ศึกชิงเบอร์ 1 ป.ป.ช. ฝุ่นตลบ ‘ตุลาการ’ ล้างภาพ ‘รัฐตำรวจ’
นี่คือสิ่งที่ท้าทายประธานกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ เป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถนำพาไทยพ้นหล่มการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงทำ “ตราชั่ง” ให้กลับมาตั้งตรงอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกับคดีความต่าง ๆ โดยเฉพาะคดีทุจริตของ “นักเลือกตั้ง” ที่ยังคาราคาซังอยู่ตอนนี้
KEY
POINTS
- “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. 67 ทำให้สถานการณ์ “องค์กรสนามบินน้ำ” ยังคงฝุ่นตลบ
- เพราะการเฟ้นหาประธานกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ ยังคงไม่สะเด็ดน้ำ เนื่องจากตัวเต็งอย่าง “สุชาติ” ถูกลดบทบาทไป
- เหลือคู่ชิง “แมนรัตน์” จากกระทรวงคลองหลอด สู้กับสาย “ตุลาการ” นำโดย “ภัทรศักดิ์” อดีต สนช.ยุค คสช.
- จับตาล้างภาพ “รัฐตำรวจ” กู้วิกฤติคอร์รัปชัน ฟื้นภาพลักษณ์ดัชนีรับรู้การทุจริตของไทยบนเวทีโลก
มิใช่แค่ประเด็นการเลือกเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใหม่เพียงเท่านั้น ที่กำลัง “ฝุ่นตลบ” อยู่ในตอนนี้ แต่ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานกรรมการ ป.ป.ช.” ก็กำลัง “ฝุ่นตลบ” ไม่แพ้กัน
เนื่องจาก “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. 2567
ปัจจุบันมีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ปฏิบัติหน้าที่อยู่จำนวน 6 ราย ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ และนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์
เหลือรอโปรดเกล้าฯจำนวน 2 ราย ได้แก่ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง และนายพศวัจณ์ กนกนาถ
ส่วนอีก 1 ราย สภาฯสูงเพิ่งตีตกชื่อ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ส่งผลให้ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ทำให้คาดว่าอาจต้องรอ สว.ชุดใหม่ เข้ามาดำเนินการเห็นชอบต่อ
ในจำนวนนี้มี 2 รายที่ “อาวุโสสูงสุด” คือ นายวิทยา และนางสุวณา เนื่องจากได้รับการโปรดเกล้าฯเข้ามาดำรงตำแหน่งไล่เลี่ยกัน
อย่างไรก็ดีทั้ง 2 ราย จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ ทำให้หากได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการ จะได้ทำหน้าที่แค่ 6 เดือน จึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก
ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาชื่อของ “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” ค่อนข้างฉายแสงในองค์กร ป.ป.ช. ด้วยชื่อชั้นมาจากสาย “ตุลาการ” และประสบการณ์การทำงาน นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจาก “สายลูกหม้อ” บางราย ที่ต่อต้าน “สายตำรวจ” จึงมีสิทธิขึ้นเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช.ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เดินแรงเปิดหน้าชนกับ ป.ป.ช. พร้อมกับมีการปล่อยหนังสือคัดค้านการทำหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช.บางราย ที่มีสายสัมพันธ์กับ “ฝ่ายการเมือง” อาจส่งผลต่อการทำหน้าที่วินิจฉัยคดีต่าง ๆ ทำให้ชื่อของ “สุชาติ” ถูกลดบทบาทลงไป
ทำให้ชื่อของ “แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง ลูกหม้อกระทรวงมหาดไทยเต็มขั้น มีความสนิทสนมกับ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดมหาดไทยคนปัจจุบัน
นอกจากนี้ตัวเขายังเติบโตสยายปีกในกระทรวงคลองหลอดช่วง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่ง รมว.มหาดไทย ทำให้ถูกคาดหมายว่าอาจได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ได้
แต่สิ่งที่อาจดับฝัน “แมนรัตน์” ได้คงมีแค่ “ตุลาการคอนเนกชั่น” เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ 6 ราย และรอโปรดเกล้าฯ 2 รายนั้น มาจากสายผู้พิพากษาอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ สุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา นายพศวัจณ์ กนกนาถ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ และนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง อดีตรองประธานศาลฎีกา และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุค “คสช.”
ในเมื่อชื่อของ “สุชาติ” ตอนนี้ถูกลดบทบาทลงไป ทำให้คาดว่าจะเสนอชื่อของ “ภัทรศักดิ์ วรรณแสง” ที่ค่อนข้างอาวุโส มีอายุราชการอีก 4 ปี และเคยเป็นอดีต สนช.ทำให้มากด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ขึ้นเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ได้
เป็นไปได้ว่าอนาคตของ “องค์กรสนามบินน้ำ” คาดว่าน่าจะล้างภาพ “รัฐตำรวจ” ซึ่งถูกมองว่ามี “มือมืด” นอกสนามบินน้ำคอยคอนโทรลคุมคดีต่าง ๆ อยู่ลงไปได้
อย่างไรก็ดีต้องไม่ลืมว่าแม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่วนใหญ่จะมาจาก “สายตุลาการ” แต่เลขาธิการ ป.ป.ช.ที่ถือเป็น “เบอร์ 1” คุมข้าราชการ-เจ้าหน้าที่สำนักงานฯ อาจตกเป็นของเต็ง 1 อย่าง “พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล” คนสนิท “บิ๊กกุ้ย”
ดังนั้นภาพการทำงานประสานกันระหว่าง “คณะกรรมการฯ” และ “สำนักงานฯ” อาจดูขัดแย้งกันได้ เหมือนกับยุคหนึ่งที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช. มีความขัดแย้งกันกับเลขาธิการ ป.ป.ช. ส่งผลให้เลือกใช้งาน “รองเลขาธิการฯ” ขึ้นมามีบทบาทแทน ปล่อยให้เลขาธิการฯ นั่งตบยุงอยู่ในตำแหน่งหลายปีก่อนเกษียณอายุราชการอย่างเงียบ ๆ
ทว่า สิ่งที่ต้องโฟกัสอย่างจริงจัง และเป็นปัญหา “แก้ไม่ตก” ของรัฐบาลหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลจากรัฐประหาร นั่นคือการทุจริตคอร์รัปชัน
โดยผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) พบว่า ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ผลคะแนน CPI ของไทยตกลงมาโดยตลอด
โดยปี 2560 ได้ 37 คะแนน ปี 2561-2563 ได้ 36 คะแนนเท่ากัน ปี 2564 ได้ 35 คะแนน ปี 2565 ขยับขึ้นมาเป็น 36 คะแนน และปี 2566 ได้ 35 คะแนน อยู่อันดับ 108 ของโลกจากทั้งหมด 180 ประเทศ อยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
นี่คือสิ่งที่ท้าทายประธานกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่เป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถนำพาไทยพ้นหล่มการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงทำ “ตราชั่ง” ให้กลับมาตั้งตรงอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกับคดีความต่าง ๆ โดยเฉพาะคดีทุจริตของ “นักเลือกตั้ง” ที่ยังคาราคาซังอยู่ตอนนี้
ป.ป.ช.จะกอบกู้ความเชื่อมั่นบนเวทีโลก ฟื้นวิกฤติศรัทธาจากประชาชนอีกครั้งได้หรือไม่ ต้องจับตาดู