ปฏิทิน สส.-สว. ‘3 เรื่องร้อน’ ทิ้งทวน'รัฐสภา'ปิดเทอมใหญ่

ปฏิทิน สส.-สว. ‘3 เรื่องร้อน’ ทิ้งทวน'รัฐสภา'ปิดเทอมใหญ่

ก่อนจะปิดสมัยประชุมรัฐสภา ปีที่ 1 ในช่วงปลายสมัยมีคิวร้อนที่เรื่องสำคัญที่จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

KEY

POINTS

  • 3 เรื่องร้อน ปฏิทินการเมืองก่อน "รัฐสภา" ปิดสมัยประชุมสามัญปีที่ 1 "พ.ร.บ.งบประมาณ" วาระ2-3 ตามด้วย "วุฒิสภา" ทิ้งทวนก่อนหมดวาระยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป และ "ฝ่ายค้าน" ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาลโดยไม่ลงมติ
  • จับตา "ฝ่ายค้าน" และ สว." จะเรียงคิวอภิปรายปัญหากระบวนการยุติธรรม โดยลากประเด็นของ “ทักษิณ ชินวัตร" เข้าสู่รัฐสภา เพราะถูกมองได้รับอภิสิทธิ์เหนือนักโทษรายอื่น
  • ทั้ง 3 เรื่องร้อนก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา จะเป็นเวทีให้ฝ่ายค้านและวุฒิสภาได้ใช้เป็นพื้นที่ในการทำงานตรวจสอบรัฐบาลให้ประชาชนได้รับทราบเท่านั้น

สมัยประชุมรัฐสภา ปีที่ 1 ใกล้จะปิดฉากลงเข้าทุกทีในเดือน มี.ค. 2567 เพราะสมัยประชุมสามัญประจำปีที่ 1 ครั้งที่ 2 ได้เริ่มตั้งแต่ 12 ธ.ค. 2566 จะปิดสมัยในวันที่ 9 เม.ย. 2567

จากนั้นจะปิดเทอมยาว และรอเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ปีที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 3 ก.ค. 2567

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะปิดสมัยประชุมรัฐสภา ปีที่ 1 ในช่วงปลายสมัยมีคิวร้อนที่เรื่องสำคัญที่จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

สำหรับปฏิทินการเมืองร้อน ห้วงท้ายก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา

เรื่องแรก สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท วาระที่ 2-3 เดิมกำหนดวันที่ 3-4 เม.ย. 2567 โดยล่าสุดถูกกำหนดเป็นวันที่ 20-22 มี.ค. 2567  วันที่ 20 มี.ค. เริ่ม09.00-01.00 น.  วันที่ 21 มี.ค. เริ่ม 09.00-24.00 น. วันที่ 22 มี.ค. 09.00-18.00 น. ลงมติวาระ 3 

จากนั้นวุฒิสภาจะมีคิวพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2567 วาระ 2-3 วันที่ 25-26 มี.ค. 2567

เรื่องร้อนที่สอง วันที่ 25 มี.ค. 2567 สมาชิกวุฒิสภา(สว.)นำโดย “เสรี สุวรรณภานนท์”สว.พร้อมคณะ จำนวน 98 คน ได้ยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรี แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตาม มาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ

คาดว่าจะมี สว.ไม่ต่ำกว่า 36 คน ขึ้นเรียงคิวชำแหละภาพรวมรัฐบาลเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ สว. 250 คน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจะพ้นวาระ

ปฏิทิน สส.-สว. ‘3 เรื่องร้อน’ ทิ้งทวน\'รัฐสภา\'ปิดเทอมใหญ่

สำหรับภาพรวมที่ สว.จะลุกขึ้นอภิปรายจะพุ่งเป้าที่ไป ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงผ่านนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท

"เสรี สุวรรณภานนท์" เคยท้วงติงถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ และในอนาคตจะเป็นภาระทางการคลังของประเทศหรือไม่ รวมถึงปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย และช่องทางรั่วไหลอื่นๆ"

ปฏิทิน สส.-สว. ‘3 เรื่องร้อน’ ทิ้งทวน\'รัฐสภา\'ปิดเทอมใหญ่

สว.เตรียมหยิบยกปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการพักโทษของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกมองว่าเป็นนักโทษเทวดา ได้รับอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องขังรายอื่น

โดย “กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” สว.อีกคนก็ประกาศว่า “ผมพร้อมมาก เพราะสิ่งที่ไม่ถูกไม่ต้องปล่อยกันอย่างนี้ จะไปสอนลูกหลานอย่างไร ถ้าหากว่าละเมิดกฎหมายทุจริตกัน แล้วกลับบ้านหน้าตาเฉย แล้วยังให้ลูกน้องส่งสัญญาณ ว่าถ้าใครพูดเรื่องนี้จะฟ้อง ผมคิดว่าจากความกลัว ก็จะกลายเป็นไม่กลัวแล้ว” 

ปัญหาด้านพลังงาน อาทิ การจัดการราคา ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มและน้ำมัน ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน

คิวร้อนเรื่องสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา ปีที่ 1 คือ สภาผู้แทนราษฎรจะเปิดเวทีให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย “พรรคก้าวไกล” ยื่นญัตติขอเปิดการอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือข้อเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 คาดว่า รัฐบาลจะเปิดให้สภาฯ ได้อภิปรายในวันที่ 3-4 เม.ย. 2567

พิธา ศิริกัญญา

เรื่องร้อนที่ “ฝ่ายค้าน” จะหยิบมาโจมตีรัฐบาล อาทิ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเศรษฐา กว่า 6 เดือนยังไม่ได้ดำเนินการ หรือปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชนเพิกเฉยต่อคำแถลงนโยบายของตนเองที่ได้ให้ไว้ต่อรัฐสภา

นโยบายที่รัฐบาลได้ชูไว้ขณะหาเสียง คือ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือน ปริญญาตรี 25,000 บาทจะทำได้จริงหรือไม่

นโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งถูกมองว่า “หาเสียงไม่ตรงปก” เพราะสุดท้ายต้องมีการออก พ.ร.บ.เพื่อมากู้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ

อีกเรื่องร้อนสำคัญหนีไม่พ้นเรื่องปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ “ฝ่ายค้าน” พร้อมลากประเด็นของ “ทักษิณ” ขึ้นมาอภิปรายในสภาฯ

คิวร้อนทั้ง 3 เรื่องสำคัญก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภาจะเป็นโอกาสดีที่ “ฝ่ายค้าน”และ “วุฒิสภา” จะใช้เวทีรัฐสภา เพื่อให้ข้อเสนอแนะและการทำงานต่อรัฐบาล ในการจัดทำงบประมาณและปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้วยเงื่อนไขและสถานการณ์ทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องผนึกเสียงที่มีอยู่ 314 เสียงให้แน่นไปก่อน

ทำให้ฝั่งรัฐบาลประเมิน ทั้ง 3 เรื่องร้อนก่อนปิดสมัยประชุม เป็นเวทีให้ฝ่ายค้านและวุฒิสภาได้ใช้เป็นพื้นที่ในการทำงานตรวจสอบรัฐบาลให้ประชาชนได้รับทราบเท่านั้น และยังไม่สามารถสร้างพลังอย่างเพียงพอในการคว่ำรัฐบาลหรือมีผลให้นายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งได้