'สว.' ทิ้งทวน ชง 'กกต.' คุมกำเนิด ‘พรรคสีส้ม’
กมธ.การเมือง ของวุฒิสภา ชงรายงานฉบับสุดท้าย ทิ้งทวนทำหน้าที่ คือ เสนอเรื่องให้ รัฐบาล-กกต. ปรับกฎ-ระเบียบ เพื่อคุมการใช้สื่อออนไลน์หาเสียง ที่เป็นเครื่องมือสำคัญ ให้ "ก้าวไกล" ชนะเลือกตั้ง
KEY POINTS :
- สว. ใน กมธ.การเมืองฯ ทำงานทิ้งทวน ชงรายงานให้ "กกต." ปรับกฎหาเสียงออนไลน์
- กกต. ไม่ทันเกมโซเชียล เพราะกฎ-ระเบียบยังล้าหลัง
- นัยยที่สะท้อน คือ การควบคุมกลไก สื่อสังคมออนไลน์ ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง ที่มีผลชี้ชัดว่า ทำให้ "ก้าวไกล" ได้เปรียบมากในสมรภูมิเลือกตั้ง
- จับตา การรับลูก ทั้งจาก ฝ่ายรัฐบาล-สส.เพื่อไทย ที่มีสิทธิเสนอแก้กฎหมายที่ใช้เลือกตั้ง
ก่อนที่ “สว.” ชุดปัจจุบันจะหมดวาระลง ได้เห็นการทิ้งทวนในวาระการทำงาน โดยเฉพาะ “เอาคืน” ทางการเมืองกับ “พรรคก้าวไกล” ที่เคยเป็นคู่แค้นกันมาตั้งแต่แรกเริ่มของสนามการเมือง ในนามของ “อนาคตใหม่”
ด้วยการเสนอรายงานให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) พิจารณาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเจาะจงไปที่ การควบคุม “การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย” หาเสียง
ต้องยอมรับว่า การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย และกระบวนการสร้างคอนเทนต์ หนุนให้ “การเมืองสีส้ม” เบ่งบาน และบูมสุดขีด จนการเลือกตั้งครั้งที่2 นับจากมีรัฐธรรมนูญ 2560 “ก้าวไกล” กลายเป็นผู้กำชัยชนะเลือกตั้ง นำ “เพื่อไทย” ที่ไม่เคยพลาดเป้าเกมเลือกตั้ง
ตอนหนึ่งของการเสนอรายงาน “เสรี สุวรรณภานนท์” สว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ชี้ชัดว่า มีกระบวนการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึง เอไอ และ ไอโอ สร้างภาพ “คนที่ไม่เป็นที่รู้จัก” ให้เป็นคนเก่ง คนดี จนทำให้คนที่ทำคุณงามความดียาวนานไม่รับเลือกตั้ง ผลคือ ทำให้การเลือกตั้งไม่สะท้อนตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง พร้อมเสนอให้ “กกต.” ปรับโฉมการทำงาน
“ที่ผ่านมา กกต. มีกฎหมายที่ควบคุมการใช้เงิน การติดป้ายหาเสียง แต่ระบบโซเชียลไม่มีการควบคุม ทั้งที่คนที่ใช้โซเชียลใช้เงินมากกว่าการติดป้ายหาเสียง เมื่อไม่ควบคุมจึงทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ขณะที่แต่ละพรรคการเมืองต้องตื่นตัว และนำคนรุ่นใหม่ ซึ่งทุกพรรคมีคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่งที่อ้างว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่เท่านั้น ดังนั้นต้องมีวิธีการ กกต.ต้องควบคุมและจัดการเพื่อไม่ให้เลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม” เสรี สะท้อนมุมมองต่อที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อ 9 เม.ย.
ขณะที่รายงานของกรรมาธิการฯ ในเรื่องนี้ ยังมีผลประมวลสื่อสังคมออนไลน์ของพรรคการเมืองในไทย เทียบกับจำนวนสส.ที่ได้
แน่นอนว่า พรรคที่มาเป็นอันดับหนึ่ง คือ พรรคก้าวไกล ที่มีผู้ติดตามสื่อออนไลน์สูงกว่าทุกพรรคการเมือง รวมถึงการผลิตคอนเทนต์และการเผยแพร่ต่อ โดยรายงานชี้ชัดว่า “พรรคการเมืองที่มีจำนวนผู้ติดตาม โพสต์ข้อความ มีคนกดถูกใจเนื้อหามาก ส่งผลต่อจำนวน สส. ที่ได้รับเลือกตั้งจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัดและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”
ประเด็นสำคัญในรายงาน ระบุถึงข้อเสนอให้ “กกต.” ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยรวมถึงระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมการหาเสียงของพรรคการเมือง ของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงควบคุมในประเด็นการใช้จ่ายที่นำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้ง ควบคุม และตรวจสอบคอนเทนต์ที่มาจากสื่อสังคมออนไลน์ช่องทางต่างๆ หากพบการแชร์ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง ต้องมีกระบวนการยุติธรรมจัดการ
โดยรายงานชุดนี้หวังผลเพื่อให้ปรับกฎหมายคุมกำเนิด “พรรคสีส้ม” ที่ใช้สื่อโซเชียลสื่อสารทางการเมือง จนเกิดการได้เปรียบทางการเมือง
การพิจารณาของ “สว.” ต่อรายงานของกรรมาธิการฯ พบว่ามีเสียงสะท้อนที่กังวลต่อการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบในอนาคต
ด้วยโมเมนตั้มทางการเมือง ที่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะยังเข้าทาง “ด้อมส้ม” ขณะที่ “กกต.” เองยังนิ่ง ไม่ออกแอ็กชั่น ดังนั้น สว.จึงต้องออกโรงทิ้งทวน
คล้ายกับเป็นการเอาคืน “สส.ก้าวไกล” ที่ก่อนหน้านี้ประกาศตัวเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” และใช้สื่อโซเชียลเพื่อคุกคามข่มขู่ ใช้ปรากฎการณ์ล่าแม่มด กับ “สว.” ที่ไม่ตอบสนองหรือตอบรับกับประเด็นที่ “ก้าวไกล-ด้อมส้ม” ผลักดัน
ปรากฎการณ์ “งานทิ้งทวน” ของ สว. ครั้งนี้ ต้องจับตาว่า ข้อเสนอตามรายงาน เรื่อง การพัฒนาพรรคการเมืองและการสร้างพลเมืองยุคดิจิทัล ตามที่กรรมาธิการการเมือง ฯ สว. ที่ส่งต่อไปยัง “รัฐบาล-กกต.” จะถูกรับลูกมากน้อยแค่ไหน
แน่นอนว่า หากเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของ “บางพรรค-บางฝ่ายที่มีอำนาจ" กุมเสียงข้างมากในสภาฯ อาจได้เห็นวาระที่ “ก้าวไกล” ถูกคุมกำเนิดทางการเมืองระดับชาติอีกครั้ง.