‘ก้าวไกล’ ยิ่งโต ยิ่ง ‘เปลี่ยนแปลง’ - ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ สลัดภาพบ้านใหญ่

‘ก้าวไกล’ ยิ่งโต ยิ่ง ‘เปลี่ยนแปลง’ -  ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ สลัดภาพบ้านใหญ่

“ผมเชื่อว่าเราจะได้คะแนนมากขึ้น เพราะหลายๆ อย่างมันทำให้ประชาชนผิดหวัง หลายๆ อย่าง เห็นแล้วว่า ก้าวไกลเป็นที่หนึ่งได้ แล้วถ้าวันนี้ก้าวไกลเป็นที่หนึ่งได้ แล้วทำไมก้าวไกลจะถูกเลือกมาก 200 กว่าเสียงไม่ได้ล่ะ”

KEY

POINTS

  •  "ศุภณัฐ มีนชัยนันท์" สส.กทม. เขต 9 พรรคก้าวไกล ผู้สมัครหน้าใหม่ ชนะแชมป์เก่าอย่าง "อนุสรณ์ ปั้นทอง" อดีต สส.กทม. พรรคเพื่อไทย 5 สมัย ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ด้วยคะแนนสูงสุดอันดับ 1 ใน กทม. 50,132 คะแนน
  •  "แบงค์ ศุภณัฐ" เป็นหลานของ "วิชาญ มีนชัยนันท์" อดีต สส.กทม. พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง ตระกูล "มีนชัยนันท์" ถูกเรียกขานว่าเป็น "บ้านใหญ่" แห่งโซนตะวันออกของ กทม.
  •  "ศุภณัฐ" บอก "พรรคก้าวไกล" ไม่ขอลง สส.กทม. โซนตะวันออก เพราะไม่ต้องการให้มีคนมองว่าเป็นการวางแผนทำงานการเมืองของตระกูล “มีนชัยนันท์” จึงตัดสินใจลงเขต กทม. ในพื้นที่ หลักสี่ - จตุจักร- บางเขน เพื่อพิสูจน์ตัวเอง
  • "ศุภณัฐ" เสียดายโอกาสของประเทศที่ "พรรคก้าวไกล" ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล โดยมองกลุ่มขั้วอำนาจเดิมต้องการเหนี่ยวรั้งอำนาจครั้งสุดท้ายด้วยการควบรวมอำนาจจัดตั้งรัฐบาลกับ "พรรคเพื่อไทย"
  • สโลแกน "ก้าวข้ามความขัดแย้ง" ของบางพรรคการเมือง เท่ากับลืมความเสียสละของการต่อสู้ในอดีต โดยเฉพาะพี่น้องคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บและเสียชีวิต
  • ส่วนใหญ่การยุบพรรคการเมืองไม่สามารถที่จะเปลี่ยนความคิดของประชาชนได้
  • ถ้าพรรคไม่มีจุดยืนกลับไปกลับมา ประชาชนก็ไม่เลือก "ประชาชนไม่มีใครอยากโดนหลอก ไม่มีใครอยากรู้สึกว่าถูกนักการเมือง พรรคการเมืองตบหน้าเรา”
  • "ศุภณัฐ" เชื่อว่าก้าวไกลในอนาคตจะถูกเลือกด้วยเสียง สส.มาก 200 กว่าเสียงได้
  • หลักคิดของ "ศุภณัฐ" มองว่าการเป็นนักการเมืองต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้ แต่ถ้าผลักดันแล้วไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็อาจทบทวนตัวเองถึงการทำหน้าที่ สส.

