'ปธ.รัฐสภา' หนุนทำประชามติ ก่อนแก้รธน. ชี้เป็นทางที่ปลอดภัย

'ปธ.รัฐสภา' หนุนทำประชามติ ก่อนแก้รธน. ชี้เป็นทางที่ปลอดภัย

"วันนอร์" ชี้ให้ทำตาม "ภูมิธรรม" เสนอทำประชามติ3รอบ ก่อนแก้รธน. มองเป็นทางปลอดภัย หวั่นแก้ไขไปก่อนถูกตีตก แย้มถกร่างแก้ไขได้ ในสมัยวิสามัญ หากเสนอใหม่-สาระ-สถานการณ์เปลี่ยน

ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประธานรัฐสภา กล่าวต่อประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญล่าสุดที่ไม่รับคำร้องที่สมาชิกรัฐสภาลงมติเสียงข้างมากให้ตนส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้น และเป็นเพียงข้อสงสัยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจน  และส่งไทม์ไลน์เวลาการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนและรัฐสภาประกอบคำวินิจฉัย อย่างชัดเจนว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทังฉบับ รัฐสภาสามารถแก้ไขได้แต่ต้องทำประชามติก่อน

“หากจะแก้ทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อนว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ หรือจะแก้ มาตรา256  ที่มีบทกำหนด อาทิเกี่ยวกับอำนาจศาล องค์กรอิสระ หรือบางข้อต้องนำไปทำประชามติก่อน ดังนั้นต้องปฏิบัติตาม” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปลอดภัย เป็นไปตามที่นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องดำเนินการ ทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องถามประชาชน 3 รอบ ที่จะปลอดภัย แต่เสียเวลาและงบประมาณ แต่หากทำสองรอบ  อาจจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

“เมื่อชัดเจนแล้ว อย่าทำอะไรตามคิดเอง เพราะมีกรอบคำวิจิจฉัยและรัฐธรรมนูญกำหนด และศาลรัฐธรรมนูญให้ไทม์ไลน์ เส้นทางแก้รัฐธรรมนุญต้องทำอะไรก่อนหลัง หากทำโดยไม่ตรงกับคำวินิจฉัย จะเสียเวลา ศาลรัฐธรรมนูญจะตีตก หากมีเวลาทำให้ดีที่สุด เพราะประชาชน อยากให้แก้ไข และเป็นนโยบายของรัฐบาลและพรรคการเมือง  แต่ทำให้ถูกต้อง อาจจะไม่พอใจแต่ต้องเลือกเส้นทางที่เดินไปได้ หากไม่ทำประชามติก่อน แล้วมีคนส่งไปตีความอีก จะเสียเวลา”ประธานรัฐสภา กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ทบทวนการบรรจุวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเสนอต่อรัฐสภา "วันนอร์"กล่าวว่า ต้องมีคนเสนอร่างแก้ไขเข้ามา หากเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องทำประชามติต้องทำประชามติก่อน แต่หากมีเนื้อหาที่ไม่ต้องทำประชามติก่อน สามารถดำเนินการได้ แต่ที่เสนอมาก่อนหน้านี้นั้นเป็นร่างที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ซึ่งเคยตีตกแล้ว แต่จะเสนอกลับมาได้ เพราะเป็นคนละสมัยประชุม เช่น กรณีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ที่จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 สภาต้องพิจารณาว่าบรรจุได้หรือไม่

“จะบรรจุหรือไม่ ผมพูดล่วงหน้าไม่ได้ เพราะต้องรอดูว่าเป็นร่างที่เหมือนเดิม หรือร่างที่ปรับปรุง สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่งไร และต้องให้ที่ปรึกษาด้านกฎหมายพิจารณา ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากจะถามผมตอนนี้ว่าทบทวนหรือไม่ ยังพูดไม่ได้ สถานการณ์ต้องเปลี่ยนไป” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว.