'ชัชชาติ' ต้อนรับ นายกฯ ถกพัฒนา กทม. วอนเห็นใจเมืองกรุงฯไม่ใช่ต้นตอฝุ่น
'ชัชชาติ' เปิดบ้านต้อนรับนายกฯ ประชุมขับเคลื่อนพัฒนากรุงเทพมหานคร วอนเห็นใจ กทม. ไม่ใช่ต้นตอปัญหาฝุ่น พร้อมเชื่อมโยงขนส่งสาธารณะ เสริมเส้นเลือดใหญ่รัฐบาล แก้ปัญหารถติด
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ให้การต้อนรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสเดินทางมาเยือนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งประชุมติดตามเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร
นายกฯ เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า วานนี้ได้แถลงเรื่อง 8 วิสัยทัศน์ของประเทศไทยไปแล้ว ซึ่งหลายข้อเกี่ยวข้องกับทางกรุงเทพมหานคร แม้เราจะพยายามกระจายความเจริญไปสู่จังหวัดต่าง ๆ แต่กรุงเทพมหานครก็ยังเปรียบเสมือนประเทศไทยขนาดเล็ก วันนี้ดีใจที่ได้มาเยือนกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกและได้ทราบถึงวิสัยทัศน์ ตลอดจนแผนงานที่กรุงเทพมหานครมี ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ซึ่งนโยบายหลายเรื่องก็ล้อไปกับวิสัยทัศน์ของประเทศไทยและล้อไปกับนโยบายของรัฐบาลด้วย
นายเศรษฐา กล่าวว่า ประเด็นที่ฝากท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไว้ คือ ท่านทำงาน ทำอะไรดี ๆ ไว้มาก แต่บางทีอาจจะมีการสื่อสารน้อยไปสักนิด จึงอยากให้มีการสื่อสารให้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงการแถลงผลงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสื่อสารเพื่อให้ทราบการทำงานว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์จากข่าวสารต่าง ๆ ทางรัฐบาล โดยนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการประสานงานใกล้ชิดกับทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอยู่แล้ว และจะมีการทำงานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมรับนโยบายจากทางกทม.ไปช่วยขยายผลต่อไป ยกตัวอย่างเช่น สัปดาห์ที่ผ่านมาที่กรุงเทพมหานครประกาศ Work from Home (WFH) ทำให้รถยนต์มีจำนวนน้อยลง 8-9% หากมีการประสานที่ดีกับทางรัฐบาล เราก็จะประกาศพร้อมกัน อาจจะเป็นการประกาศให้หน่วยงานราชการ WFH สอดรับกันไป ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หลายหน่วยงานต่างก็พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว เพียงแต่ทำให้มีการประสานงานดีขึ้น เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นด้วย
นายเศรษฐา กล่าวถึงปัญหาต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่เราต้องจัดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะเดี๋ยวนี้มีการทำรูปลักษณ์บุหรี่ไฟฟ้าที่หลากหลาย เช่น ทำเป็นกล่องนม ทำให้ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มเด็ก ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควร ในเรื่องของการนำเข้า ทางศุลกากรจะต้องเข้มงวดในการตรวจค้นให้มากยิ่งขึ้น
วอนเห็นใจกทม. ไม่ใช่ต้นตอปัญหาฝุ่น
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า เรื่องฝุ่นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทางเจ้าหน้าที่ กทม. ด้วย ปัญหาฝุ่นมีทุกปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้ทราบได้เลยว่าปริมาณลดลงไปอย่างชัดเจน ท่านผู้ว่าฯ ก็มาได้เกือบ 2 ปีแล้ว และได้ทำอะไรดี ๆ ไว้หลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องใหญ่ จนไปถึงเรื่องนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง-ไส้กรอง โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อลด PM2.5 จากภาคการจราจร รวมทั้งมีการออกนโยบายนำรถอัดฟางมาใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมในกรุงเทพฯ เช่น เขตหนองจอก เพื่อลดการเผา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครใส่ใจในทุก ๆ รายละเอียด