“แค่คุณกาก้าวไกลมากขึ้น ประเทศคุณก็เปลี่ยนแล้ว คุณเอาสองขั้วอำนาจเก่ามาชนกันได้ ถ้าคุณกาก้าวไกลอีกอะไรจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต อันนี้เราไม่รู้”

  ‘ก้าวไกล’ ยิ่งโต ยิ่ง ‘เปลี่ยนแปลง’ -  ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ สลัดภาพบ้านใหญ่

เป็นคำกล่าวของ “แบงค์” ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. เขต 9 พรรคก้าวไกล ที่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรมาเป็น 1 ใน 32 สส.กทม. พรรคก้าวไกล และเป็น สส.กทม. ที่ถูกบันทึกเป็นนสถิติในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ว่าเป็น สส.ที่มีคะแนนสูงสุดในกรุงเทพฯ เป็นอันดับ 1 จำนวน 50,132 คะแนน

ล้มแชมป์ "เพื่อไทย" เจ้าของพื้นที่  5 สมัย

ผลงานเด็ดของ “แบงค์” คือ ล้มช้างล้มแชมป์อย่าง “อนุสรณ์ ปั้นทอง” อดีต สส.กทม. พรรคเพื่อไทย 5 สมัยที่ครองเก้าอี้ สส.มาเป็นเวลานานลงได้

“ศุภณัฐ” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า “สถานการณ์ในขณะนี้อาจจะเป็นอีกช่วงหนึ่ง หัวเลี้ยวหัวต่อว่าสุดท้ายแล้ว พอพรรคก้าวไกลยกระดับขึ้นมา คุณเห็นแล้วมีการควบรวมอำนาจสองขั้วที่เรียกว่าฆ่าฟันกันมาตลอด 20ปี ควบรวมอำนาจกันได้ อันนี้คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อว่าสังคมไทย คนไทยจะเอายังไง คุณเห็นด้วยกับการควบรวมสองกลุ่มอำนาจเป็นแบบนี้ หรือคุณคิดว่าจะยกระดับมาสนับสนุนพรรคก้าวไกลต่อเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น”

ด้วยวัย 32 ปีของ “แบงค์” ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง เพียบพร้อมด้วยโปรไฟล์การศึกษา ปริญญาโท อสังหาริมทรัพย์และการเงิน University of Cambridge ประเทศอังกฤษ 

ปริญญาตรี บริหารโครงการเพื่อการก่อสร้าง UCL ประเทศอังกฤษ ผ่านประสบการณ์การทำงานและธุรกิจ เคยเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ประยูรชัย (1984) จำกัด นั่งตำแหน่งซีอีโอ ในหลายบริษัท ประกอบด้วย บริษัท ฮีโน่ นิมิตรใหม่ จำกัด  บริษัท โฟร์ แอลฟาส์ จำกัด  บริษัท แอลฟา คลีนิกเวชกรรม จำกัด

‘ก้าวไกล’ ยิ่งโต ยิ่ง ‘เปลี่ยนแปลง’ -  ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ สลัดภาพบ้านใหญ่

สลัดภาพบ้านใหญ่ "มีนชัยนันท์" ลง สส.กรุงเทพฯ 

“สส.แบงค์” บอกว่า นามสกุล “มีนชัยนันท์” แม้จะเป็นนามสกุลกับ “วิชาญ มีนชัยนันท์” ที่มีศักดิ์เป็นลุงแท้ ๆ และเป็นอดีตสส.กทม. พรรคเพื่อไทย หลายสมัย และอดีตรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก

ทว่า “ศุุภณัฐ” ไม่ต้องการลงเป็นผู้แทนราษฎรในเขตกรุงเทพฯ โซนตะวันออก เพราะไม่ต้องการให้มีคนมองว่าเป็นการวางแผนทำงานการเมืองของตระกูล “มีนชัยนันท์”

เขาเล่าว่า เดิมทีได้ปฏิเสธพรรคก้าวไกลไปในตอนแรก ว่าจะไม่ขอลงสมัคร สส.กทม. หากพรรคส่งให้ลงสมัครในโซนตะวันออก แต่ท้ายที่สุด ช่วงสุดท้ายของการเปิดตัวผู้สมัคร สส.กทม. ทางพรรคก้าวไกลก็ตัดสินใจเปิดตัว “ศุภณัฐ” เพื่อลงชิงผู้แทนราษฎรในเขตจตุจักร

