'ก้าวไกล' เปิดทีม 'สู้ไฟป่า' แก้ PM 2.5 ชี้ มาตรการห้ามเผา สร้างแรงจูงใจเชิงลบ
“ก้าวไกล” เปิดทีม “สู้ไฟป่า” หวัง บรรเทา ‘ปัญหา PM 2.5-มลพิษทางอากาศ’ ด้าน ’ชัยธวัช‘ ชี้ มาตรการห้ามเผา ไม่ใช่ทางออก แต่อาจกระตุ้น-สร้างแรงจูงใจเชิงลบ ทำให้เกิดผลกระทบเรื่องอื่น ย้ำ ควรแก้ที่แหล่งกำเนิด
เมื่อเวลา 9.40 น. วันที่ 2 มีนาคม 2567 ที่ ร้าน Sol Bar Chiangmai จ.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวเปิดตัว 12 สส. 11 ทีม ‘ก้าวไกลสู้ไฟป่า’ นำโดย
นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พร้อมด้วย สส.ภาคเหนือของพรรค ได้แก่
- น.ส.เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สส.เชียงใหม่ เขต 1
- น.ส.พุธิตา ชัยอนันต์ สส.เชียงใหม่ เขต 4
- น.ส.อรพรรณ จันดาเรือง สส.เชียงใหม่ เขต 6
- นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8
- นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สส.เชียงรายเขต 1
- น.ส.จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สส.เชียงรายเขต 6
- นายฐากูร ยะแสง สส.เชียงรายเขต 3
- นางทิพา ปวีนาเสถียร สส.ลำปาง เขต 1
- นายชลธานี เชื้อน้อย สส.ลำปาง เขต 3
- น.ส.รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สส.ลำปาง เขต 4
โดยนายชัยธวัช กล่าวว่า จากการแลกเปลี่ยนในเวทีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ที่พูดถึงเรื่องแนวทางและเครื่องมือสำหรับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ เรามีความเห็นตรงกันว่า การจัดการไฟป่า ไม่ใช่ทั้งหมดของการแก้ไขปัญหา แต่ยังต้องมีการแก้ปัญหาแหล่งกำเนิด PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ ที่เกิดจากแหล่งอื่นด้วย เพราะในแต่ละพื้นที่มีบริบทที่ต่างกัน การจัดการปัญหาที่สำคัญจึงต่างกัน และอาจต้องมองไปถึงขั้นทุติยภูมิด้วย
นายชัยธวัช ย้ำว่า แม้เรื่องการจัดการไฟป่าสำคัญ แต่การพยายามห้ามไม่ให้เผาเลย ไม่ใช่ทางออก สิ่งที่เราเรียนรู้จาก ‘เชียงใหม่โมเดล’ หัวใจสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อออกแบบมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ปัญหาเบาบางลง
หากพูดเฉพาะเรื่องการจัดการไฟป่า มาตรการที่สั่งจากส่วนกลาง แล้วทำเหมือนกันหมดทั้งประเทศ ไม่ใช่ทางออกแน่ๆ ซ้ำเติมอาจจะนำไปสู่การเกิดปัญหาใหม่ ที่อาจไปกระตุ้น และสร้างแรงจูงใจเชิงลบ และอาจทำให้เกิดการเผาพร้อมกันมากขึ้นในปริมาณมาก ช่วงก่อนและหลังเวลาที่รัฐห้ามเผา รวมถึงการผลักดันให้เกิดการเผาแบบใต้ดิน ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบในเรื่องอื่นๆ
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมของ ‘เชียงใหม่โมเดล’ ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และภาคประชาสังคม คือการอนุญาตให้เผาเฉพาะที่จำเป็นและควบคุมได้ หรือที่เรียกว่าการจัดการเชื้อเพลิง โดยจะให้มีการแจ้งลงทะเบียนการเผา และออกแบบการเผาไว้ล่วงหน้า ทั้งพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมของพรรค ที่จะเข้าไปสนับสนุน และมีส่วนร่วมในการดับไฟป่ากับ คนในท้องถิ่น อาสาสมัครข้าราชการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทดลอง และหารูปแบบใหม่ๆ ในการจัดการไฟป่าที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาแนวทางนโยบายมาตรการในการจัดการไฟป่าที่ดีมากขึ้นในอนาคต
จากนั้นนายเดชรัต ได้อธิบายการทำงานของพรรคก้าวไกลที่ผ่านมา ทั้งการทดลอง สนับสนุนกระบวนการทำงานของประชาชน และหน่วยงานราชการในพื้นที่ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ และประเมินผลสัมฤทธิ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อไปสู่การวางแนวทางในอนาคต
และได้ให้ สส.ภาคเหนือ เล่าถึงปัญหาจากการทำงาน และการแก้ไขปัญหาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ อาทิ โครงการสนับสนุนยุทโธปกรณ์ดับไฟป่า ให้กับอาสาสมัคร, การวางแผนร่วมกับคนในพื้นที่ เพื่อทำแนวกันไฟ และการจัดการเชื้อเพลิง รวมไปถึงการถอดบทเรียนจากสถานการณ์ไฟป่าต่างๆ