ฉีก‘MOU 2544’ บีบ รัฐบาลเพื่อไทย ยกพื้นที่พิพาททะเลขึ้น‘ศาลโลก’
การแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ภายใต้กรอบ MOU 2544 กับความสัมพันธ์แนบแน่น “ชินวัตร-ฮุนเซน” สร้างแรงเสียดทานให้“รัฐบาลเพื่อไทย”ไม่น้อย โดยเฉพาะกองทัพ แม้ไม่พูด แต่ใช่ว่านิ่งเฉย เพราะมีอธิปไตยทางทะเลเป็นเดิมพัน
KEYPOINTS
- เว็บไซต์ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ อธิบายคำว่า “MOU” เป็นชื่อหนึ่งของสนธิสัญญา
- “MOU 2544” เครื่องมือแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา อาจทำไทยเสียเปรียบในอนาคต หากอธิปไตยทางทะเลนำไปสู่ศาลโลก
- "กัมพูชา" สร้างสันเขื่อนยื่นลงไปในอ่าวไทย โดยใช้หลักเขต 73 เป็นอาณาเขตทางบกและทะเลที่ขีดเส้นขึ้นเอง
- “กองทัพเรือ” วางกำลัง จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด พื้นที่อ่อนไหวความมั่นคง พร้อมแสดงแสนยานุภาพในทุกปี
หากล่วงเลย 60 วัน “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ยังไม่ส่งคำร้องของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” นับตั้งแต่วันยื่นเรื่อง(10 เม.ย.2567)ให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัย กรณี “MOU 2544” ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
เครื่องมือสำคัญของ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเตรียมนำมาใช้ดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร(16 ล้านไร่) และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเล 20 ล้านล้านบาทกับกัมพูชา
ตามกฎหมาย “ผู้ร้อง” สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วยตัวเอง โดยไพบูลย์ นิติตะวัน ได้ประสานหน่วยงานความมั่นคง ให้เตรียมข้อมูลสนับสนุนเพื่อนำไปใช้ประกอบในชั้นศาล
การยื่นคำร้องเกิดขึ้นภายหลังเว็บไซต์กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้อธิบายคำว่า “MOU” เป็นชื่อหนึ่งของสนธิสัญญา หมายความว่า มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจรัฐ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
แต่ปรากฎว่า “MOU 2544” ได้กระทำขึ้นโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 มีผลให้ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก และมีผลในทางกฎหมายไม่ผูกพันรัฐภาคีทั้งสอง ตามหลักการเรื่อง “ความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา” ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ 1969
ในคำร้องของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ยังระบุอีกว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า MOU 2544 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ตกเป็นโมฆะ ส่งผลให้เขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทย พื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเล 20 ล้านล้านบาท ตกเป็นของไทยทั้งหมด ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ 1982
โดยเสนอให้ไทย เป็นฝ่ายนำคดีข้อพิพาทในเขตอธิปไตยทางทะเลฟ้องต่อศาลกฎหมายทะเลและระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ที่นครฮัมบรูกส์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ยุติปัญหาพิพาทหากกัมพูชาโต้แย้ง
หน่วยงานความมั่นคง ระบุว่า หาก MOU 2544 เป็นโมฆะ ในอนาคตหากข้อพิพาท เรื่องเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยไปสู่ศาลกฎหมายทะเลและระหว่างประเทศ ไทยจะได้เปรียบ เพราะกัมพูชาไม่อาจกล่าวอ้าง MOU 2544 เป็นหลักฐานว่าไทยยอมรับว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ในทางตรงกันข้าม หาก MOU 2544 ยังคงอยู่ กัมพูชาจะได้เปรียบ
พร้อมยกกรณี กัมพูชาสร้างสันเขื่อน โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะริมตลิ่ง ซึ่งปกติต้องสร้างให้ขนานกับชายฝั่ง แต่สิ่งที่ปรากฏเป็นการสร้างสันเขื่อนลงทะเลอ่าวไทย เริ่มก่อสร้างปี 2541 โดยใช้หลักเขต 73 ที่กัมพูชาขีดเส้นขึ้นเอง