“เขตนี้ (เขตจตุจักร-หลักสี่-บางเขน) ไม่ได้อยูู่ในบริบทอะไรเลยจะเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงอะไรกับทางฝั่งพรรคเพื่อไทยได้ แน่นอนคำครหาหรืออะไรพวกนี้ต้องไม่มีอยู่แล้ว”

เลือกสังกัด "ก้าวไกล" เหตุต่อสู้ระบอบทุนผูกขาด

“ศุภณัฐ” บอกถึงเหตุผลที่ไม่เดินเข้าไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ทั้งที่เดิมทีเคยเป็นโหวตเตอร์ผู้สนับสนุนให้กับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด ว่า “4 ปีที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้พิสูจน์บทบาทในสภาฯได้เด่นชัดที่สุด ว่าเรากำลังต่อสู้ระบอบอุปถัมภ์ ระบอบทุนผูกขาด นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงเลือกทำงานกับพรรคก้าวไกล”

เมื่อถามว่า นามสกุล “มีนชัยนันท์” มีผลต่อการได้เป็นผู้แทนหรือไม่ “ศุภณัฐ”บอกทันทีว่า “ผมเชื่อว่าไม่ค่อยมีผล”

ถามถึงตระกูล “มีนชัยนันท์” ถูกมองว่าเป็นบ้านใหญ่ในโซนตะวันออกของเมืองหลวง “ศุภณัฐ” ระบุว่า “นานๆ เข้าผมก็ชิน คือ อาจจะเป็นบ้านใหญ่ในเชิงที่เป็น สส. ส.ก. ตั้งแต่ โอ้โห...คุณลุงผมอยู่การเมืองตั้งแต่ปี 2528 ก็เกือบปี 2568 แล้ว 40 ปีแล้ว ตัวแกเองก็เป็นมาหมดแล้ว เป็นรัฐมนตรี เป็น สส. เป็น ส.ก. สำหรับผมไม่ได้มองว่าบ้านใหญ่จะมีผลอะไรกับการเลือกตั้งรอบนี้”

เมื่อถามถึงปัจจัยล้มช้างล้ม-แชมป์เก่าในเขต 9 กทม. ซึ่ง “อนุสรณ์ ปั้นทอง” มีดีกรี สส. 5 สมัยจาก ‘เพื่อไทย’ ทาง “ศุภณัฐ” ยอมรับว่า “อนุสรณ์” คือ สส.ที่มีประสบการณ์มากที่สุด แล้วมีเรคคอร์ดสูงที่สุดแล้ว ถ้าพูดถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ลงแข่งในพื้นที่ กทม.

“นี่คือคู่แข่งที่ไม่เคยแพ้อะไรเลยในชีวิต น่าจะยากที่สุดแล้ว แล้วผมจะทำยังไง ให้ความแตกต่างระหว่างตัวผมกับแคนดิเดตท่านนี้ มันชัดเจน ผมก็ต้องไปนั่งแกะสไตล์การทำงานของคุณอนุสรณ์”

‘ก้าวไกล’ ยิ่งโต ยิ่ง ‘เปลี่ยนแปลง’ -  ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ สลัดภาพบ้านใหญ่

โต้ข้อครหา "ก้าวไกล" หาเสียงไม่ลงทุนลงแรง

“ศุภณัฐ” ระบุว่า “ผมมั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมบวกกับน้องและทีมงาน ผมมั่นใจว่าเราเดินเยอะที่สุด”

ถามว่า ทำไมยังมีเสียงจากบางพรรคว่าพรรคก้าวไกลไม่ลงทุนลงแรง อยู่ๆ มาเอากระแสอย่างเดียวจนได้เข้าสู่สภา ทำให้ “ศุภณัฐ” กล่าวว่า “ผมว่า ผมลงแรงนะ แต่ลงทุนผมไม่ได้ลงทุน ลงทุนคืออะไร ทำกิจกรรมแล้วคุณนั่งแจกของเยอะๆ หรอ การทำแบบนี้สุดท้าย ผมเข้าใจว่าคุณมีน้ำใจ แต่มันจะมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างน้ำใจกับคุณพยายามที่คุณจะทำให้เขารู้สึกว่า ผมไม่ได้เรียกว่าเป็นค่าสตางค์ มันทำให้เขารู้สึกว่า การที่คุณเป็น สส.อยู่เนี่ย เขาจะมีผลประโยชน์”

สำหรับบทบาทการเป็น สส.สมัยแรกและการทำงานในสภาฯนั้น “ศุภณัฐ” ระบุว่า "ถ้าเกิดเราลงพื้นที่ ไม่ทำงานสภาฯ ไม่ทำงานผลักดันเชิงโครงสร้าง 4 ปี ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น พอผ่านไป 4 ปี เขาจะคิดทันทีว่าแล้วพรรคก้าวไกลมันทำอะไรให้ฉันวะ คำตอบคือเขาไม่ได้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี่ ดังนั้้น ผมเลยต้องใช้ความสำคัญ คือเน้นงานในสภา ใช้กลไกรัฐสภา กรรมาธิการ"

ในฐานะที่เป็นผู้แทนกรุงเทพฯ มากว่าครึ่งปี “ศุภณัฐ” มองถึงปัญหาใหญ่ของคนกรุงเทพฯในส่วนของภาพกว้าง โดยเฉพาะโครงสร้างราชการ มีปัญหาเกี่ยวกับใหญ่ หน่วยงานเยอะ

“คุณจะทำแยกงบประมาณทำไม ให้มันซ้ำๆ ซ้อนๆ เพราะการที่คุุณไม่คุยกันนี่แหละ อาจจะเป็นเพราะว่าระบบข้าราชการ เหมือนกับไปแทรกแซงงานคนอื่นมีปัญหา แต่คนที่อยู่ข้างบนต้องเคาะให้รวม คนที่จัดงบฯ ต้องเคาะให้เห็นภาพใหญ่ทั้งกระทรวง ว่าหมุุดหมายกระทรวงฉันคืออะไร”

ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลนั้น สส.แบงค์ บอกว่า “สถานะผม สส.เหมือนเดิม ผมไม่ได้เปลี่ยน ก็เสียดายโอกาสของประเทศมากกว่า”

“ผมว่ามันเป็นช่วงสุดท้ายของการเกาะเหนี่ยวรั้งอำนาจครั้งสุดท้ายของตัวเอง เพื่อไม่ให้เสียอำนาจไปของกลุ่มขั้วอำนาจเดิมในการที่สุดท้ายแล้วต้องใช้ในการควบรวมตัวกัน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพื่อยึดเกาะเกี่ยวอำนาจกลุ่มเดิมไว้”

“แปลว่าสิ่งที่ก้าวไกลทำอยู่ในมุมหนึ่ง มันกำลังเชือดเฉือนกับโครงสร้างอำนาจรัฐเดิม โครงสร้างของกลุ่มทุนเดิมพอสมควร”

"ศุภณัฐ" มองว่าการสโลแกน "ก้าวข้ามความขัดแย้ง"ของบางพรรคการเมือง เท่ากับลืมความเสียสละของการต่อสู้ในอดีต

"เราสามารถทำให้ขั้วสองขั้วที่มีการต่อสู้เชิงการเมืองมาตลอด 20 ปีเต็มๆ  สู้กันชนิดที่ว่ามีคนเสียชีวิตเป็น 100 คน บาดเจ็บก็หลายพัน ความแตกแยกก็หยั่งลึก  นั่งร้านอาหารเดียวกันคุยเรื่องการเมืองด้วยกันไม่ได้ ตีกันตรงนั้น แต่ว่าสองกลุ่มนี้ ตีกันตลอด 20 ปีอยู่ดี เข้าจับมือกันเฉย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องแปลก สิ่งที่เขาเคยบอกกลุ่มหนึ่งทำไม่ดีเรื่องโน่นลืมสิ้นหมด ถือว่าเรื่องที่เคยทำมาดีหมดเลย อีกกลุ่มหนึ่งเคยทำร้ายเขาขนาดไหน ก็เสมือนว่าไม่เคยถูกทำร้าย"

