ย้อนรอยชงรื้อ‘ก.ม.แบงก์ชาติ’ กังขา‘ลดอิสระ-ความเชื่อมั่น’
'แบงก์ชาติ' ควรมีความอิสระหรือไม่? ปมถกเถียงที่ดังก้องเวลานี้ ย้อนรอยเสนอรื้อ “พ.ร.บ.แบงก์ชาติ” จับตาจังหวะเพื่อไทย "ทางเลือกสุดท้าย" ฝ่าด่านลุยไฟ
KEY
POINTS
- “การจะลดหรือทำให้คนมองว่าอาจจะมีการลดความอิสระจะกระทบต่อความเชื่อมั่น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือต่อเครดิตเรตติ้งของประเทศ มีโอกาสที่จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสามารถสูงขึ้นเหมือนบางประเทศที่ ‘การเมือง’เข้ามากดดันการทำงานของธนาคารกลาง ” เศรษฐพุฒิ เคยชี้แจงต่อสภา เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2565
- ย้อนรอยเสนอแก้ “พ.ร.บ.แบงก์ชาติ” ข้อถกเถียงต้องอิสระ?
- จับตาจังหวะเพื่อไทย "ทางเลือกสุดท้าย" แลกครหา"ความเชื่อมั่น"
แฮชแท็ก #saveผู้ว่าการแบงก์ชาติ สนั่นโลกโซเชียลตลอดหลายวันที่ผ่านมา หลัง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวบนเวทีพรรคเพื่อไทย “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” ช่วงหนึ่งพูดถึง กรณีการตรึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า
“ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ”
นำมาสู่กระแสตีกลับไปยังรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย พร้อมๆกับการเกิด “ข่าวปล่อย” ถึงแนวคิดแก้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 หรือ เรียกสั้นๆ “พ.ร.บ.แบงก์ชาติ” ทิ้งไว้ซึ่งคำถามที่ว่า จะเป็นการลดทอนความเป็นอิสระของแบงก์ชาติในภาพใหญ่ รวมถึงการทำหน้าที่ของ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าแบงก์ชาติด้วยหรือไม่
ไม่ต่างจากข่าวลือหนาหู“ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ”ที่ดังก้องเป็นระยะในช่วงที่ผ่านมา
ฟากฝั่งรัฐบาลอ้าง “รายงานข่าวทำเนียบรัฐบาล” พูดถึงแนวคิดการแก้กฎหมายแบงก์ชาติ โดยหลักการสำคัญพูดกว้างๆ ไปที่การกำกับดูแลการทำงานเพื่อช่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลด้วยไม่ใช่การตัดสินใจโดยแยกออกจากการทำงานของรัฐบาล
อันที่จริงประเด็นการเสนอรื้อ “พ.ร.บ.แบงก์ชาติ” ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือ ช่วงปลายรัฐบาลที่แล้ว เวลานั้น “พิสิฐ ลี้อาธรรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอกฎหมาย หลักการสำคัญอยู่ตรงที่ ให้เพิ่มเติมมาตรา 61/1 ที่ระบุว่า
“ทุกสามเดือนให้ ธปท. จัดทำรายงานเปิดเผยสภาพเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งจัดทำแนวทางการดำเนินงานในอำนาจหน้าที่ของ ธปท. เสนอต่อรัฐสภา เพื่อรายงานให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมวุฒิสภาทราบ ทั้งนี้ ให้จัดทำรายงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ 31 มีนาคม วันที่ 30 มิถุนายน วันที่ 30 กันยายน และวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี”
เวลานั้น “พิสิฐ” ให้เหตุผลถึงการเสนอกฎหมายดังกล่าวต่อสภาเมื่อวันที่4ส.ค.2565 ว่า เรามีหน้าที่ดูกฎหมาย ไม่มีบทบาทหน้าที่กำหนดนโยบายโดยตรง ในรัฐธรรมนูญก็บัญญัติให้หน่วยงานอิสระตางๆ มาชี้แจงต่อสภาในรูปแบบต่างๆ ต่อสภาเพื่อศึกษาและเสนอความเห็นต่อไป ซึ่งธปท.เป็นองค์กรอิสระที่ได้รับการยอมรับ งบดุล 6.2 พันล้านล้านบาท ใหญ่กว่าธนาคารเอสเอ็มอี หรือ เอ็กซิมแบงก์ หลายร้อย สองเท่าของงบประมาณแผ่นดิน
