‘2ดุลอำนาจ’สภาสูง ศึกวัดพลัง‘เกมวางบิล’
สัญญาณลับ โหวตคว่ำ "บิ๊กจ้าว" นั่งกรรมการป.ป.ช. อีกหนึ่งช็อตสะท้อน “เกมดุลอำนาจสภาสูง” แม้ สว.กำลังสิ้นอำนาจแต่ “ดุลอำนาจเหนืออำนาจ” อาจกำลังทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการวางทายาทในองค์กรอิสระ
KEY
POINTS
- โหมดนับถอยหลังวาระวุฒิสภา ทว่า “ดุลอำนาจสภาสูง” กลับยิ่งสะท้อนภาพ “2 สาย” ไม่ต่างจาก “เกมวัดพลัง” ที่ทวีความร้อนแรงเป็นเท่าทวีคูณ
- กรณีสว.โหวตคว่ำ “บิ๊กจ้าว” นั่งป.ป.ช.ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้มีกรณีของ “สถาพร วิสาพรหม” ที่ถูกโหวตคว่ำท่ามกลาง "สัญญาณ" ลักษณะเดียวกัน
- “เกมดุลอำนาจสภาสูง” แม้ สว.กำลังสิ้นอำนาจลง แต่ “ดุลอำนาจเหนืออำนาจ” ยังไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะการวางทายาทในองค์กรอิสระ ไว้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือหลังจากนี้
อย่างที่รู้กันว่า ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดวาระของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน ไว้ที่ 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดวาระในวันที่ 11 พ.ค.2567 นี้
ทว่า จนถึงห้วงเวลานี้ที่กำลังเข้าสู่โหมดนับถอยหลัง “ดุลอำนาจสภาสูง” กลับยิ่งสะท้อนภาพ “2 สาย 2 ลุง” อย่างเห็นได้ชัด ไม่ต่างจาก “เกมวัดพลัง” ในสภาสูง ที่ทวีความร้อนแรงเป็นเท่าทวีคูณ
ล่าสุด คือกรณีที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติโหวตคว่ำ “บิ๊กจ้าว” พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) นั่งเก้าอี้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเข้ารับการสรรหาแทน พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์
ด้วยเหตุผล “ขาดคุณสมบัติ” ตามมาตรา 9 วรรค 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่ระบุว่า ต้องรับราชการ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า ไม่น้อยกว่า 5 ปี
โดยตำแหน่ง ผบช.น.นั้น “สว.หลายคน” เห็นว่าไม่สามารถเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดีได้
เมื่อไล่ลึกไปยัง “แต้มโหวต” ที่ให้ความเห็นชอบ 88 ต่อ 80 เสียง ไม่ออกเสียง 30 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ สว.คือ 125 เสียง จึงเป็นการตอกย้ำภาพ สว.ที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 สายอย่างชัดเจน
โดย 88 เสียงที่ให้ความเห็นชอบ น่าจะมาจาก สว.ในสาย “อดีตเบอร์ 1 ตึกไทยฯ” ซึ่งสนับสนุน “บิ๊กจ้าว” ชิงตำแหน่งดังกล่าว
ขณะที่อีก 80 เสียง ที่ไม่เห็นชอบ กับอีก 30 เสียงที่ไม่ออกเสียง จนทำให้ “บิ๊กจ้าว” ชวดนั่งกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่แต่เดิม ถูกคาดหมายว่าจะเข้าวินได้ไม่ยาก จึงไม่พ้นถูกจับตาไปที่ “สว.สายลุงผู้พี่” ซึ่งอยู่อีกสาย
จะว่าไป กรณีของ “บิ๊กจ้าว” ไม่ใช่คนแรก ที่ถูกตีตกด้วยเหตุผลเรื่อง “คุณสมบัติ” หากย้อนกลับไปเมื่อ พ.ค.2566 ยังมีกรณีของ “สถาพร วิสาพรหม” รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (แผนกคดีล้มละลาย) ได้ถูกตีตก เช่นเดียวกัน
ว่ากันว่า เวลานั้น “สถาพร” ได้รับไฟเขียวจาก “ลุงบ้านป่ารอยต่อ” เข้าชิงตำแหน่งดังกล่าว
แต่ก่อนโหวต กลับมีบัตรสนเท่ห์ “ว่อนสภา” อ้างถึงคุณสมบัติของ “สถาพร” ที่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น ป.ป.ช. โดยใช้คุณสมบัติ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 9 (1) ที่กำหนดคุณสมบัติ ต้องรับราชการ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษามาไม่น้อยกว่า 5 ปี
แต่ “สถาพร” ดำรงตำแหน่งเป็น รองประธานศาลอุทธรณ์ คดีชำนัญพิเศษ และก่อนดำรงตำแหน่งดังกล่าว เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ คดีชำนัญพิเศษ แต่ไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลใดมาก่อน ดังนั้น จึงไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย
กระทั่งที่ประชุมวุฒิสภา จะมีมติ 138 เสียงต่อ 41 เสียง ไม่ออกเสียง 27 เสียง ไม่เห็นชอบให้ “สถาพร” ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ในท้ายที่สุด
ผลโหวต ณ เวลานั้น นอกจากจะอ้างเหตุผลในเรื่องคุณสมบัติ อันเป็นสาเหตุทำให้ “สถาพร” ไม่ผ่านด่านสภาสูงแล้ว ยังเกิดคำถามว่า เป็นสัญญาณมาจาก “สว.สายลุง” อีกลุงด้วยหรือไม่
ทั้ง 2 กรณีที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นการสะท้อน “เกมดุลอำนาจสภาสูง” แม้ สว.กำลังสิ้นอำนาจลง แต่ “ดุลอำนาจเหนืออำนาจ” อาจกำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการวางทายาทในองค์กรอิสระ ไว้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือหลังจากนี้
ยังไม่นับหลายช็อตหลายตอนที่สะท้อนภาพ "ศึกวัดพลัง" ในสภาสูง ทั้งที่เคยเกิดขึ้นในสภาสูงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะวันโหวตเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่30 หรือที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ต้องจับตาอีกราวๆ 2 เดือนที่เหลือจาก "สว.ยุค คสช." ที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุค "สว.บ้านใหญ่” เชื่อได้ว่า “เกมสภาสูง” ยังต้องลุ้นช็อตต่อช็อต จนถึงนาทีสุดท้ายเลยทีเดียว