หลังฉากสินบน ‘โรลส์รอยซ์-ปตท.สผ.’ 385 ล. 7 ปี ป.ป.ช.ฟันแค่ 1 โครงการ เหลือ 4

หลังฉากสินบน ‘โรลส์รอยซ์-ปตท.สผ.’ 385 ล. 7 ปี ป.ป.ช.ฟันแค่ 1 โครงการ เหลือ 4

ในระหว่าง 7 ปีแห่งการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้ เกิดอุปสรรคปัญหาจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อมูลจาก SFO และกระทรวงการยุติธรรมแห่งสหรัฐฯ มิได้ส่งข้อมูลทั้งหมดมาให้หน่วยงานตรวจสอบของไทย โดยอ้างถึงโทษคดีทุจริตในไทย ยังมีการประหารชีวิตอยู่ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล

KeyPoints

  • คดีสินบนข้ามชาติ “โรลส์รอยซ์-ปตท.สผ.” ถูกเปิดเผยขึ้นจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ขยายผลสืบสวนการจ่ายเงินเอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจข้ามชาติ
  • เบื้องต้นในไทยพบว่า “โรลส์รอยซ์” มีการจ่ายเงินให้ “นายหน้า” เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจกับ “เครือ ปตท.” อย่างน้อย 5 โครงการ รวมวงเงินกว่า 385 ล้านบาท 
  • ป.ป.ช.-สตง.รับลูกลุยสอบทันที แต่มีอุปสรรคหลายอย่าง ต่างชาติชี้ไทยยังมีโทษประหารชีวิต เลยไม่ส่งข้อมูล แถมเส้นทางเงินซับซ้อนหลายทอด
  • ผ่านมา 7 ปี ป.ป.ช.มีมติชี้มูลผิด “จิตรพงษ์-พวก” ในคดีนี้ หลังพบหลักฐานว่ามีการรับเงินกว่า 10 ล้านบาท แลกกับการซื้อเครื่องมือทำ “โครงการอาทิตย์” เพียงแค่โครงการเดียว เหลืออีก 4 โครงการวงเงินหลายร้อยล้านบาท ที่หายเข้ากลีบเมฆ

รูดม่านปิดฉากไปอีก 1 คดี “สินบนข้ามชาติ” ระดับตำนาน กรณี “โรลส์-รอยซ์” กับ “ปตท.สผ.” หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลผิด “จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิต” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กับพวก เอื้ออำนวยให้บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้ออุปกรณ์ Feed Gas Turbine Compressor สำหรับแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ (Project PTT Arthit) โดยคดีนี้ยาวนานเป็นมหากาพย์อย่างมาก เพราะมีผู้ถูกกล่าวหาบางราย เช่น จุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ของไทย เสียชีวิตไปแล้ว และถูกจำหน่ายคดีออกจากสารบบ

ตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.พบพยานหลักฐานว่า ระหว่างการดำเนินการจัดหา เผ่าเผด็จ วรบุตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่สายงานพื้นที่นอกชายฝั่ง (TOA) ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ซึ่งจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัทแควนตั้มเม็ค (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศสิงคโปร์ และโอนต่อไปยังบุคคลใกล้ชิดของเผ่าเผด็จ วรบุตร จำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,000,000 บาท) เพื่อแลกกับให้ “โรลส์-รอยซ์” เข้าไปทำสัญญาจัดหา Feed Gas Turbine Compressor จำนวน 2 เครื่อง มูลค่าการจัดหารวม 24,663,303 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 900,000,000 บาท) ในโครงการอาทิตย์ดังกล่าว

อ่านข่าว: ปิดตำนาน! ป.ป.ช.ฟัน 'จิตรพงษ์-พวก' คดีโรลส์-รอยซ์จ่ายสินบนข้ามชาติ ปตท.สผ.

ประเด็นที่น่าสนใจ กรณีกล่าวหา “สินบนข้ามชาติ” คดีระหว่าง “โรลส์-รอยซ์” กับ “ปตท.สผ.” ซึ่งมีจุดเริ่มเรื่องจาก กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาได้สืบสวนสอบสวนกรณีการจ่ายเงินสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) (Rolls-Royce plc) และบริษัทในเครือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายประเทศ และในการทำข้อตกลงชะลอการฟ้อง (Deferred Prosecution Agreement) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับบริษัท โรลส์-รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) นั้น มิใช่มีแค่ “โครงการอาทิตย์” เพียงอย่างเดียว

ตามคำพิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ ประจำรัฐโอไฮโอตอนใต้ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ระบุว่า บริษัทลูกของโรลส์-รอยซ์ คือ Rolls-Royce Energy Systems, Inc. หรือบริษัท "RRESI" ได้แก่ ผู้บริหารในบริษัทลูก 1 ราย พนักงาน 3 ราย และคนอื่น ๆ มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายสินบนกว่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับนายหน้า เป็นค่าที่ปรึกษาด้านการค้า โดยเงินดังกล่าวถูกจ่ายในนามค่าคอมมิสชัน ให้กับบริษัทด้านพลังงานในไทย แองโกลา อาเซอร์ไบจาน อิรัก คาซักสถานและอื่น ๆ รวมทั้งไทย และบราซิล เพื่อแลกกับการได้เป็นผู้ชนะการประมูลคู่สัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ และบริการบำรุงรักษาในโครงการต่าง ๆ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ “หมาเฝ้าบ้าน” ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากสื่อต่างประเทศ และสื่อไทยหลายสำนัก ระบุว่า ในส่วนของไทยพบว่า ระหว่างปี 2543-2555 พบบุคคลในบริษัทลูกของโรลส์-รอยซ์ มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายค่ารักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจ หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการจ่ายสินบนกว่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 385 ล้านบาท เพื่อให้ บริษัท "RRESI" ได้สัมปทานการทำธุรกิจจาก “เครือ ปตท.”

“RRESI” ได้จ่ายเงินสินบนราว 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ “นายหน้า” เป็นค่าที่ปรึกษาทางการค้า เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจในโครงการที่ทางบริษัท PRESI ชนะการประมูล แบ่งเป็น 5 โครงการ

  1. โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 (GSP-5) ระหว่างวันที่ 24 ก.ค. 46 - 16 พ.ย. 47 จำนวนเงิน 2,494,728 เหรียญสหรัฐ หรือ 87.32 ล้านบาท
  2. หน่วยเพิ่มความดันก๊าซของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 3 (OCS-3) ระหว่างวันที่ 19 ม.ค. 49 – 24 ม.ค. 51 จำนวนเงิน1,386,389 เหรียญสหรัฐ หรือ 48.52 ล้านบาท
  3. แท่นเจาะก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ (Arthit) ระหว่างวันที่ 19 ม.ค. 49 – 18 ม.ค. 51 จำนวนเงิน 1,096,006 เหรียญสหรัฐ หรือ 38.36 ล้านบาท
  4. โครงการ PCS ระหว่างวันที่ 29 ก.ย. 49 – 11 ก.ย. 51 จำนวนเงิน 2,073,010 เหรียญสหรัฐ หรือ 72.56 ล้านบาท
  5. โรงก๊าซอีแทน (ESP-PTT) ระหว่างวันที่ 24 พ.ค. 50 – 18 ก.พ. 56 จำนวนเงิน 1,934,031 เหรียญสหรัฐ
  6. โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 GSP-6 ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. 51 – 13 พ.ย. 52 จำนวนเงิน 2,287,200 เหรียญสหรัฐ หรือ 80.05 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่างปี 2553-2555 พบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์และอะไหล่ โรลส์รอยซ์ 7 สัญญา วงเงิน 254,553,893 บาท แบ่งเป็น ROLLS-ROYCE SINGAPORE PTE LTD ซึ่งมีสำนักงานในสิงคโปร์ 1 สัญญา วงเงิน 1.87 ล้านบาท และเป็นการจัดซื้อจาก Rolls Wood Group ในสหรัฐอเมริกา 6 สัญญา วงเงิน 252.68 ล้านบาทอีกด้วย

เมื่อเกิดเรื่องราวดังกล่าวขึ้น เมื่อปี 2560 ป.ป.ช.ได้ตั้งองค์คณะไต่สวน (กรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ) ดำเนินการไต่สวนทันที เช่นเดียวกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) เริ่มดำเนินการสอบสวนเช่นกัน ขณะที่เครือ ปตท.ออกแอ็คชั่นในยุค เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ในเบื้องต้นประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงที่ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ที่มีการใช้เครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ มาก่อน เพื่อให้กระบวนการสืบสวนดำเนินไปด้วยความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล

ในระหว่าง 7 ปีแห่งการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้ เกิดอุปสรรคปัญหาจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อมูลจาก SFO และกระทรวงการยุติธรรมแห่งสหรัฐฯ มิได้ส่งข้อมูลทั้งหมดมาให้หน่วยงานตรวจสอบของไทย โดยอ้างถึงโทษคดีทุจริตในไทย ยังมีการประหารชีวิตอยู่ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล 

นอกจากนี้เส้นทางการเงินคดีดังกล่าวค่อนข้างซับซ้อนเป็นอย่างมาก ในการประสานงานขอข้อมูลของ ป.ป.ช. ว่ากันว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีกรรมการ ป.ป.ช.บางคนถึงกับบินไปสิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของเส้นทางการเงิน แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก

สุดท้ายคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลผิดแค่ “โครงการอาทิตย์” เพียงโครงการเดียว โดยพบข้อมูลการจ่ายสินบนแค่ 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ จากยอดทั้งหมดราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้อีก 4 โครงการที่เหลือ ก็ไม่ปรากฏข้อมูลในเอกสารการแถลงข่าวของ ป.ป.ช.แต่อย่างใด

ปิดฉากมหากาพย์สินบนข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดคดีหนึ่งของไทย ถึงแม้จะไม่จบครบถ้วนสมบูรณ์ทุกจิ๊กซอว์ก็ตาม ต้องรอดูว่าสุดท้าย ป.ป.ช.จะยังดำเนินคดีอีก 4 โครงการที่เหลือหรือไม่