ดังนั้น จึงมีบทบาทสูงมากในการดูแลการไหลเวียนของเงินในทางเศรษฐกิจ ซึ่งกฎหมาย ธปท.ฉบับที่4 ระบุชัดว่า มีความเป็นอิสระแต่ให้กระทรวงการคลังกำกับดูแล
“พิสิฐ”ยังตั้งข้อสังเกตในเวลานั้นว่า การที่กฤษฎีกาตีความว่า ธปท.ออกแบบไว้ให้อยู่ในการควบคุมของฝ่ายบริหารก็เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับประเด็นที่เขียนไว้ในกฎหมาย โดยเฉพาะหมายเหตุที่เขียนว่า ธปท.รับผิดชอบต่อฝ่ายบริหาร โดยไม่บอกว่ารับผิดชอบต่อสภาด้วยที่ผ่านมาจึงไม่ปรากฏว่า รัฐบาลมาชี้แจงอะไรแทนธปท. แต่ใช้วิธีเชิญเจ้าหน้าที่ ธปท.มาชี้แจงในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ แทน
ตัดมาที่ “เศรษฐพุฒิ” ชี้แจงต่อสภาเวลานั้นว่า ธปท.ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ครบถ้วนกับกลุ่มฝ่ายบริหารทั้งรายเดือน ราย 6 เดือน เช่น สภาวะเศรษฐกิจและการเงิน ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน โดยเปิดเผยสาธารณชนต่อเนื่องอยู่แล้ว
ขณะที่หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการเงินที่คล้ายกับ ธปท. ก็มีกฎหมายให้รายงานผลการดำเนินงานต่อฝ่ายบริหารไม่ต้องรายงานกับฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนกรณีเอสเอ็มอีแบงก์ และ เอ็กซิมแบงก์ ที่ต้องรายงานต่อสภาเพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดช่องทางอื่นในการเผยแพร่
“การจะลดหรือทำให้คนมองว่าอาจจะมีการลดความอิสระจะกระทบต่อความเชื่อมั่น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือต่อเครดิตเรตติ้งของประเทศ มีโอกาสที่จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสามารถสูงขึ้นเหมือนบางประเทศที่ การเมือง เข้ามากดดันการทำงานของธนาคารกลาง ” เศรษฐพุฒิ ชี้แจงต่อสภา เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2565
ถึงที่สุดการเสนอกฎหมายครั้งนั้นที่สุดถูกดับฝันตั้งแต่วาระแรก เมื่อที่ประชุมมีมติ 203 ต่อ 49เสียง “ไม่รับหลักการ” กฎหมายฉบับดังกล่าว
ต้องบอกว่า ทั้ง2กรณีเป็นเรื่องที่ “ต่างกรรม-ต่างวาระ-ต่างบริบทกัน” จากศึกงัดข้อ“แบงก์ชาติ-นิติบัญญัติ” แต่เวลานี้กลับกลายเป็น “แบงก์ชาติ-บริหาร” แต่สิ่งที่ถูกนำมาเปรียบเทียบเวลานี้ อยู่ที่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ “ความเป็นอิสระ”ของแบงก์ชาติเช่นเดียวกัน
“ฝั่งสนับสนุน” มองว่า ไม่ใช่การลดทอนความเป็นอิสระ แต่เป็นแยกหน่วยงานกำกับเพื่อให้การบริหารงานสอดคล้องสภาพปัจจุบันมากขึ้น
ขณะที่ “ฝั่งที่คัดค้าน” มองว่า เป็นการใช้อำนาจบริหารก้าวล่วงจนเกินความจำเป็น
จับสัญญาณจากฟากฝั่งรัฐบาลแม้เวลานี้จะยังคงยืนยันหนักแน่น “ยังไม่มีแนวคิด” และขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะประเด็นอิสระของแบงก์ชาติก็อาจเป็น “ดาบสองคม”ที่ไปกระทบกับความเชื่อมั่นหากรัฐบาลเคลียร์ไม่ชัด
ทว่าต้องจับตาในวันที่ “พรรคเพื่อไทย” แปรเปลี่ยนจากฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดที่แล้วมาเป็นรัฐบาล และถือเสียงในสภาพรรรรคเดียว141เสียงยังไม่นับรวมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลรวมๆแล้ว315เสียง
หากที่สุดนโยบายดำเนินไปถึง “ทางเลือกสุดท้าย” จะเลือกฝ่าด่านลุยไฟต่างๆเหล่านี้หรือไม่อย่างไร?