กู้วิกฤติ ยุทธจักร‘สีกากี’ ดันแก้กฎหมาย-ปฏิรูปตำรวจ 2567
การปฏิรูปตำรวจ 2567 จะผลักดันขับเคลื่อนเรื่องค่าตอบแทน งบประมาณให้สอดคล้อง เหมาะสม เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วย เพื่อทำให้ตำรวจสามารถทำงานดูแลบริการประชาชนอย่างเป็นตำรวจอาชีพ
KEY
POINTS
- "ตำรวจ" ต้นทางของกระบวนการยุติธรรม แต่การปฏิบัติหน้าที่มักถูกตั้งคำถามอยู่เสมอ
- หนำซ้ำศึก "ตำรวจ" ตัด "ตำรวจ" เพื่อแย่งชิงอำนาจภายในองค์กร ยิ่งตอกย้ำว่าวงการ "สีกากี" มีปัญหาที่ต้องแก้ไข
- ข้อเสนอปฏิรูปตำรวจ พูดกันมาทุกยุคทุกสมัย ล่าสุด เครือข่ายภาคีตำรวจ เสนอ 5 ประเด็น เพื่อปฏิรูปขึ้นมาอีกครั้ง
ภาคีเครือข่ายตำรวจฯ เสนอ 5 ประเด็น “ปฏิรูปตำรวจ 2567” แก้กฎหมาย ปรับโครงสร้างตำแหน่ง ภารกิจ ป้องกันการเมือง ผู้มีอิทธิพลแทรกแซง ฟื้นงานสอบสวน หวังแก้ปัญหาองค์กร สร้างความเชื่อมั่น
ยุทธจักร “วงการสีกากี” ยังมีปรากฎการณ์สารพัดปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมี พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 บังคับใช้แล้วก็ตาม โดยเฉพาะปมปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ที่มีการงัดข้อกันระหว่าง บิ๊กตำรวจ 2 ขั้ว จนทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)ยังไร้ ผบ.ตร.ตัวจริง และยังลุกลามไปถึงปัญหาวิกฤติศรัทธา
ล่าสุด สมาคมตำรวจ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ชมรมพนักงานสอบสวน แถลงข่าวการรณรงค์“ปฏิรูปตำรวจ 2567” โดยตำรวจ และประชาชน วานนี้(16พ.ค.) โดยมีผู้ร่วมแถลง ได้แก่ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวน พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษาชมรมพนักงานสอบสวน รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิ นายยิ่งชีพ อัชฌาสัย ผู้จัดการ ILaw
ประเด็นสำคัญในการแถลงได้สะท้อนถึงปัญหาวิกฤติศรัทธาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนี้ โดยระบุว่าเป็นจุดตกต่ำที่สุดนับแต่ก่อตั้งองค์กร เมื่อผู้บริหารสูงสุดขององค์กร 2 คน ถูกกล่าวหาในคดีอาญา เกี่ยวพันกับเว็บพนันออนไลน์ และฟอกเงิน และยังฟ้องร้องดำเนินคดีกันเอง จนถูกนายกฯ ย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
เรื่องนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องระบบการบริหารภายในองค์กร ซึ่งเป็นสาเหตุ และสั่งสมมายาวนาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไข จนส่งผลกระทบความเชื่อถือของสังคม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ทั้งนี้การปฏิรูปตำรวจ ที่มีการศึกษาและดำเนินการมาระยะหนึ่ง จนล่าสุดมีการตรากฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ขึ้นมาบังคับใช้ แต่ยังไม่เห็นแนวโน้มจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรตำรวจได้ เนื่องจากสาระสำคัญหลายๆ เรื่องไม่ตรงกับที่ศึกษามาก่อนหน้านั้น
ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้การแก้ไขปัญหาในองค์กรตำรวจ สำเร็จตามเจตนารมณ์ของสังคมได้
สมาคมตำรวจและภาคีเครือข่าย จึงเสนอ 5 ประเด็น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ในการบริหารงานบุคคลของ ตร.ในปัจจุบัน ดังนี้
