ปิดฉาก5ปี‘สว.’ชุดคสช. วีรกรรมเด่นโหวต ‘ประยุทธ์’ สกัด ‘พิธา’
นับถอยหลัง วันหมดวาระสว.ชุดที่มาจาก คสช. วันที่ 10 พ.ค.นี้ ตลอด5ปี พบวีรกรรมแบบแสบทรวงให้กับ "ฝ่ายการเมือง" แบบครบรส
Key Point :
- 250สว. ที่มาโดย "คสช." ใกล้หมดวาระ5ปี ในวันที่ 10พ.ค. นี้ วีรกรรมที่เห็นชัดคือ เป็นตัวละครสำคัญร่วมกำหนดทิศทางการเมือง
- การกำหนดตัว นายกฯ เป็นสิ่งที่น่าจดจำ ทั้ง หนุน "ประยุทธ์" 2ครั้ง และ สกัด "พิธา" นั่งนายกฯ
- สกัดการรื้อรัฐธรรมนูญ2560 โดยเซ็ตเกมยาก ตั้งเงื่อนไขต้องผ่านการทำประชามติ
- สกัด-หนุนเด็กในคาถานั่งในองค์กรอิสระ
สำหรับ “วุฒิสภา” ชุดนี้ ถือเป็นชุดเปลี่ยนผ่าน ที่มาจากการแต่งตั้ง โดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” จำนวน 250 คน ทำให้หลายคนยังนิยมเรียก ฉายาว่า “สว.สืบทอดอำนาจ” เพราะบทบาทหลายอย่าง เป็นไปเพื่ออุ้มชูการเปลี่ยนผ่านจาก “ระบบเผด็จการทหาร" ไปสู่ “ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ”
หากสแกนผลงาน ในห้วงเกือบครบวาระ ตามฉายา “สว.สืบทอดอำนาจ” พบว่าสิ่งที่ถูกจดจำมากที่สุด คือ หน้าที่ที่ร่วมกำหนดชะตาของ “บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” ครั้งแรกโหวต “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งนายกรัฐมนตรีสมัยสอง ครั้งที่ 2 เตะสกัด “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พรรคก้าวไกล ที่ชนะเลือกตั้งสูงสุด แต่ไม่สามารถรวบเสียงข้างมากในสภาฯได้
ผลการลงมติเลือก ที่ต้องใช้ “มือสว.” ร่วม กลับพบว่า “สว.ไม่ให้เสียงสนับสนุน” จนเกิดการเปลี่ยนแกนนำรัฐบาล ไปเป็น “พรรคเพื่อไทย” และส่ง “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งนายกฯ ซึ่งสร้างความขื่นขมให้กับ “พรรคก้าวไกล-ด้อมส้ม” ไม่น้อย
กรณีเลือกนายกฯ รอบแรกปี 2562 ที่โหวต “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งรอบนั้นเป็นที่ประจักษ์ว่า “สว.” ชุดนี้มีขึ้นมาเพื่อ “สืบทอดอำนาจ คสช.” ให้อยู่ในการเมืองไทยต่อไป แม้จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ และการเลือกตั้งแล้วก็ตาม
รวมไปถึงการร่วมพิทักษ์กติกาใน “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ที่แม้ ภาคประชาชน-สส. เสนอร่างแก้ไขรวม 20 ฉบับ เพื่อหวังรื้อกติกาให้มีความเป็นประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ไม่ผ่านด่าน สกัดของ “สว.” ที่ทำหน้าที่เป็น “องครักษ์” อย่างเหนียวแน่น
โดยถูกสกัดไว้ถึง 18 ฉบับ ส่วนอีก 1 ฉบับ ถูกดองไว้ด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผูกพันทุกองค์กร ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องผ่านการออกเสียงประชามติก่อน
ในกรณีนี้ “ภาคประชาชน-การเมือง” ที่ต้องการโละอำนาจ คสช.-สร้างกติกาที่พวกเขาเชื่อว่า “เป็นธรรม” มองภาพ สว.ด้วยความชิงชัง และเคยท้าชนอำนาจหลายรอบ ทั้งการยื่นแก้รัฐธรรมนูญ โละอำนาจ สว.ในการเลือกนายกฯ- โละวุฒิสภา รวมไปถึง “กลุ่มม็อบ” ไปเยี่ยมถึงที่ทำงาน-บ้าน จนทำให้ สว.ต้องแจ้งความกลับ เพราะหวั่นความไม่ปลอดภัยของตัวเอง
กับประเด็น “ดองรัฐธรรมนูญ” นั้นมีจุดเริ่มมาจาก สว.ใช้หน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญร่วมกับ สส.ในค่ายพลังประชารัฐ ยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นด่านสกัด การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และเขียนขึ้นใหม่ ไม่ว่ากลไกใดก็ตาม ต้องนำไปออกเสียงประชามติ ถามความยินยอมจากประชาชนก่อน
เงื่อนไขนี้ แม้ สส. จะพยายามเสนอให้ทำประชามติเพื่อฝ่าด่าน แต่ด้วยอิทธิฤทธิ์ของ สว.ที่ยังไม่ยอมปล่อยไปง่ายๆ
ทั้งนี้ ในบรรดาการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 20 ฉบับ พบว่ามีเพียง 1 ฉบับ ที่ผ่านด่าน สว. คือการแก้ระบบเลือกตั้ง และกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แทน 1 ใบ ที่ว่ากันว่า “ผู้มีอำนาจ” ประทับตรายินยอม เพราะต้องการใช้ระบบเลือกตั้งที่เอื้อให้ “พรรค-เครือข่ายทหาร” คัมแบ็คสู่อำนาจการเมือง
ต่อประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยกติกาที่ต้องออกเสียงประชามติ ก่อนรื้อรัฐธรรมนูญนั้น กลายเป็นเงื่อนไขที่ “รัฐบาล-เพื่อไทย” ยกมาอ้างถึงการประวิงเวลาแก้รัฐธรรมนูญ ที่ สว.ยังไม่เห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ควรเสนอร่างแก้ไข หรือทำประชามติก่อน
เงื่อนไข สว.นี้ กลายเป็นเงื่อนไขที่เข้าทาง “ผู้มีอำนาจปัจจุบัน” ที่ลูบปากหวาน เพราะนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อ “อยู่ยาว”
ขณะที่ผลงานด้านนิติบัญญัติ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.62 ถึงวันสุดท้ายของการทำงานในสมัยประชุมล่าสุด 9 เม.ย.67 พบว่า ผ่านร่างกฎหมาย 53 ฉบับ แบ่งเป็น สว.เห็นด้วยบกับสภาฯ 37 ฉบับ, วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมและสส. เห็นชอบด้วย 10 ฉบับ, สว.และสส. เห็นชอบด้วยร่วมกันผ่านคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นระหว่าง2สภา จำนวน 4 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ 2 ฉบับและมีตกไป 1 ฉบับ
ขณะที่ผลงานด้านการตรวจสอบรัฐบาล คือ ตั้งกระทู้ พบว่ามีทั้งหมด 488 กระทู้ แบ่งเป็นกระทู้ถามด้วยวาจา 167 กระทู้ ทว่าได้รับการตอบจากรัฐบาล เพียง 59 กระทู้ ที่เหลือ 108 กระทู้นั้นต้องตกไปตามข้อบังคับ
กระทู้ถามเป็นหนังสือ มีทั้งสิ้น 721 กระทู้ แบ่งเป็น กระทู้ที่ขอให้ตอบในที่ประชุม 170 กระทู้ พบว่า ตอบแล้ว 115 กระทู้ ค้างตอบ 6 กระทู้ ตกไป 49 กระทู้ และ กระทู้ถามที่ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา 151 กระทู้ พบว่าตอบแล้ว 112 กระทู้ รอตอบ 19 กระทู้ ตกไป 20 กระทู้
นอกจากวาระทางการเมืองที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว ผลงานของ สว.ในทางที่ใช้อำนาจ “ลับ” ชี้ขาดว่า “ใคร” จะเข้าไปเป็น 1 ในเครือข่ายอำนาจภายใต้ “องค์กรอิสระ” ยังมีให้เห็น และบางครั้งถูกฝ่ายตรงข้ามวิจารณ์ว่า “มีงาน”
ล่าสุด เหตุเกิดเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบ “วิษณุ วรัญญู” อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานศาลปกครองสูงสุด ด้วยมติไม่เห็นชอบ 158 เสียง ต่อเสียงเห็นชอบ 45 เสียง ทั้งที่ ที่ประชุมกรรมการตุลาการศาลปกครองสูงสุด (ก.ศป.) มีมติเอกฉันท์เสนอชื่อให้ “วุฒิสภา” เห็นชอบ
สำหรับรายละเอียดที่เล็ดลอดจากวงประชุมลับ เป็นเพราะ “วิษณุ” มีภูมิหลัง และทัศนคติทางการเมือง ที่สวนทางกับแนวคิดของ สว. ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทหารและ “สายอนุรักษนิยม”
โดยในประเด็นการตีตกตุลาการศาลปกครองสูงสุด ก่อนหน้านี้ สว.ชุดที่ 12 ยังเคยตีตก “รัชนันท์ ธนานันท์” อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ที่ ก.ศป. เสนอชื่อให้เป็นประธานศาลปกครองสูงสุดมาแล้วถึง 2 ครั้ง และตีตก “กุศล รักษา” ทำหน้าที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นอกจากนั้น ยังมีกรณี ตีตกผู้เสนอชื่อเป็น “กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) ทั้งในส่วนของ “บิ๊กจ้าว” พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ที่ สว.ออกเสียงสูสีกัน ระหว่างฟาก “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย”
ในที่สุดบทสรุปเสียงหนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เพราะ “บิ๊กจ้าว” ถูกติงในแง่ขาดคุณสมบัติ ที่ตำแหน่ง “ผบช.น.”ไม่สามารถเทียบเท่า “อธิบดี”ตามสเปคที่กฎหมาย ป.ป.ช.กำหนดไว้
โดยกรณีของ “บิ๊กจ้าว” นั้น มีกระแสวิจารณ์ว่า เป็นการวัดพลังของ “2 ลุง” เช่นเดียวกับเคสของ “สถาพร วิสาพรหม” รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (แผนกคดีล้มละลาย) ที่ถูกตีตกเรื่องคุณสมบัติ แต่เรื่องเล่าหลังสภาฯ พบว่า เป็นเพราะ “เบอร์ใหญ่” วัดพลังผ่านเสียงของ “สว.ในคาถา”
กรณีที่เกิดขึ้นในสภาสูง กับบทบาทของ “สว.ชุดที่ 12” สร้างอรรถรสให้ “การเมืองไทย” แบบครบรส
หลังจากนี้ต้องจับตาการผลัดใบ “สว.” ชุดต่อไปที่จะเข้ามาทำหน้าที่ โดยที่มาคือ เลือกกันเองตามสาขาอาชีพว่าจะมีวาระการเมืองซ่อนเงื่อนใดหรือไม่ และจะนำการเมืองย่ำรอยประวัติศาสตร์ ในยุคที่ “สว.” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เกิดวิบัติทางการเมืองหรือไม่.