามีการจัดหาโคไม่ได้คุณภาพ
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นต่อเนื่อง ซึ่งโครงการโคบาลชายแดนใต้นั้น ให้เลี้ยงวัวในลักษณะของกลุ่ม ตนจึงมองว่าเป็นโครงการที่ดีและได้ตอบกระทู้ในสภาไปแล้ว แต่เมื่อดำเนินโครงการมา ก็พบว่ามีปัญหาในหลายประเด็น ทั้งพื้นที่ปลูกหญ้า รวมถึงการสร้างคอกกลาง เพราะการเลี้ยงรวมกัน มีคนขยันไม่เท่ากัน การดำเนินการในลักษณะนี้ จะมีต้นทุนสูง แต่เมื่อโครงการดำเนินมาแล้ว ตนก็ไม่มีแนวคิดที่จะยกเลิก แต่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แต่สำหรับโครงการโคแสนล้าน ที่กองทุนหมู่บ้านกำลังดำเนินการอยู่ เป็นการให้เงินประชาชน จำนวน 50,000 บาท และให้ชาวบ้านนั้น ไปดำเนินการซื้อวัวกันเอง ซึ่งเรื่องการทุจริตจะไม่เกิดขึ้น เพราะชาวบ้านจะนำเงินไปหาซื้อวัวตัวเมียที่มีท้องติดมาตั้งแต่ต้น โดยเขาจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดด้วยตัวเขาเอง และในโครงการโคแสนล้านนั้น ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการไปสร้างคอกที่เป็นต้นทุน สามารถนำไปเลี้ยงแบบธรรมชาติได้ ตรงนี้จึงทำให้ต้นทุนของผู้เลี้ยงไม่สูง และไม่จำเป็นต้องเลี้ยงรวมกับใคร โดยจะทำให้โครงการวัวนี้เป็นส่วนหนึ่งของเกษตรกร
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เวลานี้ตนได้รับรายงาน ปัญหาของโครงการโคบาลชายแดนใต้แล้ว คือ 1.เกษตรกรบางกลุ่มได้รับโคแม่พันธุ์พื้นเมืองน้ำหนักไม่ถึง 160 กิโลกรัม ตามที่กรมปศุสัตว์ กำหนด แต่ได้วัวขนาดเล็กสุดที่มีน้ำหนักเพียง 95 กิโลกรัม 2.โคแม่พันธุ์พื้นเมืองบางตัวไม่แข็งแรง ไม่มีความสมบูรณ์ แม้เกษตรกรพยายามฟื้นฟูบำรุง 2-3 เดือนแล้ว ก็ยังไม่พัฒนาขึ้น ไม่ยอมกินหญ้า คาดว่า มีปัญหาจากระบบอวัยวะภายใน 3.โคแม่พันธุ์พื้นเมืองที่เลี้ยงมานานกว่า 1 ปี ผสมเทียมแล้วไม่ติด 4.โคแม่พันธุ์พื้นเมืองไม่มีเอกสารประจำสัตว์ ทำให้ไม่ทราบแหล่งที่มา และไม่มีประวัติการตรวจสอบความสมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์ 5.เรื่องของคอกกลางที่ไม่แข็งแรง แทบไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงโคแม่พันธุ์พื้นเมืองรวมกัน 50 ตัว และ 6.สาเหตุที่เวลานี้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงโครงการได้คือ เกษตรกรไม่สามารถรวมกลุ่มสมาชิก ที่มีอายุไม่เกิน 55 ปีได้ครบ 10 คน
"นี่เป็นเพียงปัญหาเบื้องต้น ดังนั้น วัวที่มีปัญหา ต้องเร่งประสานเปลี่ยนให้กับประชาชน โดยวัวที่จะรับเข้ามาใหม่และส่งมอบให้ประชาชน ต้องตรวจสอบให้ดี เราเอาวัวไปให้เขาสร้างรายได้ ไม่ใช่เอาวัวไปสร้างภาระให้เขามีปัญหามากกว่าเดิม ผมจึงขอให้ เลขาฯ ศอ.บต. ลงไปพูดคุยทำความเข้าใจ และบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือประชาชนเป็นการด่วน พร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น รวมถึงต้องมีการจัดทำข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน ติดตามการเลี้ยงของประชาชนให้มากขึ้น แล้วโครงการนี้จะสำเร็จ" นายสมศักดิ์ กล่าวกล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อการดำเนินโครงการโคบาลชายแดนใต้มีปัญหา ก็ต้องมานั่งคุยกันว่า ใครจะทำหน้าที่ในส่วนไหน ไม่ใช่เรื่องของการทำงานเพื่อได้หน้า หรือ โยนความผิดกันไปมาว่า ใครรับผิดชอบแค่ส่วนไหน โดยเราต้องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ดูแลประชาชนด้วยความรัก อย่าปล่อยประชาชนทิ้งไว้ ซึ่งเมื่อเราเอาเงินของภาครัฐมา ก็ต้องทำให้ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยกอดคอกันเดิน และระหว่างทางก็บูรณาการร่วมกัน ทั้งจังหวัด กระทรวงเกษตรฯ และ ศอ.บต. ซึ่งการประชุมวันนี้ ไม่ได้ต้องการว่าใครผิดหรือใครถูก แต่เราต้องทำให้โครงการโคบาลชายแดนใต้ เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงที่สุด สร้างรายได้ และต้องแก้ปัญหาความยากจนในครัวเรือนของประชาชนให้สำเร็จ ดังนั้น การกลับมาประชุมครั้งหน้าตนต้องการเห็นโครงการเดินหน้าไปด้วยทิศทางที่ดีขึ้น