“ปัญหาฝุ่นเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว มีในเรื่องของโครงสร้างอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง วันนี้รถไฟฟ้าเองมีการจดทะเบียนกว่า 10% แล้ว ปลายปีที่แล้วก็มีการซื้อรถไฟฟ้าประมาณ 40% ปัญหาของฝุ่นที่เกิดขึ้นในกทม. ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการใช้รถประมาณ 50% หากเราสามารถให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นได้ก็จะเป็นการดี การขนส่งต่าง ๆ ที่ต้องมีการใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ การย้ายท่าเรือคลองเตยที่ท่านผู้ว่าฯ เสนอมา ทางรัฐบาลเองก็ต้องไปพูดคุยว่าท่าเรือคลองเตยจะต้องมีการย้ายหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีการย้าย ก็จะยังมีการบรรทุกของต่าง ๆ ผ่านเข้ามาในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เยอะ ซึ่งทำให้เกิดปัญหา PM2.5 ยืนยันว่าทางรัฐบาลและทางด้านกทม.ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ แต่ถ้าจะให้ปัญหาเป็นศูนย์เลยในระยะเวลานี้เลยก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นธรรมกับทางท่านผู้ว่าฯ เท่าไร เพราะเชื่อว่าท่านได้พยายามทำอย่างเต็มที่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีความจริงจังจริงใจอยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วน นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องฝุ่นเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ต้องวิเคราะห์ให้ได้อย่างแท้จริงเพื่อจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ที่ผ่านมาเราดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเข้มข้น เช่น การตรวจไซต์งานก่อสร้าง แต่เรื่องรถยนต์หากเราห้ามรถยนต์วิ่งในกรุงเทพฯ จะช่วยเรื่องฝุ่น PM 2.5 หรือไม่นั้น ตรงนี้ต้องมีการคิดอย่างรอบคอบ เพราะที่ผ่านมาในโซนเขตมีนบุรี หนองจอก ฝุ่น PM 2.5 สูงมาก แต่เป็นเขตที่มีปริมาณรถยนต์น้อย แสดงว่าฝุ่นอาจจะมาจากนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนั้นการออกมาตรการต่างๆ ต้องมีการคิดอย่างละเอียดรอบคอบเพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนจำนวนมาก ทั้งนี้ กทม. ได้มีการหารือกับกรมการขนส่งทางบกวางแผนระยะยาวในการลดจำนวนรถยนต์เก่าลง แต่คงต้องออกเป็นรูปแบบกฎหมายและค่อยๆ พัฒนาอย่างรอบคอบ
“เรื่องท่าเรือคลองเตยอยู่ในแผนวาระฝุ่นแห่งชาติอยู่แล้วตั้งปี 2562 เป็นเรื่องที่ต้องมาทบทวนกันว่าเวิร์กหรือไม่เวิร์กอย่างไร แต่เห็นตัวอย่างจากทั่วโลก เช่น ลอนดอน ท่าเรือที่อยู่ในเมืองเขาย้ายออกข้างนอกหมด ซึ่งจะมีผลในการควบคุมน้ำทะเลที่หนุนสูงด้วย หากท่าเรือยังมีเรือใหญ่เข้า-ออกแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ตลอดเราจะควบคุมได้อย่างไร ก็คงมีหลายปัจจัย ซึ่งท่านนายกฯ ก็คงให้ศึกษารายละเอียดให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง” นายชัชชาติ กล่าว
กทม.พร้อมเชื่อมโยงขนส่งสาธารณะ เสริมเส้นเลือดใหญ่รัฐบาล แก้ปัญหารถติด
นายชัชชาติ กล่าวถึงปัญหาการจราจรในกทม. ว่า หัวใจของการแก้รถติดไม่ใช่การทำถนนเพิ่ม แต่หัวใจคือการทำขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลได้ทำเส้นเลือดใหญ่จำนวนมากแล้ว มีรถไฟฟ้าต่าง ๆ สายสีส้ม สีเหลือง สีชมพู สีม่วงใต้ ซึ่งเป็นการทำต่อเนื่องกันมาหลายรัฐบาล แต่ปัญหาคือ ระบบ Feeder ที่จะทำให้คนออกจากบ้านมาถึงรถไฟฟ้าได้ ซึ่งทางกทม.พยายามดำเนินการอยู่ โดยทำทางเดินเท้าเพื่อให้คนสามารถเดินสะดวก ภายใน 4 ปี เราตั้งเป้าทำทางเดินเท้าให้ดีขึ้นอย่างน้อย 1,700 กิโลเมตร เพื่อเป็น First Mile/Last Mile ที่เชื่อมโยงระบบการเดินทางจากบ้าน รถในซอย รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนโครงสร้างหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะแก้ปัญหาในระยะยาว รวมทั้งระเบียบวินัยจราจร โดยกทม.ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับเรื่องไฟจราจร (ไฟเขียว-ไฟแดง) ให้มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องทำกำลังดำเนินการอยู่ และคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปีนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาในอนาคตของกทม. ที่อยากเห็น ว่า การพัฒนาใน กทม. มีหลายมิติ ทั้งเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย การจราจร PM2.5 ความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งต้องให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรม โดยจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคือทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลและกรุงเทพมหานครมีการคุยกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