ผบ.ทร.เปิดพิธีฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี เสด็จ ฯ โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ผบ.ทร. เผยความพร้อมขบวนเรือในงานพระราชพิธี เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก ขส.ทร.
วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 09.00 น. พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี (นายเรือ นายท้าย) ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ (ขส.ทร.) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
สำหรับการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี ถือเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรกของการเตรียมความพร้อมขบวนเรือในงานพระราชพิธี เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ 27 ตุลาคม 2567
ทั้งนี้ ก่อนการอัญเชิญเรือราชพิธีลงจากคาน เพื่อทำการฝึกซ้อมฝีพายในน้ำ ต้องประกอบพิธีบวงสรวงเรือครูฝึกฝีพายเรือราชพิธี โดยใช้เรือรุ้งประสานสายและเรือเหลืองใหญ่ ซึ่งเป็นเรือฝึกครูฝึกฝีพาย ประกอบด้วย การฝึกครูฝึกฝีพาย การฝึกนายเรือและการฝึกนายท้าย รวมทั้งสิ้น 162 นาย เพื่อให้กำลังพลที่เป็นฝีพายประจำเรือพระราชพิธีมีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบการพาย และการปฏิบัติต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพสกนิกรชาวไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิธีถวายผ้าพระกฐินทางชลมารค โดยกองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการพระราชพิธีครั้งนี้
บัดนี้กองทัพเรือเริ่มดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เตรียมการสำหรับฝีพาย และการซ่อมทำเรือพระราชพิธี ซึ่งดำเนินการร่วมกับกรมศิลปากร และอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ การฝึกครั้งนี้เป็นภารกิจสำคัญเพื่อเตรียมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยการฝึกอบรมครูฝึกฝีพายครั้งนี้ เป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการถ่ายทอดความรู้ รูปแบบ และวิธีปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติในขบวนเรือพระราชพิธีเป็นไปด้วยความสง่างามและสมพระเกียรติสูงสุด ซึ่งปัจจุบันมีขบวนเรือพระราชพิธีเหลือเพียงประเทศไทยแค่ประเทศเดียวในโลก
เมื่อกำลังพลที่เข้ารับการฝึกข้างต้นเสร็จสิ้น จะได้รับหน้าที่เป็นครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธีของหน่วยรับเรือที่ตนสังกัด ได้แก่ การฝึกพายเรือบนบก (การฝึกพายบนเขียงฝึก) และการฝึกพายเรือในน้ำ เพื่อให้มีทักษะการบังคับเรือในน้ำ และหลังจากนั้นจะเข้าสู่การฝึกปรับรูปกระบวนในแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของรูปแบบการจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในครั้งนี้ใช้เรือจำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ อาทิ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และอื่น ๆ ซึ่งจัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร โดยใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น 2,200 นาย
ส่วนแผนปฏิบัติงานการเตรียมความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567
ทางกองทัพเรือเตรียมความพร้อมออกเป็น 6 กลุ่มหลักได้แก่ การเตรียมความพร้อมด้านกำลังพลและการฝึกซ้อมฝีพาย การซ่อมทำเรือพระราชพิธีและการเตรียมท่าเทียบเรือ
การแต่งบทเห่เรือ จำนวน 4 บท โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย เป็นผู้ประพันธ์ การฝึกซ้อมขบวนเรือในแม่น้ำ งานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ใน 27 ตุลาคม 2567 รวมทั้ง การสำรวจ จัดเก็บเรือ และสรุปผลการปฏิบัติ
นอกจากนี้ มีการส่งพนักงานเห่เรือพระราชพิธี ของกรมการขนส่งทหารเรือ เข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการเห่เรือพระราชพิธี และรับคำแนะนำการขับเห่เรือพระราชพิธี จากคุณครูสมชาย ทับพร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยขับร้อง) วิทยากรสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตลอดจนขอรับการสนับสนุนการดำเนินการจากส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่สำคัญอีกด้วย
ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวเสริมว่า สำหรับการซ้อมฝึกฝีพายในแม่น้ำเจ้าพระยา ประสานความร่วมมือกับกรมเจ้าท่า ในการประชาสัมพันธ์วันและเวลาปิดเส้นทางสัญจรทางน้ำชั่วคราวแก่ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อรบกวนการเดินทางของประชาชนน้อยที่สุดในช่วงดังกล่าว
สำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไม่มีหลักฐานที่มาของการจัดริ้วขบวนเรือที่ชัดเจน แต่มีการสันนิษฐานว่า ในสมัยพระเจ้าลิไท พระร่วงได้เสด็จไปลอยกระทงโดยเรือ หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ รวมทั้งมีการจัดขบวนเรือพระที่นั่งไปรับพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามี จากลังกามายังกรุงสุโขทัย
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งในครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2555 ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ครั้งที่สอง เป็นการเชิญเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เทียบที่ท่าราชวรดิฐ ในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 และในครั้งที่สาม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2562