“รัฐบาลเพื่อไทย”เปิดศึก2พรรค ลอยแพ รทสช.อุ้มพลังงาน - หักภท.กัญชาเสรี

“รัฐบาลเพื่อไทย”เปิดศึก2พรรค ลอยแพ รทสช.อุ้มพลังงาน - หักภท.กัญชาเสรี

รัฐบาลเพื่อไทย สร้างปมขัดแย้ง 2 พรรคร่วม “รทสช.-ภูมิใจไทย” ปล่อย “พีระพันธุ์” แก้ปัญหาน้ำมันแพงใช้กองทุนน้ำมันอุ้ม ด้านนโยบายกัญชา สกัดภูมิใจไทยดันเสรี เตรียมออกกฎหมายกลับมาเป็นยาเสพติด

ผลจากการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) สร้างแรงกระเพื่อมให้กับรัฐบาลอย่างหนัก ร่องรอยความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทย ถูกเปิดแผลด้วยการลาออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศของ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร”

แม้ “แกนนำเพื่อไทย” จะปิดเกมเร็ว ด้วยการแต่งตั้ง “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” มานั่งเก้าอี้ รมว.ต่างประเทศ แทนอย่างรวดเร็ว แต่คลื่นใต้น้ำภายใน “เพื่อไทย” ยังคงก่อตัวรอวันปะทุ

ชอตต่อมาเกิดความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล โดย “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ลาออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ภายหลังการแบ่งงานภายในกระทรวงการคลัง เจ้าตัวถูกลดบทบาทลง

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า “นายกฤษฎา” อยู่ในโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขณะที่ “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึง “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” และ “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาจากโควตา “พรรคเพื่อไทย”

การรุกกินแดน “กฤษฎา” อาจจะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่าง “เพื่อไทย-รทสช.” เนื่องจาก “พิชัย-นายกฤษฎา” มีหนี้แค้นเก่าที่ต้องชำระ แต่ส่งแรงสะเทือนไปยัง “รทสช.” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 

ขณะเดียวกันนายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย เปิดเกมเขย่าพรรคร่วมรัฐบาล โดยบีบเรื่องการดำเนินนโยบาย เพื่อไล่แต้มให้จนมุม เริ่มที่พรรค รทสช.โฟกัสหลักไปที่ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรค รทสช. โดนบีบกรณีราคาน้ำมัน

โดย “นายกฯ เศรษฐา” มีนโยบายดูแลราคาลดราคาพลังงาน ลดภาษีดีเซล เบนซิน ลดค่าไฟ แต่ต่อมาราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เริ่มอุ้มราคาดีเซลและแอลพีจีไม่ไหว

ทว่า พีระพันธุ์ และกระทรวงพลังงาน ได้ขอต่อมาตรการลดภาษีดีเซลที่สิ้นสุดในเดือน เม.ย. แต่ “กระทรวงคลัง” ภายใต้การกำกับดูแลของ “รัฐมนตรีเพื่อไทย” ไม่ยอม

ทำให้ “พีระพันธุ์-กระทรวงพลังงาน” แก้เกมกลับของบกลาง ซึ่งอยู่ในความดูแลของ “นายกฯ เศรษฐา” เพื่อมาอุ้มดีเซล แต่มีความเห็นจากกระทรวงการคลัง ไม่อนุมัติให้ใช้งบกลางในการแก้ไขปัญหา สุดท้าย “นายกฯ เศรษฐา” สั่งให้กระทรวงพลังงานใช้กองทุนอุ้มต่อ

แต่ยี่ห้อ “พีระพันธุ์” ผ่านงานด้านกฎหมายมาอย่างโชกโชน เมื่อโดนรุกไล่ย่อมมีมาตรการโต้กลับ เสนอแก้กฎหมายปรับโครงสร้างราคาน้ำมันด้วยการให้กระทรวงพลังงานมีอำนาจกำหนดอัตราสรรพสามิตน้ำมัน

ทั้งนี้แม้ จุลพันธ์ ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพสามิต จะใจดีสู้เสือเปิดทางให้ “พีระพันธุ์” เข้ามาร่วมหาทางออก แต่หากปล่อยให้กระทรวงพลังงานกำหนดอัตราสรรพสามิตน้ำมันเอง ย่อมกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังอย่างแน่นอน

ต้องจับตาดูว่าศึก “พรรคเพื่อไทย” กับ “พีระพันธุ์” การเดินเกมงัดสรรพอาวุธทางกฎหมายมาต่อสู้กันจะจบลงอย่างไร แต่สร้างแผลใหม่-แผลใหญ่ กระทบต่อความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลให้เกิดขึ้นแล้ว

เปิดศึกภูมิใจไทย“กัญชาเสรี” 

ขณะเดียวกัน “เศรษฐา-พรรคเพื่อไทย” ยังเปิดศึกกับพรรคภูมิใจไทย โดยสั่งการในที่ประชุมแก้ปัญหายาเสพติด เมื่อ 8 พ.ค.2567 โดยมอบหมายกระทรวงสาธารณสุขไปดำเนินการแก้กฎกระทรวงเพื่อนำกัญชาคืนสู่บัญชียาเสพติด ประเภท 5

โดยในวงประชุมดังกล่าวมี “อนุทิน ชาญวีรกุล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นั่งร่วมวงอยู่ด้วย ต้องไม่ลืมว่า “นายอนุทิน” ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นคนผลักดันนโยบาย “กัญชาเสรี” ด้วยการแก้กฎกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ “อนุทิน-ภูมิใจไทย” ผลักดัน ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แต่ผ่านด่านแค่วาระแรก ถูกตีตกในวาระสอง ทำให้ กัญชา-กัญชง ไม่มีกฎหมายมารองรับ เหลือเพียงแค่กฎกระทรวงสาธารณสุขที่มีผลทางกฎหมาย

มาในยุค “รัฐบาลเศรษฐา” แม้ “กัญชาเสรี” จะเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย แต่เมื่อไม่ได้กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข ย่อมเปิดช่องให้ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งคุมกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกกฎหมายกระทรวงดังกล่าว คืนกัญชาสู่บัญชียาเสพติด ประเภท 5 ได้ง่ายดาย

ทั้งนี้ต้องติดตามดูว่า เมื่อนโยบาย “กัญชาเสรี” ซึ่งถือเป็นนโยบายเรือธงของ “อนุทิน-พรรคภูมิใจไทย” ถูก “เศรษฐา-พรรคเพื่อไทย” หักดิบ จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์อยู่ร่วมกันของ “พรรคร่วมรัฐบาล” มากน้อยเพียงใด