'ประเดิมชัย'ปูดโครงการเช่ารถอีวีเก็บขยะ กทม. 4 พันล้านบ. ส่อพิรุธ-ล็อกสเปค

'ประเดิมชัย'ปูดโครงการเช่ารถอีวีเก็บขยะ กทม. 4 พันล้านบ. ส่อพิรุธ-ล็อกสเปค

“ประเดิมชัย” อดีต สส.กทม. จี้ “ชัชชาติ” สอบโครงการเช่ารถ EV เก็บขยะของ 4 พันล้านบ. เผยพิรุธอื้อตั้งแต่ที่มาโครงการ-กำหนดราคากลาง พบผู้ถือหุ้นบริษัทเอกชนที่มีส่วนเสนอเอกสารตั้งราคากลาง เป็นที่ปรึกษาโครงการ ติดใจอาจไม่เป็นกลาง-ล็อกสเปค ซ้ำรอยค่าโง่รถ-เรือดับเพลิง

นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ อดีต สส.กทม. เปิดเผยว่า ตนได้ยื่นหนังสือถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าของ กทม. จำนวน 4 โครงการ รวม 842 คัน เนื่องจากได้รับคำร้องเรียนจากข้าราชการของ กทม.ว่า มีความอึดอัดไม่กล้าทำงาน เนื่องจากเกรงว่า หากดำเนินการไปแล้วจะมีปัญหาตามมา เนื่องจากการดำเนินการของคณะกรรมการกำหนดราคากลางของโครงการ ที่มี นายภานุวัฒน์ อ่อนเทศ ผอ.ส่วนบริหารจัดการมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เป็นประธาน มีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่ต้น

นายประเดิมชัย กล่าวต่อว่า จากข้อมูลที่ได้รับพบว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้ส่งเอกสารไปยังบริษัทต่างๆจำนวน 35 บริษัท เพื่อขอให้ส่งใบเสนอราคาเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาด 5 ตัน มาเพื่อประกอบการกำหนดราคากลางของโครงการฯ ปรากฎว่า มีเพียง 2 บริษัทที่ส่งเอกสารกลับมา ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคากลางได้ เพราะตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ระบุว่าการกำหนดราคากลางที่ไม่มีการกำหนดไว้ในบัญชีมาตฐานครุภัณฑ์ต้องมีข้อมูลเปรียบเทียบอย่างน้อย 3 บริษัท 
 

อย่างไรก็ตาม นายภานุวัฒน์ กลับแจ้งคณะกรรมการฯ ว่า มีบริษัทที่ 3 ส่งรายละเอียดใบเสนอราคามาให้ นายภาณุวัฒน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ โดยตรง และนำมาประกอบการกำหนดราคากลาง ซึ่งตนมองว่าเป็นความไม่ชอบมาพากลอย่างยิ่ง เพราะหากเอกชนจะให้ความร่วมมือก็ต้องทำหนังสือตอบรับมาที่คณะกรรมการฯ ไม่ใช่ประสานไปที่ตัวบุคคลอย่างที่เกิดขึ้น

นายประเดิมชัย ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้ขอข้อมูลเฉพาะตัวพลังงานรถไฟฟ้า ที่กำหนดขนาดของตัวรถไว้ที่ GVW 15 ตัน และ 8.5 ตัน โดยมี 2 บริษัท ที่ให้ข้อมูลตัวรถพร้อมตัวถัง ได้แก่ บริษัท อิทธิพรอิมปอร์ต จำกัด (บจ.อิทธพรฯ) และ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด (บจ.ซีพี โฟตอนฯ) แต่มี 3 บริษัท ที่ส่งข้อมูลเฉพาะตัวรถ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวถังให้กับคณะกรรมการฯ 

"ผมจึงมีคำถามว่า เมื่อข้อมูลไม่ครบถ้วนเช่นนี้ คณะกรรมการฯ สามารถกำหนดรายละเอียดตัวรถพร้อมตัวถังได้อย่างไร ที่สำคัญ คณะกรรมการฯ ไม่ได้นำข้อมูลตัวรถพร้อมตัวถังที่ทาง บจ.อิทธิพรฯ และ บจ.ซีพี โฟตอนฯ ส่งให้ มาพิจารณาประกอบด้วย โดยหากนำมาพิจารณาก็จะพบว่า น้ำหนักบรรทุกขยะไม่ได้ตามข้อกำหนดของทางราชการ"
 

นายประเดิมชัย กล่าวอีกว่า อีกข้อสังเกตหนึ่งก็พบว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ที่เป็นที่ปรึกษาโครงการ มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นฃองบริษัท เอเชียพลัส อีวี จำกัด (บจ.เอเชียพลัสฯ) ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายี่ห้อ NEX POINT ที่ยื่นใบเสนอราคาเข้ามา แล้วเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปใช้กำหนดราคากลาง จะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการหรือไม่ 