"บางคนใช้คำว่าก้าวข้าม ผมคิดว่ามันเป็นการลืมความเสียสละของคนที่ผ่านมา ลืมให้หมดซะ ตรงนี้ค่อนข้างอันตรายนะ ถ้าเรายังใช้วิธีแบบนี้เรื่อยๆ คือเราไม่ค้นหาความจริง เราไม่ต้องหยั่งรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เราเลือกที่จะลืมมันไปซะ"

‘ก้าวไกล’ ยิ่งโต ยิ่ง ‘เปลี่ยนแปลง’ -  ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ สลัดภาพบ้านใหญ่
"คุณก้าวข้ามความขัดแย้ง ก้าวได้ ถ้าความจริงมันถูกแผ่ออกมาก่อน แต่ปัญหาทุกวันนี้ ความจริงมันยังไม่ชัดเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วคุณคิดว่าก้าวข้ามนี่ สำหรับผมมันคือก้าวข้ามแบบผิวๆ "

"ศุภณัฐ" ย้ำว่า คุณเชื่อว่าสิ่งที่คุณทักษิณถูกบีบไปอยู่ต่างประเทศ ถูกหรือผิด คุณไม่อยากรับรู้แล้วหรอ ถึงเวลาคุณไม่อยากรับรู้แล้วหรอที่โดนตัดสินตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนยาวมาถึงพรรคเพื่อไทยที่โดนปฏิวัตินี่ มันบิดเบี้ยวกันมาหมดเลยนี่ ผมถามว่าคุณไม่อยากรู้เหรอว่ามันเกิดอะไรขึ้น

"ก้าวไกล" ศัตรูตัวใหม่ของขั้วอนุรักษนิยม

เมื่อถามถึงฝ่ายขั้วอนุรักษนิยมมอง "ก้าวไกล" เป็นศัตรูตัวใหม่ ทำให้ "ศุภณัฐ" ตอบทันทีว่า "ศัตรูของศัตรูคือมิตรหรือเปล่า คุณมองว่าก้าวไกลคือศัตรูหรือเปล่า เป็นศัตรูกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาแล้วทำลายโครงสร้างทางผลประโยชน์ทางกลุ่มทุน ความเชื่ออะไรบางอย่างของคุณหรือเปล่า"

“ศุภณัฐ” บอกว่า “หลายๆ คนก็เลือกก้าวไกลโดยไม่ได้คิดว่าก้าวไกลเป็นรัฐบาลนะ”

“การเลือกตั้งรอบหน้ายิ่งถ้าเกิดเลือกตั้งไวเท่าไร ก้าวไกลก็ได้เปรียบเหมือนเดิมครับ ถ้าจะเลือกไกลก็อาจจะมีประชาชนอายุ 18 ปีในการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น ผมก็มั่นใจว่าหลายๆ คนก็เป็นโหวตเตอร์ของเราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ”

“ผมเชื่อว่าเราจะได้คะแนนมากขึ้น เพราะหลายๆ อย่างมันทำให้ประชาชนผิดหวัง หลายๆ อย่าง เห็นแล้วว่า ก้าวไกลเป็นที่หนึ่งได้ แล้วถ้าวันนี้ก้าวไกลเป็นที่หนึ่งได้ แล้วทำไมก้าวไกลจะถูกเลือกมาก 200 กว่าเสียงไม่ได้ล่ะ

"ก้าวไกล" จุดกระแสไม่ซื้อเสียง 

สิ่งที่ควรหมดไปจากการเมืองไทยนั้น “ศุภณัฐ” ตอบทันทีว่า “การซื้อเสียงเป็นสิ่งเดียวที่ไม่สมควร การเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็โชคดีที่ว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ใช้เงิน”

“การชนะครั้งนี้ของพรรคก้าวไกลเป็นสัญญาณบอก ไม่ใช่แค่บอกแค่ในหลายๆ พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเขตการเมืองของพรรคไหนก็แล้วแต่ เรามาเริ่มต้นโดยบริบทที่ว่า ไม่ซื้อเสียงดูสิ แล้วคุณจะรู้มาสิ่งที่ทำมาทั้งหมดในอดีต ประชาชนจริงๆ แล้ว เขาชอบผลงานของคุณ หรือจริงๆ เขาชอบเงินที่คุณซื้อเสียงช่วงท้าย”

