'กกต.' เก็บข้อมูล 'คอร์สอบรมว่าที่ผู้สมัคร สว.' ตั้งรับหากมีร้องเรียน
“รองเลขาฯกกต.” เผยเก็บข้อมูลคอร์สทำความรู้จักฮั้วสมัคร สว.แล้ว ปัดนิ่งเฉยละเลย พร้อมประสาน 26 หน่วยงานตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครป้องกันสภาผัวเมีย
ที่รัฐสภา ในการสัมมนา “บทบาทหน้าที่ อำนาจ และการได้มาซึ่งวุฒิสภาชุดใหม่ 2567 นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวตอนหนึ่งถึงกรณีที่มีการกระแสข่าวการจัดตั้ง หรือจัดอบรมสัมมนา เรียกเก็บเงินเพื่อทำความรู้จักกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการลงสมัครเป็น สว. ว่า กกต.มีการเก็บข้อมูล และมีเครือข่ายพื้นที่แล้ว ดังนั้นใครจะไปดำเนินการที่อำเภอไหน ตำบลใด สำนักงาน กกต.ในจังหวัด มีข้อมูลทั้งหมด เพื่อเตรียมนำไปประกอบการพิจารณาหากมีเหตุร้องเรียน โดย กกต.ไม่ได้นิ่งเฉย หรือละเลย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความเท่าเทียมแก่ผู้สมัครทุกคน
รองเลขาธิการ กกต.กล่าวด้วยว่า สำนักงาน กกต.ได้เตรียมความพร้อมในการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกวุฒิสภา เนื่องจากสว.ปัจจุบันจะหมดวาระในวันที่ 11 พ.ค.นี้ ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาแล้ว ซึ่งหลังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสว.แล้ว กกต.จะกำหนดวัน กำหนดการต่าง ๆ รวมถึงวันเลือกระดับอำเภอ และจังหวัด รวมถึงในเร็ว ๆ นี้ จะมีการออกประกาศ ขยายความกลุ่มอาชีพ สว.ว่าครอบคลุมตำแหน่งใดบ้าง อาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่หากผู้สมัครยืนยัน และมีพยานรับรองความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นสามารถลงสมัครได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในงานสัมมนามีผู้ที่สอบถาม กกต. ต่อการตรวจสอบผู้สมัคร สว. ที่เป็นบุพการี-บุตรนอกสมรส และการฮั้วการเลือกกันเองของผู้สมัคร นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า สำนักงาน กกต.มีหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยในการตรวจสอบกลั่นกรอง 26 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ทั้งฐานข้อมูลพรรคการเมือง ตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่ง กกต.มีเวลา 5 วัน ตรวจสอบหลังการรับสมัครเลือกตั้ง และสำนักงาน กกต.ทุกจังหวัด สามารถตรวจสอบได้ในบางเรื่องบางประการที่ กกต.มีข้อมูล แม้ตรวจไม่พบ แต่ผ่านการเลือกตั้ง มาระดับอำเภอ และจังหวัดมาแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นโมฆะ หรือเจอในชั้นใด ก็ลบชื่อในชั้นนั้นได้ และผู้สมัคร สามารถร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้
"การแนะนำตัวผู้สมัครในกลุ่มนั้น จะต้องรอระเบียบจาก กกต.ที่จะออกประกาศ แต่ขอให้งดเว้นการหาเสียงก่อน แต่สามารถเปิดเผยแนะนำตัวตนตนเองได้ ส่วนกรณีการตรวจสอบสถานะการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐนั้น กกต.ยึดหลักตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่หากเข้าองค์ประกอบใด ก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ผู้สมัครก็สามารถสอบถามไปยังหน่วยงานต้นสังกัดได้ กกต.เชื่อว่า การรับสมัคร สว.ครั้งนี้ จะมีผู้สมัครรวมทั้งประเทศจำนวนมาก แต่เมื่อเข้าสู่ระดับจังหวัดแล้ว เชื่อว่า จะเหลือจังหวัดละประมาณ 500 คน" รองเลขาธิการ กกต. กล่าว
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.ในฐานะกมธ.พัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า มั่นใจว่า สว.ชุดใหม่ จะเป็นชุดแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่มีการเลือกตั้งทางอ้อม และยังคงมีบทบาทสำคัญว่าจะมีส่วนร่วมแก้ไข หรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ เพราะ สว.ยังมีบทบาทร่วมลงมติ 1 ใน 3 หรือ 67 เสียงจาก 200 เสียงด้วย และอาจจะเป็นเรื่องแรกที่วุฒิสภาชุดใหม่ จะต้องพิจารณา ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับ สว.ชุดใหม่ว่า จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ประสบความสำเร็จหรือไม่
นายคำนูณ ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า เป็นร่างกฎหมายงบประมาณประวัติศาสตร์ ที่เป็นการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลมากที่สุด แต่วุฒิสภาไม่มีอำนาจแก้ไข และจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จในวาระเดียวเท่านั้น จึงถือเป็นหน้าที่ของ สว.ชุดใหม่ ที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในงานสัมมนาดังกล่าว มีผู้ร่วมสัมมนาเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง โดยส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่สนใจลงสมัครเป็นสว.