รวมไปถึงในส่วนของ บริษัท ไทยอีวี จำกัด (บจ.ไทยอีวีฯ) ที่เสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายี่ห้อ JAC เข้ามาแข่งขัน แต่จากการตรวจสอบแคตตาล็อคในเว็บไซต์บริษัทผู้ผลิตกลับไม่มีรุ่นที่ทาง บจ.ไทยอีวีฯ เสนอมา และน้ำหนักของตัวรถค่อนข้างเบา ไม่น่าจะเป็นข้อมูลจริง อาจจะเป็นแคตตาล็อคที่จัดทำขึ้นมาเองหรือไม่

“อยากให้ผู้ว่าฯชัชชาติ ตรวจสอบที่มาของข้อมูลในการกำหนดราคากลางของโครงการนี้ว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และข้อเสนอของบริษัทต่างๆ มรควาทถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถือเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีส่วนได้เสียทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันหรือไม่ด้วย” นายประเดิมชัย ระบุ

นายประเดิมชัย กล่าวด้วยว่า โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าของ กทม.ที่ดำเนินการครั้งนี้มีทั้งสิ้น 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 2 ตัน จำนวน 152 คัน มูลค่า 658,075,792 บาท, 2.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 5 ตัน จำนวน 464 คัน มูลค่า 2,372,339,200 บาท, 3.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบยกภาชนะรองรับมูลฝอย ขนาด 3 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 102 คัน มูลค่า 387,776,664 บาท และ 

4.โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบยกภาชนะรองรับมูลฝอย ขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 124 คัน วงเงิน 575,569,808 บาท มูลค่ารวม 3,993 ล้านบาทเศษ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากรถเก็บขยะเดิมจะทยอยหมดสัญญาเช่าช่วงปลายปี 2567 ที่จะถึงนี้

“ด้วยเงื่อนเวลาที่รถเก็บขยะเดิมจะหมดสัญญาเช่า ทำให้ต้องเร่งรีบดำเนินการ แต่ด้วยความเป็นของใหม่ยังไม่เคยมีการใช้รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าใช้มาก่อน ทำให้หลายอย่างไม่ลงตัว จึงต้องการให้ตรวจสอบรายละเอียดอย่างรอบคอบว่า สามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ เพราะไม่อยากให้ กทม. ต้องเสียหายกว่า 3 พันล้านบาท หรือต้องมาฟ้องร้องเรียกค่าโง่คืนเหมือนโครงการรถและเรือดับเพลิงของ กทม.ในอดีต” นายประเดิมชัย กล่าว

นายประเดิมชัย ยกตัวอย่างด้วยว่า ตามรายละเอียดของโครงการมีการจัดหารถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาดความจุ 5 ตัน แต่ในความเป็นจริงรถประเภทนี้ใช้แบตเตอรีขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถบรรทุกขยะในปริมาณ 5 ตันได้ ต้องลดขนาดของรถให้เล็กลงมาเพื่อบรรทุกขยะให้ได้ 5 ตันตามที่กำหนด ด้วยวีธีลดขนาดถังอัดจากใช้เหล็ก 4 มิลลิเมตร เหลือ 3 มิลลิเมตร แต่พอเอาเข้าจริงในการทดลองใช้ก็ไม่สามารถใช้การได้จริง 

โดยเรื่องนี้เคยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) นำเรื่องไปสอบถามในสภา กทม. ได้รับคำตอบจาก นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ว่า สเปครถเหมือนเดิมทุกอย่าง เว้นแต่พลังงานที่เปลี่ยนจากการสันดาปน้ำมันมาเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่สุดท้ายเมื่อไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง เพราะไม่สามารถบรรทุกขยะได้ตามที่ กทม.ต้องการ จึงต้องตรวจสอบสเปคของทั้งถังอัดขยะ ขนาดแบตเตอรี่ เพราะไม่ต้องการให้ กทม.ต้องเสียหายไปกว่า 3 พันล้านบาท โดยเปล่าประโยชน์ ท้ายสุดถ้ารถที่ได้มาไม่สามารถใช้งานได้จริงจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บขยะและส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชน 

“ข้อมูลที่ผมได้รับมา ทำให้สงสัยว่า มีการเขียนโครงการในลักษณะล็อกสเปคหรือไม่ และมีผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาในกระบวนการศึกษาโครงการนำรถขยะไฟฟ้ามาทดแทนรถน้ำมัน ทำได้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่ ที่สำคัญตามระยะเวลาที่ต้องจัดหารถขยะพลังงานไฟฟ้ามาทดแทนรถขยะชุดเดิมที่จะหมดสัญญาภายในปลายปี 2567 นี้ ถ้าดูตามกรอบเวลา ผู้ประกอบการคงไม่สามารถจัดหารถมาส่งมอบได้ทัน นอกเสียจากรู้ว่าจะชนะการประมูล และสั่งรถมาสำรองไว้ล่วงหน้าแล้ว” นายประเดิมชัย ระบุ