เปิดปฏิบัติการ‘ไฟลต์บินพิเศษ’ สู้รบเมียนมาลาม 3 จว.ไทย
การสู้รบระหว่าง "ทหารเมียนมา-กลุ่มต่อต้าน"กำลังดุเดือดเลือดพล่านหวังแย่งชิงเมืองเมียวดี ส่วน "ไทย"รับบทหนักกับภัยคุกคามรอบด้าน ท่ามกลางสายบังคับบัญชาด้านความมั่นคง ส่อเกิดปัญหา
KEY POINTS :
- ไทยตกอยู่ในความเสี่ยงต้องรับมือคลื่นอพยพมหาศาล
- ปฏิบัติไอโอโจมตีไทยหวังให้เลือกข้าง ดูแลผู้อพยพจากการสู้รบตามหลักมนุษยธรรม
งานด้าน“ความมั่นคง” ยังเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน วัดจากการเตรียมพร้อมรับมือการสู้รบในเมียนมาที่ส่งผลกระทบประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมกับปัญหาความสัมพันธ์ของคนในรัฐบาลและกองทัพ
ทันทีที่เมียวดี ประเทศเมียนมา ตกอยู่ภายใต้การควบคุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ลงพื้นที่ด่วน เน้นย้ำการปฏิบัติงานของ"กองกำลังสุรสีห์"
เพราะพื้นที่ต่อไปของชายแดนด้านตะวันตกที่จะได้รับผลกระทบต่อจาก จ.ตาก คือชายแดนไทย-เมียนมา จ.ราชบุรี และ จ.เพชรบุรี ระยะทาง 193 กิโลเมตร รวมถึงพื้นที่ 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรี ระยะทาง 371 กิโลเมตร คือ อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ อ.ไทรโยค อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ด่านมะขามเตี้ย
โดย พล.อ.เจริญชัย รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์และแผนปฏิบัติงานที่สำคัญของหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กรมทหารราบที่ 9 กรมทหารพรานที่ 14 และกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 137 ณ ฐานปฏิบัติการตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งหน่วยได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ทุกมิติ ตามพันธกิจการป้องกันประเทศของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก
ส่วนพื้นที่ "กองกำลังนเรศวร" รับผิดชอบพื้นที่ตั้งแต่ จ. แม่ฮ่องสอน จ.ตาก ระยะทาง 500 กิโลเมตร ยังต้องเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด "ค่ายผาซอง" ฐานทหารเมียนมา ตั้งอยู่ในตัวเมืองเมียวดี ห่างจากแนวชายแดนไทย ประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของ บก.พัน.ร.275 กองพันปืนใหญ่ที่ 310 และ บก.พล.ร.เบา 44 ส่วนหน้า เหลือเพียงหนึ่งเดียวยังไม่ถูกกลุ่มต่อต้านบุกยึด
ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงต้องรับมือคลื่นอพยพมหาศาล ประเดประดังเข้ามาตามชายแดนตลอดแนวชายแดนด้านตะวันตก ซึ่งประเมินกันแล้วว่า สถานที่ปลอดภัยเตรียมไว้กว่า 100 จุด รองรับได้ 1 แสนคนอาจไม่เพียงพอ
เมืองเมียวดี พื้นที่หมายปองชนกลุ่มน้อยอย่างต่ำ 4 กลุ่ม ต้องการแย่งชิงควบคุมให้ได้เบ็ดเสร็จ เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ศูนย์กลางการค้าสำคัญสร้างผลประโยชน์มหาศาล ที่รัฐบาลเมียนมาพยายามปกป้อง ด้วยปฏิบัติการอากาศยานโจมตีทางอากาศ ส่งเครื่องบินหลากหลายชนิด รวมถึงเครื่องบิน MIG 29 ออกปฏิบัติการ
ปัจจุบัน กองทัพบก โดยกองกำลังนเศวร ยังคงต้องรับบทหนักใช้กลไกที่มีอยู่ประสานไปยังฝ่ายเมียนมา ผ่านกลไก คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย – เมียนมา หรือ RBC และ คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น TBC ไทย-เมียนมา รวมถึงกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย หวังลดผลกระทบตามแนวชายแดน