1.แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) โดยไม่ต้องกำหนดให้มี “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธาน ก.ตร. แต่ให้ประธาน ก.ตร. มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ และเสนอให้มี ก.ตร.โดยตำแหน่ง ที่เป็นข้าราชการประจำ และมาจากการเลือกตั้งในจำนวนที่เท่ากัน และปรับลดจำนวน ก.ตร.จาก 16 คน เหลือ 14 คน ประกอบด้วย 1) ประธาน ก.ตร.มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ 2) ผบ.ตร.เป็น รองประธาน ก.ตร. 3) รอง ผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ รวม 6 คน 4) ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ 6 คน รวมเป็น 14 คน เพื่อป้องกันการแทรกแซงการบริหารงานบุคคลจากฝ่ายการเมือง และผู้มีอิทธิพลภายนอกองค์กร
2.จัดตั้งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ กองบัญชาการ (ก.ตร.บช.) ให้มี ก.ตร.บช. ขึ้นในกองบัญชาการต่างๆ เพื่อกำกับดูแลการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจภายในอำนาจของกองบัญชาการนั้นๆ โดย ก.ตร.บช. ประกอบด้วย 1) ประธาน ก.ตร.บช. มาจากการเลือกตั้ง ของข้าราชการตำรวจในกองบัญชาการนั้นๆ 2) ผบช.เป็น รองประธาน ก.ตร.บช. 3) รอง ผบช.เป็นกรรมการ 4) ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ 6 คน รวม 14 คน
3.ปรับปรุงกฎหมายในส่วนของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) โดยให้มีการจัดตั้ง สำนักงาน ก.พ.ค.ตร.ขึ้น เพื่อรองรับการทำงานของ ก.พ.ค.ตร. แทนจากเดิมที่ใช้ สง.ก.ตร. เป็นหน่วยสนับสนุนการทำงาน เนื่องจาก สง.ก.ตร. มีภารกิจมาก และไม่ถนัดเฉพาะทางต่องานในความรับผิดชอบของ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งเปรียบเสมือนศาลปกครองชั้นต้น ซี่งจำเป็นที่จะต้องมีบุคคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน ในเรื่องดังกล่าวมารองรับสนับสนุนการทำงานของ ก.พ.ค.ตร.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ปรับปรุงกฎหมายในส่วนของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) โดยแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของ ก.ร.ตร. ให้มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการพิจารณาคดีวินัย การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน การวินิจฉัยข้อกฎหมาย เพื่อให้ตรงกับภารกิจหน้าที่ของ ก.ร.ตร. และให้มีการจัดตั้ง สำนักงาน ก.ร.ตร. ขึ้น โดยไม่ใช้บุคลากรของ ตร.เพื่อรองรับการทำงานของ ก.ร.ตร.แทน จากเดิมที่ใช้สำนักงานจเรตำรวจเป็นหน่วยสนับสนุนการทำงาน
5. ฟื้นแท่งงานสอบสวน เพื่อแก้ไขปัญหาความการบริหารงานบุคคลสายงานสอบสวน ที่ขาดโอกาสในการเจริญก้าวหน้า โดยให้พนักงานสอบสวนมีเส้นทางการเจริญเติบโตได้โดยการประเมิน ทำตำแหน่งควบ เลื่อนไหลในตัวเอง เติบโตในหน้าที่ได้จนถึงระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ สมาคมตำรวจฯ ได้ร่วมกับ ILAW เปิดให้ร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมลงชื่อร่วม “ปฏิรูปตำรวจ 2567” แสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับแก้ไข)
ในตอนท้ายสมาคมตำรวจ และภาคีเครือข่าย เห็นพ้องกันว่า ปัญหาขององค์กรตำรวจ นอกจากเรื่องการบริหารบุคคลแล้ว เรื่องกำลังพล การจัดสรรงบประมาณ ค่าตอบแทน ที่ไม่สอดคล้องกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ และปริมาณงาน กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกร่อนองค์กร จนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น งานล้น เป่าคดี การคอร์รัปชัน เรียกรับ ยอมรับผลประโยชน์
ดังนั้น การปฏิรูปตำรวจ 2567 จะผลักดันขับเคลื่อนเรื่องค่าตอบแทน งบประมาณให้สอดคล้อง เหมาะสม เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วย เพื่อทำให้ตำรวจสามารถทำงานดูแลบริการประชาชนอย่างเป็นตำรวจอาชีพ มีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาต่อองค์กรตำรวจ และกระบวนการยุติธรรรมโดยรวม