เช็คลิสต์‘แผนซื้ออาวุธ’งบปี 68 ทร.ฟันหลอ ทอ.น่านฟ้าเปิด

เช็คลิสต์‘แผนซื้ออาวุธ’งบปี 68  ทร.ฟันหลอ ทอ.น่านฟ้าเปิด

การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของ "เหล่าทัพ" จะถูกตีตกในชั้นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณ 2568 หรือไม่ โดยเฉพาะ โครงการจัดหาเครื่องบินรบฝูงใหม่ของ ทอ.

KEY

POINTS

 

 

 

  • สมรรถภาพความพร้อมรบของกองทัพอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน อาวุธยุทโธปกรณ์ เตรียมทยอยปลดประจำการ
  • ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ปี 2568 กองทัพอากาศ จัดหาเครื่องบินรบ ซึ่งยังตามลุ้นจะถูกตีตกในชั้นคณะกรรมาธิการหรือไม่ 
  • ปีนี้ เรือฟริเกตสมรรถนะสูง จำนวน 1 ลำ ของ กองทัพเรือ ไม่ได้รับอนุมัติเปลี่ยนแปลงงบประมาณก่อนจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ

 

ปัจจุบัน “กองทัพอากาศ” กำลังคัดเลือกแบบ “เครื่องบินขับไล่โจมตี”ฝูงใหม่ ระหว่างกริพเพน และ F-16 บล็อก 70 ที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะเป็นการใช้งบประมาณวงเงินค่อนข้างสูง ให้ตอบโจทย์ความต้องการ และภารกิจปกป้องดูแลอธิปไตยน่านฟ้าไทยให้ได้มากที่สุด

โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนของกองทัพอากาศ 1 ฝูง จำนวน 12 เครื่อง แบ่งเป็น 3 ระยะ 

โดยระยะที่ 1 ถูกบรรจุในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ปี 2568 ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ไปแล้ว จำนวน 4 เครื่อง วงเงิน 1.9 พันล้านบาท งบฯผูกพัน 4 ปี รอการชี้แจงในสภาฯ วาระที่ 1 เดือน มิ.ย. และในวาระ 2-3 ช่วงเดือน ส.ค. หากโครงการดังกล่าวไม่ถูกตีตกในชั้นคณะกรรมาธิการ 

สำหรับเครื่องบินขับไล่โจมตีระยะที่ 1 จำนวน 4 เครื่อง แม้ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ไม่การันตีว่าจะทันเข้าประจำการภายในปี 2572 ทดแทนเครื่องบินปลดประจำการจาก 6 ฝูง เหลือ 3 ฝูง ซึ่งจะมีฝูงบินรบหลักเหลือ 2 ฝูง คือ กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี กองบิน 4 จ. นครสวรรค์ แต่จะสามารถรักษาความพร้อมรบไว้ได้

สำหรับ “เรือดำน้ำ” ยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ เพื่อปกป้องดูแลน่านน้ำ และทรัพยากรทางทะเล ในขณะที่ประเทศรอบบ้านมีเข้าประจำการหมดแล้ว ยังต้องตามลุ้นกันต่อว่าผ่านด่าน นายกฯและ ครม.หรือไม่

หลังคณะทำงานที่มี “บิ๊กอั๋น” พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม เป็นประธาน เจรจากับตัวแทนหน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหมจีน จนได้ข้อสรุป เดินหน้าต่อ เพื่อรักษาสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศ

จากนี้ต้องรอ "สุทิน คลังแสง" รมว.กลาโหม นำผลเจรจาเสนอ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.ปรับแก้สัญญา 2 ส่วน คือ ขยายสัญญาต่อเรือดำน้ำประมาณ 1,200 วัน และเปลี่ยนเครื่องยนต์จาก MTU เยอรมัน เป็น เครื่องยนต์จีน CHD620 

ขณะที่ความคืบหน้าการจัดหา“เรือฟริเกต” สมรรถนะสูง จำนวน 1 ลำ หลังถูกตีตกในชั้นคณะกรรมาธิการ ในงบประมาณปี 2567 และ ปี 2568 ก็ไม่ได้รับอนุมัติเปลี่ยนแปลงงบประมาณก่อนจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ คงต้องไปลุ้นในปีงบประมาณถัดไป ว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่ และจะได้จำนวนกี่ลำ

เนื่องจากกองทัพเรือได้วางกำลังทางเรือฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยต้องมีเรือฟริเกตพร้อมปฏิบัติงานครบ 8 ลำในปี 2580 ปัจจุบันมีอยู่ ได้แก่ เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงตากสิน เรือหลวงนเรศวร

ส่วน เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เพิ่งขยับชั้นเป็นเรือฟริเกตอีก 1 ลำ ใช้งานมา 36 ปี ก็ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี โซนาร์ใช้ไม่ได้ จึงปรับภารกิจจากเรือฟริเกต เป็นเรือโอพีวี หรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งแทน

ทั้งนี้ ในร่างงบประมาณปี 2568 กองทัพเรือเสนอโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงทดแทน 2 เครื่อง ใช้ในทางด้านยุทธการ สนับสนุนภารกิจส่งทางอากาศของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และสามารถใช้ในทางธุรการได้ ทั้งทางทหารและพลเรือน นอกนั้นมีเรือบรรทุกน้ำมัน 1 ลำ และการเสริมอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เรือหลวงช้าง

ขณะที่ “กองทัพบก” มีโครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ก (Black Hawk) จำนวน 3 ลำ ในรูปแบบโครงการความช่วยเหลือทางทหาร ระหว่างกองทัพบกไทยกับกองทัพบกสหรัฐอเมริกา (Foreign Military Sales - FMS) เป็นโครงการจัดหาต่อเนื่องตามความจำเป็น

โครงการดังกล่าวขยับมาจากงบประมาณปี 2567 ซึ่งขณะนั้นสหรัฐฯ ต้องการให้วางเงินมัดจำไว้ก่อน แต่เนื่องจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ ต้องยกมาในปีงบประมาณ 2568 นอกนั้นได้เน้นวิธีการซ่อมบำรุงเพื่อยืดอายุการใช้งาน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภารกิจหลักของกองทัพ

จะเห็นได้ว่า แผนจัดซื้ออาวุธของเหล่าทัพถูกรัฐบาลแช่แข็ง ไม่ต่างกับยุคนายกฯทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากต้องการนำงบประมาณไปใช้กับโครงการหาเสียง เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงนโยบายจำกัดงบประมาณกองทัพ แม้กระทั่งส่วนที่จำเป็นจริงๆ อย่างเรือฟริเกตสมรรถนะสูงก็ยังถูกเบรก จน พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ต้องส่งสัญญาณถึงรัฐมนตรี“สุทิน”

“กองทัพเรือฟันหลอ รั้วทางทะเลไม่สามารถดูแลได้แล้ว ขอเรือกับเครื่องบินช่วยเติมความสามารถให้กองทัพเรือ ให้พร้อมที่จะทำหน้าที่เพื่อประชาชน” ผบ.ทร.ระบุ

ดังนั้น ต้องรอลุ้นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2568 ในชั้นคณะกรรมาธิการ โดยเฉพาะแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยจะไฟเขียว โครงการจัดซื้ออาวุธกองทัพเพื่อปกป้องน่านฟ้า ดูแลทะเลสองฝั่งของประเทศหรือไม่ หรือจะซ้ำรอยถูกตีตกไม่ต่างกับเรือฟริเกตในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา

เช็คลิสต์‘แผนซื้ออาวุธ’งบปี 68  ทร.ฟันหลอ ทอ.น่านฟ้าเปิด