ประชุม ครม.‘สไตล์เศรษฐา’ กับ ‘ความเสี่ยง’ ในการเดินหน้า 'นโยบายรัฐบาล'

ประชุม ครม.‘สไตล์เศรษฐา’  กับ ‘ความเสี่ยง’ ในการเดินหน้า 'นโยบายรัฐบาล'

การประชุมคณะรัฐมนตรี ถือเป็นการประชุมที่สำคัญที่สุดของประเทศในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะคณะรัฐมนตรีนั้นมีอำนาจหน้าที่ที่จะตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของประเทศ ทั้งกฎหมาย งบประมาณ โครงการ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ และความเป็นไปของประเทศ

ด้วยความสำคัญของการประชุม ครม.ที่กำหนดให้มีขึ้นทุกๆสัปดาห์นั้น จึงมี "คน" และ "หน่วยงาน" ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก นอกจาก ครม.ที่ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี และครม.อีกไม่เกิน 35 คน ยังต้องมีตัวแทนจากหน่วยงานที่สำคัญอย่างน้อย 4 หน่วยงานได้แก่  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการให้ความเห็น หรือตอบข้อซักถามเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุม

นอกจากนั้นในการพิจารณาในเรื่องวาระพิจารณาต่างๆก็จะมีหัวหน้าส่วนราชการ หรือตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารอแสตนบายด์ชี้แจงอยู่ข้างนอกห้องซึ่ง ครม.สามารถเรียกมาชี้แจงเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา

ที่สำคัญขั้นตอนการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม. โครงการ กฎหมาย หรือวาระต่างๆจำเป็นต้องมีการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจของ ครม.ด้วย  

รวมทั้งหากมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แล้ว หากมีข้อสงสัยนายกรัฐมนตรีก็อาจสอบถามจาก รัฐมนตรีหรือรมช.กระทรวงที่เป็นเจ้าของเรื่อง หรือตั้งประเด็นให้ ครม.ช่วยสอบถาม และให้ความเห็น ซึ่งขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่มีเหตุผลที่จะทำให้การตัดสินใจต่างๆของ ครม.จะไม่ผิดพลาด หรือผิดกฎหมาย จนสร้างความเสียหายแก่ประเทศได้

ประชุม ครม.‘สไตล์เศรษฐา’  กับ ‘ความเสี่ยง’ ในการเดินหน้า \'นโยบายรัฐบาล\'

แม้เป็นเวลากว่า 7 เดือนในการบริหารราชการของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แต่ในการประชุม ครม.ยังมีเสียงสะท้อนถึงสไตล์การประชุมที่แตกต่างไปจากแทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

สิ่งที่มี ครม.บางคนจากพรรคร่วมสะท้อนให้ฟังอยู่บ่อยครั้ง ก็คือในการประชุมของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ใช้เวลาในการประชุมรวดเร็วมาก โดยเฉพาะการพิจารณาในแต่ละเรื่อง แทบไม่มีโอกาสให้มีการแสดงความเห็นค้าน หรือสอบถาม โดยบางครั้งการประชุม ครม.ที่มีวาระเข้าสู่การพิจารณาถึง 40 เรื่องแต่การประชุม ครม.กับใช้เวลาแค่ไม่ถึง 2 ชั่วโมง

รัฐมนตรีบางคนก็สะท้อนให้ฟังด้วยบางเรื่องก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษี ที่มีความซับซ้อน แล้วทำไปก็ไม่รู้ประชาชนได้ประโยชน์อะไร เช่น เรื่องการลดภาษีไวน์ ที่ลดภาษีนำเข้าก็มี รัฐมนตรีบางคนอยากจะถามใน ครม.ว่าประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์อย่างไร แต่การพิจารณาก็เร็วมากแล้วก็ผ่านไปเรื่องอื่นจนไม่มีโอกาสได้สอบถามข้อเท็จจริง หรือดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน

ซึ่งข้อนี้รัฐมนตรีที่เคยเป็น ครม.ในรัฐบาลก่อนก็ตั้งข้อสังเกตว่าต่างจากรัฐบาลก่อนที่จะมีการสอบถามและตั้งข้อสังเกตกันอย่างรอบด้าน และหากมีข้อทักท้วงว่าอาจจะผิดข้อกฎหมายก็จะมีรองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายที่บอกว่าให้ถอนเรื่องนั้นออกไปก่อนเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการพิจารณาก่อนที่จะออกมาเป็นมติ ครม.