สำหรับเส้นอาณาเขตทางบก และทางทะเล โดยยึดหลักเขตที่ 73 บ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ได้ลากเส้นไปยังละติจูด 101 ลิปดา 20 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 11 ลิปดา 32 ลิปดาตะวันออก และลากยาวผ่านไปยังภูเขาที่สูงที่สุดของ อ.เกาะกูด และยังลากไปยังเส้นลองจิจูด 101 ลิปดา 13 ลิปดาเหนือ และละติจูด 10 ลิปดา 59 ลิปดาตะวันออก และลากไปชนกับเส้นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 120 ไมล์ทะเล ที่มากกว่า 150,000 ตารางกิโลเมตร
“หากยึดเส้นอาณาเขตทางบก และทางทะเล หลักเขตที่ 73 เกาะกูด ตกเป็นของกัมพูชา ในขณะที่ไทยยึดอาณาเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย พ.ศ. 2516” หน่วยงานความมั่นคง ระบุ
ปัจจุบัน “กองทัพเรือ” วางกำลัง จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด (นปก.) หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ที่ขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด
ในทุกปี จะมีการฝึกยิงอาวุธประจำหน่วยเพื่อทบทวนและเตรียมความพร้อมรบ เช่น การยิงอาวุธ ปืน 76/50 และปืนต่อสู้อากาศยาน 37 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นอาวุธประจำหน่วย ซึ่งทำการฝึกยิงต่อเป้าพื้นน้ำ และเป้าอากาศยานสมมติ
นปก. มีภารกิจปกป้องอธิปไตยตามแนวเขตทางทะเลของกองทัพเรือที่ต้องดูแล เพราะเกาะกูด กลายเป็นพื้นที่อ่อนไหวด้านความมั่นคง
ทั้งนี้นับตั้งแต่ รัฐบาลเพื่อไทย หยิบยกเรื่องแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มาหารืออีกครั้ง ภายหลังการพบกันครั้งแรก นายกฯ 2 ประเทศ เศรษฐา ทวีสิน กับ ฮุน มาเนต
รวมถึงการมาเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการของ สมเด็จฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางมาพบ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ในห้วงที่ผ่านมา
ได้เห็นความเคลื่อนไหว การทำงานสอดผสานระหว่าง หน่วยงานความมั่นคง กองทัพเรือ ฝ่ายการเมือง ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สนับสนุนข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยใช้เวทีรัฐสภากระตุ้นรัฐบาลเพื่อไทย และสังคมให้เห็นความสำคัญกรณีดังกล่าว ไล่เรียงเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
5 มี.ค.2567 พล.ร.อ.พัลลพ ติศานนท์ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) อภิปรายในสภาฯ เรียกร้องให้รัฐบาลทำหนังสือประท้วงกัมพูชา กรณีสร้างสันเขื่อนลงทะเลอ่าวไทย ยึดหลักเขต 73
5 เม.ย.2567 ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ย้ำรัฐบาลยื่นประท้วงรัฐบาลกัมพูชา ให้ทำลายสันเขื่อนที่สร้างยื่นลงไปในทะเลหลักเขตที่ 73
10 เม.ย.2567 ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัย MOU 2544 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่
14 พ.ค.2567 พล.ร.ต.วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า หลังมีการตรวจพบสร้างสันเขื่อนกัมพูชาลงทะเลอ่าวไทย ปี 2540-2541 กองทัพเรือได้แจ้งกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงได้ยื่นบันทึกช่วยจำ และหนังสือประท้วงฝ่ายกัมพูชา ขอให้รื้อถอนเขื่อนกันคลื่นดังกล่าวออกไป โดยได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการออกไปแล้ว 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2541 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564
ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2541 ที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือทักท้วงกรณีดังกล่าวไป ทางกัมพูชาได้หยุดการก่อสร้าง และไม่มีการสร้างเพิ่มเติมแต่อย่างใด
“กองทัพเรือ ยังคงดำรงภารกิจในการรักษาสิทธิ อำนาจอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดเรือและอากาศยาน ลาดตระเวน เฝ้าตรวจ และแสดงกำลังเหนือพื้นที่ทางทะเลที่อ้างสิทธิ์ มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชาติ และความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ” โฆษกกองทัพเรือ ระบุ
การแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ภายใต้กรอบ MOU 2544 กับความสัมพันธ์แนบแน่นสองตระกูล “ชินวัตร-ฮุนเซน” สร้างแรงเสียดทานให้“รัฐบาลเพื่อไทย”ไม่น้อย โดยเฉพาะกองทัพ แม้ไม่พูด แต่ใช่ว่าจะนิ่งเฉย เพราะมีอธิปไตยทางทะเลเป็นเดิมพัน