‘ก้าวไกล’ ยิ่งโต ยิ่ง ‘เปลี่ยนแปลง’ -  ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ สลัดภาพบ้านใหญ่

เชื่อประชาชนไม่เลือกพรรคไร้จุดยืน กลับไปกลับมา

ต่อคำถามว่า ถ้ายิ่งยุบพรรคก้าวไกล จะยิ่งทำให้ “ก้าวไกล” โตขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ “ศุภณัฐ” บอกว่า "ส่วนใหญ่การยุบพรรคไม่สามารถที่จะเปลี่ยนความคิดของประชาชนได้ เพราะประชาชนไม่ได้กาแค่นักการเมืองคนหนึ่งที่ถูกแบน แต่เขากาเพราะจุดยืนของพรรคการเมืองนั้นๆ แต่ถ้าพรรคไม่มีจุดยืนกลับไปกลับมา คนก็ไม่เลือก เพราะสุดท้ายประชาชนไม่มีใครอยากโดนหลอก ไม่มีใครอยากรู้สึกว่าถูกนักการเมือง พรรคการเมืองตบหน้าเรา”

"ผมว่าคิดว่าสำคัญนักการเมืองทุกคน ถ้าคุณไม่มีความน่าเชื่อถือ สุดท้ายแล้วครั้งแรกๆ จะโอเค แต่ครั้งหลังๆ เขาจะไม่เชื่อถือคุณ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าอันนี้แล้วแต่ประชาชนเขาจะพิจารณายังไง ส่วนหนึ่งแน่นอนมาจากเรื่องของพรรค นโยบาย ภาพรวม การทำงานที่ผ่านมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ด้วย ส่วนที่สอง คะแนนส่วนบุคคลด้วย เป็นเรื่องปกติในทางการเมือง

ทำงานการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ส่วนหลักคิดการทำงานชีวิตและการเมือง ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ บอกว่า เป็นนักการเมืองต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง

“ถ้าเราทำอะไรไม่ได้เลย ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมต้องพิจารณาตัวเองว่า กลไกที่เราใช้อยู่ วิธีการที่เราใช้อยู่ ทำไมไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมคงต้องทบทวนตัวเองเหมือนกันว่า ทำยังไงให้มันทำได้ หรือมันสุดความสามารถแล้ว ผมก็ต้องไปดูเปรียบเทียบ สส.ท่านอื่น ทำไมเขาทำได้ คนอื่นทำได้ดีกว่าผม ผมต้องพิจารณาตัวเอง”

"ถ้าวันหนึ่งประชาชนบอก ศุภณัฐออกเถอะ เดี๋ยวเขาก็ไม่เลือกผมเองครับ  มันก็จะสะท้อนออกมาด้วยคะแนนเสียงของมันเองครับ"

ส่วนอนาคตทางการเมืองของ "ศุภณัฐ"นั้น สส.กทม. เขต 9 ระบุว่า "ผมไม่ได้มองเป็นนักการเมืองไป 30 ปี 20 ปี แล้วแต่ประชาชนจะให้โอกาสอย่างไร ถ้าประชาชนเห็นว่าผม มีประโยชน์อยู่ แล้วตัวผมเองรู้สึกว่าผมทำประโยชน์ให้เขาได้อยู่ ผมก็อาจลงสมัครเป็นแคนดิเดต สส.ต่อไปเรื่อยๆ"

"แต่ถ้าเกิด ณ วันหนึ่ง ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ตอบโจทย์อะไรให้ประชาชน ถึงแม้ประชาชนจะยังเลือกอยู่ ผมก็อาจจะออกนะ เพราะถ้าผมไม่สามารถจะผลักดันได้กับสิ่งที่เขาคาดหวังว่าเราทำได้ อันนี้ผมก็อาจจะไปเหมือนกัน"

‘ก้าวไกล’ ยิ่งโต ยิ่ง ‘เปลี่ยนแปลง’ -  ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ สลัดภาพบ้านใหญ่