ล่าสุดความเร่งรีบในการพิจารณาเรื่องสำคัญๆก็ปรากฏให้เห็นจากการเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. คือเรื่องการพิจารณาเรื่องโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการให้เดินหน้าโครงการเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ก็มีข้อกังขาตามมาเกี่ยวกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นหน่วยงานหลักที่มีการตั้งข้อสังเกตในโครงการนี้หลายข้อ ผ่านการส่งหนังสือถึง ครม.ความยาวกว่า 5 หน้ากระดาษนั้นทำไมจึงสามารถผ่าน ครม.ได้

ครม.ไม่ถกประเด็นแบงก์ชาติจี้ทบทวนเงินดิจิทัล

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่าในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 23 ที่ผ่านมา ในวาระการพิจาราเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 20 นาที ซึ่งมี ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเป็นคนรายงานรายละเอียดโครงการ แหล่งเงินของโครงการที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา

หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีก็ได้บอกว่าโครงการนี้จะเดินหน้า ตามกรอบระยะเวลาซึ่งประเด็นที่มีการทักท้วงเกี่ยวกับการใช้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั้นให้กระทรวงการคลังส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายและหากมีประเด็นอื่นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกฎหมายก็ให้ส่งไปเช่นกัน ขณะเดียวกันก็ให้ป้องกันการทุจริตของโครงการนี้ให้รอบคอบ

ประชุม ครม.‘สไตล์เศรษฐา’  กับ ‘ความเสี่ยง’ ในการเดินหน้า \'นโยบายรัฐบาล\'

โดยในการหารือโครงการนี้ 20 นาที ในครม.ไม่ได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับความเห็นประกอบของหน่วยงานราชการ รวมทั้งไม่ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับความเห็นของธปท.ในเรื่องนี้แต่อย่างไร

ตั้งข้อสังเกตเร่งรีบเอาเรื่องเข้า ครม.

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่าเอกสารความเห็นของหน่วยงานราชการต่างๆที่ส่งมาประกอบการนำวาระเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.นั้นส่งมาถึง สลค.ในช่วงเย็นวันที่ 22 เม.ย.และบางหน่วยงานเพิ่งส่งมาถึงในช่วงเช้าวันที่ 23 เม.ย.ก่อนที่จะเริ่มการประชุม ครม.แค่ 1 ชั่วโมง จึงไม่มีทางที่ ครม.จะมีการอ่านและศึกษาข้อเสนอแนะ หรือทักท้วงจากหน่วยงานต่างๆเกี่ยวกับโครงการนี้

จะเห็นว่าโดยสไตล์ของการพิจารณาเรื่องใน ครม. รวมทั้งเตรียมเรื่องเข้าสู่การประชุม ครม.ที่เร่งรัดเร่งรีบจนเกินไปนั้นย่อมมีความเสี่ยงรออยู่ ซึ่งไม่เฉพาะเรื่องของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่รวมถึงโครงการอื่นๆที่จะเข้าสู่การประชุม ครม.ในอนาคต

หากมีข้อผิดพลาดทางด้านกฎหมายเกิดขึ้น ก็อาจจะทำให้เกิดการสะดุดของการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจต่างๆ และหากเกิดความเสียหายก็ต้องมีผู้ที่รับผิดชอบ ซึ่งหากเป็นเรื่องใหญ่ก็อาจจะเป็น ครม.ทั้งคณะก็ได้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายในเรื่องนั้นๆ