'ตะวัน' อดน้ำอาหารประท้วง! หลังศาลไม่ให้ประกัน เหตุโทษสูง-ไม่ยำเกรง กม.
ศาลอาญาไม่ให้ประกัน 'ตะวัน-แฟรงค์' คดี ม.116-พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ชี้อัตราโทษสูง พฤติการณ์ไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง ปั่นป่วนความสงบเรียบร้อยสังคม หากปล่อยเชื่อว่าก่อเหตุอีก เจ้าตัวอดน้ำ-อาหารประท้วง
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.ดินแดน เดินทางมายื่นคำร้อง ฝากขัง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 22 ปี หรือ "ตะวัน" นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร อายุ 23 ปี หรือ "แฟรงค์" ผู้ต้องหาที่ 1-2 โดยแจ้งข้อหาว่า ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาและร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ, ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร มาขออำนาจศาลฝากขัง
โดยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 ไม่ประสงค์ให้การในชั้นสอบสวน โดยประสงค์จะให้การในชั้นศาลเท่านั้น ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ประสงค์ให้การในชั้นสอบสวน เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้นต้องสอบสวนพยานอีก 7 ปากเป็นพยานชุดจับกุมและประจักษ์พยาน ,รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาที่ 1-2 ด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงขอหมายขังผู้ต้องหาที่ 1-2 ระหว่างการสอบสวนกำหนด 12 วันตั้งแต่วันที่ 14-25 ก.พ.67
ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านหากผู้ต้องหาทั้งสอง ขอปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงประกอบกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาทั้งสองเป็นการกระทำโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวไป เกรงว่าอาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก แต่ถ้าหากศาลเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง พนักงานสอบสวนขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้กระทำผิดในขณะนี้อีก
ทั้งนี้ จากข้อมูลและประวัติการกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวกพบว่าเมื่อผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว มีการกลับมากระทำความผิดลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำอีก หากไม่มีการควบคุมกำหนดมาตรการบังคับหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวที่เคร่งครัด เป็นการยากในการควบคุมดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภาพลักษณ์ภายในประเทศ
ศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้
วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ทางตำรวจ สน.พระราชวัง ได้นำตัว นายนภสินธุ์ หรือ "สายน้ำ" นักศึกษาอายุ 19 ปี มาฝากขังครั้งแรก 12 วัน ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนทำให้เสียหายทำลายทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาณฯ กรณีมีส่วนร่วมรู้เห็น กับ ผู้ต้องหาที่พ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว และศาลอนุญาตฝากขังได้
ต่อมา ในช่วงเย็น นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวนายนภสินธุ์ ตีราคาประกัน 3.5 หมื่นบาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามก่อเหตุในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องในคดีอีก
แต่ในส่วนของ น.ส.ทานตะวัน และนายณัฐนนท์ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ในการกระทำของผู้ต้องหามีลักษณะไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม หากให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจะไปก่อเหตุอันตรายลักษณะเดียวกันนี้หรือประการอื่น
อีกทั้ง อาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง ส่วนจะยื่นซ้ำหรือไม่ต้องปรึกษาผู้ต้องหาอีกครั้ง ในส่วนที่มีการยื่นคำร้องขอถอนประกันก็ทราบจากข่าวซึ่งผู้ต้องหายังมีคดีอื่นในศาลอาญา เเละศาลอาญากรุงเทพใต้ฯ
ภายหลังศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน ได้ฝากข้อความเป็นลายมือถึง ผู้สื่อข่าวความว่า นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับหนู แต่หนูยืนยันที่จะสู้ต่อไป การก้าวขาเรือนจำ เราไม่เหลืออะไรนอกจากร่างกายที่มีไว้ต่อสู้ หนูจะใช้ร่างกายและจิตวิญญาณที่เหลือเหลืออยู่สู้ต่อไป หนูและแฟรงค์จะอดอาหารและน้ำประท้วงเพื่อ 3 ข้อเรียกร้องโดยจะไม่ยื่นประกันตัว
1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
2. ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก
3. ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชน