เปลี่ยน‘ปชป.’ เป็น'พรรคมิตร' ปิดฉาก 23 ปี ศัตรู'ขั้วทักษิณ' ?
จับตา ท่าที "ประชาธิปัตย์" ยุค "เฉลิมชัย" กำลังจะแปรเปลี่ยนจาก "พรรคศัตรู" คู่แข่งพรรคการเมือง "ขั้วทักษิณ" มาเป็น "พันธมิตร" รอจังหวะเสียบร่วมรัฐบาล "เพื่อไทย" ปิดฉาก "พรรคศัตรู" ในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่
KEY
POINTS
- เสียงลือเสียงเล่าอ้างเริ่มหนาหู "ประชาธิปัตย์" ขั้ว "เฉลิมชัย-เดชอิศม์" ทอดสะพานหวังร่วมรัฐบาล โดยมี 21 สส.เป็นพลังต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี
- "ประชาธิปัตย์" กำลังถูกมองว่าแปรเปลี่ยนจาก "พรรคศัตรู" คู่อาฆาต "พรรคการเมือง" ขั้ว "ทักษิณ" มาเป็น "พันธมิตร"
- "ประชาธิปัตย์" ตลอด 23 ปีที่ผ่านมาต่อสู้กับ "ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย" มักพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งทุกครั้ง
- "ประชาธิปัตย์" ไม่ใช่พรรคการเมืองขั้วใหญ่ที่จะช่วงชิงอำนาจกับ "พรรคเพื่อไทย" อีกต่อไป หลังจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นต้นมา
- "ประชาธิปัตย์" ตกต่ำได้ สส.25 คน หลังรู้ผลเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566
KeyPoints
- เสียงลือเสียงเล่าอ้างเริ่มหนาหู "ประชาธิปัตย์" ขั้ว "เฉลิมชัย-เดชอิศม์" ทอดสะพานหวังร่วมรัฐบาล โดยมี 21 สส.เป็นพลังต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี
- "ประชาธิปัตย์" กำลังถูกมองว่าแปรเปลี่ยนจาก "พรรคศัตรู" คู่อาฆาต "พรรคการเมือง" ขั้ว "ทักษิณ" มาเป็น "พันธมิตร"
- "ประชาธิปัตย์" ตลอด 23 ปีที่ผ่านมาต่อสู้กับ "ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย" มักพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งทุกครั้ง
- "ประชาธิปัตย์" ไม่ใช่พรรคการเมืองขั้วใหญ่ที่จะช่วงชิงอำนาจกับ "พรรคเพื่อไทย" อีกต่อไป หลังจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นต้นมา
- "ประชาธิปัตย์" ตกต่ำได้ สส.25 คน หลังรู้ผลเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566
“ประชาธิปัตย์” พรรคการเมืองที่เรียกได้ว่าเป็น“ขั้วตรงข้าม”กับพรรคการเมืองดีเอ็นเอ “ทักษิณ” มาตั้งแต่ยุค ไทยรักไทย พลังประชาชน และปัจจุบันคือ “เพื่อไทย”
แทบไม่น่าเชื่อว่าจากปี 2544 ให้หลังมา 23 ปี “พรรคศัตรู” ที่ต่อสู้ทางการเมืองกันมาอย่างดุเดือด กลับมีทีท่า จะแปรเปลี่ยนมาเป็น “พรรคมิตร”
กระแสดีลลับสัญญาใจภายในระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” กับ “พรรคเพื่อไทย” หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566
โดยเฉพาะ “ประชาธิปัตย์” สาย “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันและ “เดชอิศม์ ขาวทอง” เลขาธิการพรรค ที่ต้องการเก้าอี้รัฐมนตรี และต้องการร่วมรัฐบาลเพื่อไทย เริ่มมีมูลขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อ สส.ในกลุ่มของ “เฉลิมชัย-เดชอิศม์” มีถึง 21 สส. เป็นกลุ่มที่สร้างพลังต่อรองในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้ และยังสามารถทำให้รัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน” มีเสียงที่แข็งแกร่งขึ้น จาก 314 เสียง เป็น 336 เสียงโดยทันที
พร้อมทิ้ง 4 สส.ประชาธิปัตย์ขนานแท้ อย่าง "ชวน หลักภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" และ "สรรเพชญ บุญญามณี" สส.สงขลา ออกจาก “สมการ” พรรครัฐบาล
23 ปี ปชป. ต้าน "พรรคทักษิณ"
ย้อนไปดูศึก “ห้ำหั่น” กันระหว่างความเป็นศัตรูทางการเมืองระหว่างประชาธิปัตย์ กับ 3 ยุคของพรรคทักษิณ ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย
23 ปีที่ผ่านมา "ประชาธิปัตย์" มักถูกยกให้เป็นตัวตายแทนตัวแทนของกลุ่มคนที่ไม่เอา “ทักษิณ” และยังมีวาทกรรมต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” มาโดยตลอด
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2544 เป็นครั้งแรกที่ประชาธิปัตย์ยุคปลายของหัวหน้า “ชวน หลีกภัย” ต่อสู้กับ “ไทยรักไทย” พรรคการเมืองน้องใหม่ในขณะนั้น ที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นหัวหน้าพรรค
ผลการเลือกตั้งปี 2544 ประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งมาเป็นที่ 2 ได้ สส.128 คน แพ้ให้กับไทยรักไทยที่กวาด สส.มาได้ 248 คน ด้วยแคมเปญ “คิดใหม่ ทำใหม่”
4 ปีต่อมา ประชาธิปัตย์เปลี่ยนหัวมาเป็น “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ต่อสู้กับไทยรักไทยที่ได้ครองเสียงในสภาฯ อย่างท่วมท้น จนสามารถเป็นรัฐบาลในประวัติศาสตร์ อยู่ครบเทอม 4 ปี
“ไทยรักไทย” ยุคนั้น กวาดต้อน สส.หลายพรรคหลายมุ้งเข้าร่วม ชูม็อตโต้ “4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง” ชนะใจคนไทยเกือบทุกภูมิภาค ชนะเลือกตั้งเมื่อ 6 ก.พ. 2548 ได้ สส.377 เสียง แลนด์สไลด์ไม่ไว้หน้าประชาธิปัตย์ที่แพ้ยับเยิน จำนวน สส.ลดลง เหลือเพียง 96 ที่นั่ง
เวลาต่อมา ประชาธิปัตย์ผลัดใบ ใช้ภาพลักษณ์นักการเมืองมาดผู้ดี รูปหล่อ ยุค “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นหัวหน้าพรรค ลงสู้ศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550
“ประชาธิปัตย์” ถูกยกเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้าม “ระบอบทักษิณ”อีกครั้ง ในการเลือกตั้งหลังผ่านการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549
ประชาธิปัตย์ยุคนี้ ยังถูกมองว่าเป็นพรรคที่ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) แอบให้กำลังใจอยู่ห่างๆ เพราะต้องการให้มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อยับยั้งไม่ให้ “พรรคพลังประชาชน” พรรคที่สองของไทยรักไทยที่ถูกยุบ กลับมาผงาดได้อีก
ทว่า ผลเลือกตั้งปี 2550 “ประชาธิปัตย์” กลับต้องพ่ายแพ้อีกครั้ง แต่ยังได้ สส.ทั้งประเทศ 164 คน
ขณะที่ “พลังประชาชน” ภายใต้การนำของ “สมัคร สุนทรเวช” ที่มีภาพลักษณ์จงรักภักดีต่อสถาบัน นำพรรคคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้ สส.เกือบครึ่งสภาฯ 233 คน
ต่อมา “พลังประชาชน”ถูกยุบพรรคอีกครั้ง ส่วน “ประชาธิปัตย์”แม้จะแพ้เลือกตั้ง แต่กลับพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
แพ้เลือกตั้ง พลิกขั้วตั้งรัฐบาลค่ายทหาร
“อภิสิทธิ์” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก และครั้งเดียวในปลายปี 2551 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ “จัดตั้งรัฐบาล” ใน“ค่ายทหาร”
“ประชาธิปัตย์” ยุค “อภิสิทธิ์” ยังคงถูกยกให้ต่อสู้กับ “พรรคเพื่อไทย” ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554
ขณะที่เพื่อไทยชู “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ภายใต้แคมเปญ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” มีน้องสาวเป็นโคลนนิ่งของ “ทักษิณ” เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ
ผลเลือกตั้งปี 2544 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ และพลพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ได้ สส.ทั้งประเทศเพียง 159 คน ขณะที่ “เพื่อไทย” คว้าชัยถล่มทลาย กวาด สส. 265 คนเข้าสภาฯ
เลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 “ประชาธิปัตย์” ยังขายแบรนด์ “อภิสิทธิ์” สร้างจุดยืนทางการเมือง เป็นพรรคการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่ไม่เอาทั้งขั้ว คสช. และขั้วเพื่อไทย พยายามสร้างความแตกต่าง เพื่อเป็น “พรรคขั้วที่ 3” แต่อุดมการณ์ดังกล่าว กลับไม่สามารถทำให้ประชาธิปัตย์ประสบชัยชนะ นอกจากความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน
นับจากนั้นมา ประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่พรรคการเมืองขั้วที่ 2 อีกต่อไป
ปชป. ตกต่ำเป็นพรรคไม่ถึงร้อยเสียง
ผลเลือกตั้งปี 2562 แพ้หนักแบบหมดรูป ได้ สส.มาเพียง 53 ที่นั่ง จน “อภิสิทธิ์” ต้องโชว์สปิริต ลาออกหัวหน้าพรรค และสส.
การเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ตอกย้ำอีกครั้งว่า “ประชาธิปัตย์” ไม่ใช่พรรคใหญ่ ที่ช่วงชิงอำนาจกับ“เพื่อไทย” อีกต่อไป หลังจาก“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคขณะนั้น นำประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2562 กลายเป็นอาฟเตอร์ช็อกเขย่า "ประชาธิปัตย์" จนพ่ายแพ้ในหลายพื้นที่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด โดยเฉพาะฐานเสียงภาคใต้ ถูกเจาะอย่างไม่เหลือบารมี “ชวน หลีกภัย”
“ประชาธิปัตย์” ยุค “จุรินทร์” เหลือ สส.เพียง 25 คน ตกต่ำย่อยยับที่สุดในรอบ 23 ปีนับแต่ต่อสู้กับ “ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย”
ยิ่ง “ประชาธิปัตย์” ยุค “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ที่มีความพยายามจะเข้าร่วมรัฐบาลกับ“เพื่อไทย”มาอย่างต่อเนื่อง
ทำให้น่าคิดไม่น้อยกว่า ในอนาคต ที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็น “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่" จะเลือกทางเดิน ฟื้นฟูพรรคกลับมาเป็นขั้วใหญ่ เพื่อแข่งกับ“เพื่อไทย” หรือพอใจเพียงแค่พร้อมร่วมรัฐบาลได้ทุกขั้ว
หากจุดยืนประชาธิปัตย์ในยุคนี้ ลดระดับเหลือเพียงพรรคอะไหล่ ย่อมเป็นการปิดฉาก “พรรคศัตรู” ของขั้ว “ทักษิณ”ในทันที