ท่ามกลางปฏิบัติการด้านข่าวสาร(ไอโอ) หวังเรียกร้องให้ไทยเลือกข้าง ดูแลผู้อพยพจากการสู้รบตามหลักมนุษยธรรม ด้วยการสร้างภาพความรุนแรงของทหารเมียนมา ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดความกวาดกลัวต่อประชาชนทั้งสองฝั่ง ให้เกิดการอพยพกระจายไปในพื้นที่ต่างๆเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังต้องการดึงองค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วม
เช่นเดียวกับ ไฟลต์บินเร่งด่วนของรัฐบาลเมียนมาลงจอดที่ท่าอากาศนานาชาติแม่สอดคืนวันอาทิตย์ที่ 7 เม.ย. ช่วงหยุดยาว3วันของไทย เพื่อขออพยพข้าราชการเมืองเมียวดี ได้แก่ ตม. ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทำงานในศาลากลางและส่วนราชการอื่นๆ หลัง 2 ฐานทหารเมียนมาถูกกลุ่มต่อต้านบุกยึดได้สำเร็จ
รัฐบาลเมียมา สั่งการผู้ช่วยทูตทหารเมียนมา ประจำประเทศไทยให้ประสานกับไทย โดยตามขั้นตอนต้องใช้ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนระดับพื้นที่ ส่งเรื่องให้กองทัพภาคที่ 3 พิจารณาผลกระทบ หากเป็นเรื่องใหญ่ส่งต่อมายังส่วนกลางคือ กองทัพบก เพื่อรายงาน ผบ.ทบ. ก่อนนำเรื่องเรียน รมว.กลาโหม เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป
ผู้ช่วยทูตทหารเมียนมา ประสานกับคนใน "กองทัพไทย" พร้อมได้รับคำแนะนำใช้ช่องทางกระทรวงต่างประเทศ โดยไม่ผ่านขั้นตอนต่างๆของกองทัพ พร้อมนำเสนอไปยัง "นายกฯไทย"โดยตรง ก่อนจะเป็นที่มาของการอนุมัติ ท่ามกลางปฏิบัติการไอโอ ไทยเปิดสนามบินแม่สอดให้รัฐบาลเมียนมา ขนเงิน อาวุธ และทหารกลับประเทศ
มีรายงานข่าวว่า คนในกองทัพบกฟาดคนในกองทัพไทยกับปฏิบัติการลำเส้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยรวมต่องานด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน รวมถึงจุดยืนความเป็นกลางของไทย การเปิดสนามบินนานาชาติแม่สอด โดยไม่ขอความเห็นจากกองทัพบก ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
เช้าก่อนประชุม ครม. นายกฯ เรียกประชุมด่วนกรณีเครื่องบินพาณิชย์เมียนมาลงจอด ที่สนามบินนานาชาติแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมทั้ง ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ จักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทสส. พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาฯ สมช. แต่ปรากฎว่าไม่มี "สุทิน คลังแสง" รมว.กลาโหม
"สุทิน" ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม ครม.ด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก พร้อมออกตัวสาเหตุที่เป็นเพียงคนเดียว ที่คุมงานด้านความมั่นคง แต่ไม่ได้ร่วมวงหารือ เพราะนายกฯ เน้นผู้ปฏิบัติงาน ก่อนย้ำว่า ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและยังไม่ถึงขั้นยกระดับความเข้มข้นชายแดนไทย-เมียนมา
ปัจจุบันการสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกลุ่มต่อต้านกำลังดุเดือดเลือดพล่านเป้าหมายหวังแย่งชิงเมืองเมียวดีให้ได้ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ขณะที่ไทยก็ยังต้องรับบทหนักเตรียมรับภัยคุกคามรอบด้าน ท่ามกลางสายการบังคับบัญชาด้านความมั่นคง ส่อเกิดปัญหา