'ไชยา'ขึ้นบินดูทำฝนหลวง 11 เม.ย. คลี่คลายฝุ่นเชียงใหม่-ภาคเหนือตอนบน 50%
"ไชยา" ขึ้นบินดูทำฝนหลวง 11 เม.ย.นี้ หวังคลี่คลายฝุ่นเชียงใหม่-ภาคเหนือตอนบนลดลง 50% เผยต้องใช้น้ำเย็นแทนน้ำแข็งแห้ง
9 เม.ย.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ
ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งมีภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหา จึงสั่งการให้กรมฝนหลวงฯ นำเครื่องบินขึ้นทำฝนหลวง เพื่อดัดแปลงสภาพอากาศของภาคเหนือตอนบนทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์พื้นที่ภาคเหนือตอนบนทั้งหมด โดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย ปริมาณฝุ่นจะลดลงอย่างต่ำ 50% ของพื้นที่ และในช่วงเวลาเดียวกันจะมีการวางแผนทำฝนหลวงควบคู่ไปด้วย เนื่องจากสภาพสภาพอากาศในช่วงดังกล่าวเหมาะกับการทำฝนหลวง ซึ่งการปฏิบัติการดังกล่าวเรียกว่าเป็นการลดอุณหภูมิของสภาพอากาศ เพื่อให้ฝุ่นในชั้นล่างลอยขึ้นไปด้านบนได้ วิธีนี้จะช่วยให้ฝุ่นลดความแออัดลงได้ถึง 50% เช่นเดียวกัน
นายไชยา ยอมรับว่า การทำฝนหลวง อย่างมีอุปสรรคเราต้องใช้น้ำเย็น ในขณะที่ประสิทธิภาพการทำฝนหลวงจริงๆ ต้องใช้น้ำแข็งแห้ง แต่น้ำแข็งแห้งสามารถผลิตได้ที่เดียวคือที่ระยอง ดังนั้นการขนย้ายจากระยองมาเชียงใหม่จึงเป็นปัญหาอุปสรรค เพราะถ้ามีการขนมาประสิทธิภาพอาจลดลง จึงต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการใช้น้ำเย็น
และในวันที่ 11 เมษายนนี้ จะขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงด้วยตัวเอง ซึ่งการขึ้นไปเพราะอยากรู้การทำงานมีขั้นตอนอย่างไร โดยต้องอาศัยเทคนิคการคำนวนทิศทางลม ความชื้นของชั้นบรรยากาศ หากไม่ได้ขึ้นไปด้วยตัวเองก็จะอธิบายกับสังคมไม่ได้ จึงไม่อยากให้ด้อยค่ากรมฝนหลวง เนื่องจากทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีของศาสตร์พระราชา และปฏิบัติการฝนหลวงสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จริง และตอนนี้มีข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนหลายพื้นที่ในการทำฝนหลวง รวมถึงขอน้ำและลดฝุ่น
ขณะเดียวกันได้สั่งการให้กรมฝนหลวงฯ ขึ้นทำฝนหลวงทุกวันในช่วงสงกรานต์ คาดหวังว่าในช่วงสงกรานต์จะทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เที่ยวกันอย่างมีความสุข
ส่วนกรณีที่เกิดข้อสงสัยว่าการทำฝนหลวงจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นในระยะยาวได้หรือไม่นั้น นายไชยา ยอมรับว่า ต้นตอของปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นที่หน่วยงานของเรา แต่เรามีหน้าที่สนับสนุน จึงต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกัน รวมทั้งให้ความรู้ และขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรเผาป่า ซึ่งจะสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
นายไชยา ยอมรับว่า การทำฝนหลวงไม่ได้ทำให้ฝุ่นทั้งหมดหมดไป เนื่องจากฝุ่นดังกล่าวลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้านแต่สามารถลดปริมาณฝุ่นได้อย่างน้อย 50%