กมธ.การเมืองฯ เชิญ กกต.แจงระเบียบเลือกตั้ง สว. หวั่นมีฮั้ว-ไม่โปร่งใส

กมธ.การเมืองฯ เชิญ กกต.แจงระเบียบเลือกตั้ง สว. หวั่นมีฮั้ว-ไม่โปร่งใส

'พริษฐ์' เผย กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เชิญ กกต.แจงระเบียบเลือกตั้ง สว. ห่วงอาจมี 'ฮั้ว-ไม่โปร่งใส' ชวนประชาชนจับตาเปิดเกณฑ์ผู้สมัคร เม.ย.นี้ กังวลคลอดระเบียบไม่กำหนดกรอบเวลารับรองผล ทำ สว.ชุดเก่ารักษาอำนาจไม่มีกำหนด

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองฯ แถลงถึงการติดตามตรวจสอบ กระบวนการคัดเลือก สว.ชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ว่า เราได้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ามาให้ข้อมูล โดย กมธ.มีความกังวลอยู่ 2 ประเภทคือ

ข้อมูลเชิงหลักการ เพราะอำนาจและที่มาของ สว.ชุดใหม่ อาจจะยังไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากลที่ควรจะเป็น เพราะ สว.ชุดใหม่ถึงแม้จะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกฯ แต่ยังคงมีอำนาจในการยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีอำนาจพิจารณาหรือรับรองตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งถือว่ามีอำนาจสูง อาจมีที่มาจากกระบวนการไม่ยึดโยงกับประชาชนโดยตรงผ่านการเลือกตั้ง

ข้อมูลเชิงปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้กระบวนการที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพ โปร่งใส่ รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด ในเรื่องของการรับสมัครที่อาจจะยังไม่มีความชัดเจนมากนัก รวมถึงการตีความถือหุ้นสื่อที่เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครจะตีความระดับไหน รวมถึงคุณสมบัติของผู้รับรอง มีหลายส่วนที่ยังไม่ชัดเจน โดย กกต.ได้ชี้แจงว่าก่อนกลางเดือน เม.ย.จะมีประกาศเรื่องคุณสมบัติอีกครั้ง

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติ หากมีการปฏิเสธผู้สมัครระดับอำเภอ ผู้สมัครสามารถยื่นคำโต้แย้งได้ ซึ่งเราได้ตั้งข้อสังเกตไปว่าหากตัวผู้สมัครมากในระดับหลักแสนคน เกรงว่าจำนวนคำโต้แย้งมากเช่นกัน กรอบเวลาที่วางไว้ถือว่าเป็นกรอบที่กระชั้นชิด ที่ศาลฎีกาต้องพิจารณาเรื่องโต้แย้งให้เสร็จทันก่อนที่จะเลือกระดับอำเภอ ทาง กมธ.จึงได้เสนอแนะว่าอยากให้ทำแผนรับรองในเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่าจะมีบุคลากร ว่าจะมีจำนวนบุคคลพิจารณาข้อโต้แย้งให้ทันก่อนกรอบเวลา ในการคัดเลือกระดับอำเภอได้อย่างไร ส่วนเรื่องของการแนะนำตัว รณรงค์ผู้สมัคร โดย กกต.ชี้แจงว่าจะมีระเบียบมาช่วงกลางเดือน เม.ย.เช่นกัน และยืนยันว่าจะมีการทำแพลตฟอร์มที่จะเผยแพร่ข้อมูล และเอกสารแนะนำตัว 5 บรรทัดของผู้สมัครทุกคน ทุกอำเภอ ทุกอาชีพ กมธ.จึงให้ข้อเสนอแนะว่าอยากให้เป็นระเบียบที่เปิดกว้าง เสรีภาพ กับประชาชนให้มากที่สุด รวมถึงมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีข้อสังเกตว่าบัตรเลือกตั้งถูกออกแบบมามีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทุจริต การฮั้ว การส่งสัญญาณผ่านบัตรเลือกตั้ง ซึ่งเราได้รับคำยืนยันจาก กกต.ว่าจะมีการอนุญาตให้ผู้สังเกตการอิสระ สื่อมวลชน เข้าไปสังเกตการนับคะแนนได้ ส่วนเรื่องการรับรองผลที่ไม่มีการระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะต้องรับรองผลภายในกี่วัน แต่มีการระบุว่าให้ กกต.รับรองผลหากเห็นว่าการคัดเลือกตั้งดังกล่าวเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม จึงทำให้เกิดคำถามว่า หากมีข้อร้องเรียนเยอะหรือ กกต.สงสัย อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการรับรองผลได้ ซึ่งจะทำให้ สว.ชุดปัจจุบันสามารถรักษาการต่อไป ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีกำหนดได้ เราจึงอยากให้ กกต.ให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าจะสามารถรับรองผลได้ภายในกี่วัน

“แม้กระบวนการดังกล่าว เป็นกระบวนการซับซ้อน และอาจจะยังขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เนื่องจากไม่ได้เป็นการเปิดเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง แต่เราคิดว่าภายใต้กติกาที่จำกัดอยู่นี้ สิ่งที่เราทำได้คือการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน เราจึงย้ำต่อ กกต.ว่าให้เร่งทำงานในการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้ประชาชนและผู้ที่สนใจรับคัดเลือกเป็น สว.ได้เข้าถึงข้อมูลอย่างครบถ้วนที่สุด และให้กระบวนการดังกล่าว โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ” นายพริษฐ์ กล่าว