‘ปรับครม.’ ขึ้นสุด ลงแรง เศรษฐาสไตล์ KPI ซ้อน KPI
วิธีบริหารจัดการในแบบที่เคยประสบความสำเร็จเมื่อกว่า20ปีก่อน จะยังตอบโจทย์เป้าหมายใหญ่ เพื่อไทย ที่จะ คืนสู่ความเป็นเบอร์ 1 ในทางการเมืองหรือไม่ อยู่ที่เสียงโหวตตอนเลือกตั้ง จะเป็น KPI ชั้นดี ที่บอกทุกอย่าง
Key Points
- การปรับครม. สไตล์รถไฟเหาะ คนเข้าออกรวดเร็ว ยังไม่ทันไร ก็ถูกเปลี่ยนตัวเสียแล้ว
- เกณฑ์การประเมินผลงานรัฐมนตรี หรือ KPI ของเศรษฐา ทวีสิน อาจไม่ได้ชี้ชะตาใครอยู่ใครไป
- เมื่อมี KPI ตัวสำคัญของใครบางคน ทับซ้อนอยู่
ควันหลงหลังเกมการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของเศรษฐา ทวีสิน ที่เพิ่งเอ็กเซอร์ไซส์อำนาจในมือครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็เกิดเอฟเฟ็กกระแทกกลับมาเต็มๆ
ร้อนถึงเจ้าตัวต้องรีบชี้แจงผ่านสื่อด้วยความตั้งใจจะอธิบายสังคมตั้งแต่เช้าของวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา เพราะกระแสของผู้คนในหลากหลายแวดวงต่างชื่นชมความกล้าหาญในการตัดสินใจของปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ต่างก็ให้กำลังใจ
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถูจับตามองอย่างมาก อะไรคือเบื้องลึกเบื้องหลังของเหตุการณ์ดังกล่าว มีความขัดแย้งอะไรที่ทำให้ปานปรีย์ อึดอัด หรือไปนั่งขวางทางปืนใครจนทำให้เสียผลประโยชน์หรือไม่
หรือเอาเข้าจริง ปานปรีย์ แค่รู้สึกถูกนายกฯ หักหน้า ถูกลดทอนศักดิ์ศรีและลดบทบาท จนยื่นลาออกแทบจะในทันทีที่มีการโปรดเกล้าฯ ครม.ชุดใหม่ลงมา นั่นก็สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า คงมีอะไรเหลืออดจริงๆ ปานปรีย์ ถึงเลือกทำแบบนี้
แม้ปานปรีย์ จะมั่นใจว่าผลงานของตัวเองในกระทรวงต่างประเทศ ผ่านดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือ KPI ของเศรษฐาแน่นอน
ในฝั่งของเศรษฐาเอง ก็คงคิดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะนั่นเท่ากับว่าจะต้องทูลเกล้าฯ รายชื่อ รมว.ต่างประเทศ คนใหม่ในระยะเวลาห่างกันไม่มากนัก
ปฏิกิริยาของเศรษฐา ที่นอกจากจะพูดว่าเคารพในการตัดสินใจของปานปรีย์ และออกปากขอโทษ ถ้าทำให้ไม่สบายใจเรื่องอะไร ทั้งยังบอกด้วยว่า เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อมีคนสมหวัง ก็มีคนผิดหวัง มีคนพอใจ ก็ย่อมมีคนไม่พอใจเป็นธรรมดา
พร้อมกันนั้น เศรษฐายังได้อธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงต้องริบเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีของปานปรีย์เอาไว้ค่อนข้างชัดเจน และเห็นได้เลยว่า มุมมองในการทำงานระหว่างคน 2 คน ค่อนข้างจะแตกต่างกัน
เรื่องนี้เศรษฐา มองว่าปัจจุบันมีรองนายกฯ 6 คน เพียงพอแล้ว รัฐบาลทำงานเป็นทีมได้ ที่ผ่านมานายกฯ ก็อำนวยความสะดวกช่วยเหลือผลักดันการทำงานข้ามกระทรวง จึงไม่จำเป็นที่ปานปรีย์ต้องควบรองนายกฯ เพราะแต่ละรัฐบาล มีทั้งรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือบางรัฐบาลก็ไม่มีรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีต่างประเทศ
ในเมื่อทุกอย่างต้องเดินหน้าต่อ รัฐบาลมีงานสำคัญๆ รออยู่อีกเพียบ จึงไม่มีเวลามาจมอยู่กับเรื่องนี้ จนไม่เป็นอันทำอะไร
เศรษฐา ยอมรับว่า หลังจากรู้ข่าวปานปรีย์ขอลาออก คืนนั้นก็มองหา รมว.ต่างประเทศคนใหม่ มาแทนที่เรียบร้อยแล้ว เป็นคนที่อยู่ในแวดการวงทูตและการเมืองมาก่อน เป็นคนที่ทำงานข้างหลังพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด
การทำการเมืองของเศรษฐาวันนี้ ก็ดูจะไม่ต่างจากตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร แต่อย่างใด โดยเฉพาะเรื่องการปรับครม. ในสไตล์รถไฟเหาะ ที่ขึ้นสุด ลงเร็วและแรง เอาคนเข้าคนออกไวปานสายฟ้าแลบ ที่ทำให้ใครหลายคนไม่ทันตั้งตัว หรือตั้งตัวทัน แต่ก็คาดเดาอะไรไม่ได้ ผลที่ออกมาจึงคาใจหลายคน
เพราะเมื่อถึงเวลา มีเงื่อนไขในทางการเมืองมากมายเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล ชนิดที่คนในครม. เวลานี้ ที่ได้ไปต่อ ต่างก็มีความหวั่นใจ เพราะรู้ดีว่า เมื่อถึงวงรอบอีก6เดือนข้างหน้า ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกเขย่าขวด หมุนเวียนเก้าอี้กันใหม่
เลยเป็นเรื่องยากที่บรรดาเสนาบดี โดยเฉพาะในโควตาเพื่อไทยจะเร่งปั๊มผลงานได้ทันใจ กว่าจะตั้งตัวออกสตาร์ทงานได้ เวลาก็เหลือไม่มากแล้ว
หลายคนรู้ดีว่า การวัดผลงานด้วย KPI นั้น เอาเข้าจริงอาจมีเงื่อนไข KPI จากใครบางคนที่ซับซ้อนมากกว่านั้นที่ต้องตอบแทน เข้ามาเป็นเกณฑ์ชี้วัดด้วย
น่าสนใจว่าแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจะส่งผลมากน้อยแค่ไหน ต่อความเป็นไปในรัฐบาลและเรตติ้งของพรรคเพื่อไทย กับเดิมพันสำคัญ คือการเรียกคืนความนิยม ด้วยวิธีบริหารจัดการในแบบที่เคยประสบความสำเร็จเมื่อกว่า20ปีก่อน จะยังตอบโจทย์เป้าหมายใหญ่ คืนสู่ความเป็นเบอร์ 1 ในทางการเมืองหรือไม่ ก็อยู่ที่เสียงโหวตตอนเลือกตั้ง จะเป็น KPI ชั้นดี ที่บอกทุกอย่าง