เดินหน้า 'เรือดำน้ำ' รักษาสัมพันธ์ไทย-จีน ชง ครม. ยืดสัญญา ติดเครื่องยนต์ จีน

เดินหน้า 'เรือดำน้ำ' รักษาสัมพันธ์ไทย-จีน ชง ครม. ยืดสัญญา ติดเครื่องยนต์ จีน

"คณะทำงานไทย-จีน" ได้ข้อสรุป ไม่ยกเลิกสัญญาเรือดำน้ำ รักษาสัมพันธ์ 2 ประเทศ พร้อมช่วยเหลือทางทหาร อุบไต๋รายการให้เพิ่มเติม – บาร์เตอร์เทรด รอ “ครม.”เห็นชอบ ขยายสัญญา 1,200 วัน ติดเครื่องยนต์ CHD620

16 พ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำ ระหว่าง พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ ตัวแทน หน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหมจีน และ ตัวแทนบริษัท CSOC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต ที่กระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2567  ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนต่อ 

โดย นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุม ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ด้วย ทั้งนี้การเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำ ระหว่างไทยจีนดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมาการเจรจาอาจจะล่าช้า เพราะทางฝ่ายจีน อยู่ในช่วงปรับโครงสร้างกองทัพ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายหน่วยงาน แต่ขณะนี้ได้รวมศูนย์หน่วยงานด้านยุทธปกรณ์ เป็นหน่วยงานเดียวขึ้นกับกระทรวงกลาโหมจีน ซึ่งได้เดินทางมาร่วมพูดคุย หาทางออกในครั้งนี้ด้วย

 โดยหน่วยงานของจีนที่ส่งมาคือ  The Bureau of Military Equipment and Technology Cooperation (BOMETEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองการขายอาวุธที่มีใช้ในกองทัพจีนให้กับต่างประเทศ และ ‘The State administration of Science, Technology and Industry for national Defense (SASTIND) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองบริษัทที่ขายอาวุธให้ต่างประเทศ 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับทางออกในการแก้ปัญหาโครงการเรือดำน้ำ มีเพียง 2 ทาง คือ 1. เดินหน้าต่อ หรือ 2. ยกเลิก ซึ่งหากการเปลี่ยนจากโครงการเรือดำน้ำ เป็นเรือฟริเกต หรือเรือ OPV ก็เท่ากับการยกเลิกโครงการเรือดำน้ำด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการหารือ และประเมินข้อดี-ข้อเสียแล้วพบว่า การยกเลิกโครงการจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยฝ่ายไทย อาจต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเรื่องเงินค่างวดที่จ่ายไปล่วงหน้า และอาจได้คืนเพียงบางส่วน ไม่ครบตามจำนวนที่จ่ายไปทั้งหมด  ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงเลือกเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำต่อ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมาอย่างยาวนาน 

โดยทางฝ่ายจีนยินดีที่จะสนับสนุนทางการทหาร  เช่น การสนับสนุนยุทธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ทั้งเครื่องช่วยฝึก หรือ Simulator และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมถึงเรื่องระบบประกัน / การฝึกศึกษา ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท แต่ทางจีนยังไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียด เพราะต้องการให้ โครงการเรือดำน้ำเดินหน้าอย่างชัดเจนก่อน

สำหรับขั้นตอนต่อไป คือ กระทรวงกลาโหมจะสรุปผลการเจรจานำเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พิจารณา เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะต้องมีการแก้สัญญา 2 ส่วน ได้แก่ การขยายเวลาสัญญาต่อเรือดำน้ำออกไปอีกราว 1,200 วัน และ การเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเยอรมัน MTU 396 เป็นเครื่องยนต์จีน CHD620 เพื่อให้ ครม. เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้มีข้อมูลว่าเครื่องยนต์ CHD 620 ได้ผ่านมาตรฐานจากสมาคมจัดชั้นเรือของประเทศอังกฤษ และประเทศปากีสถาน ได้จัดซื้อเรือ ตำน้ำจีนที่ติดตั้งเครื่องยนต์CHD 620 ซึ่งน่าจะได้เห็นประสิทธิภาพของเรือดำน้ำในอีกไม่นานนี้ 

แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า  ในการเจรจาครั้งนี้ หน่วยงานทางการจีนได้รับข้อเสนอของไทยในการเพิ่มเติมการสนับสนุน โดยไม่ได้ใช้คำว่าชดเชย และจะนำกลับไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการกลางทหารของจีนอีกครั้ง  เช่นเดียวกับข้อแลกเปลี่ยนสินค้าทางด้านการเกษตรฯ แต่ที่สำคัญคือการจะเดินหน้าต่อ รัฐบาลไทยต้องมีมติในเรื่องการเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำ และการเปลี่ยนเครื่องยนต์  ทำให้ทางไทยยังไม่เปิดเผยรายการที่ทางจีนจะให้กับไทยอย่างละเอียด
ขณะที่มี รายงานข่าวในกระทรวงกลาโหมว่า การเจรจากับสาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่จบทั้งหมด แต่ช่วงนี้คณะพูดคุยคงยังไม่เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน และอาจจะไม่ไป เพราะจะคุยกันผ่านทางวิดีโอคอล คาดว่าน่าจะจบเร็วๆนี้  และคงต้องไปหานายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กำกับดูแล เพราะต้องไปรายงานเรื่องเรือดำน้ำ เมื่อมีความคืบหน้าในระดับหนึ่งเมื่อได้ทิศทางที่ชัดเจน