ย้อนรอย 27 ปี '4 นายกฯ' วิบากการเมืองในศาล รธน.
ทั้งหมดคือคดีความที่มีการร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย “คุณสมบัติ” ความเป็น “นายกฯ” เมื่อครั้งยังอยู่ในตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญในรอบ 27 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าส่วนใหญ่ “รอดพ้น” ทั้งหมด มีแค่ 2 รายคือ “สมัคร สุนทรเวช-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง
KEY
POINTS
- ย้อนรอย 27 ปีศาลรัฐธรรมนูญ 5 นายกฯขึ้นเขียงถูกร้องวินิจฉัย
- “ทักษิณ” รายแรก “คดีซุกหุ้น” ในตำนาน มติข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียงชี้ไม่ผิด กับวาทะตำนาน “บกพร่องโดยสุจริต”
- “สมัคร” นายกฯคนแรกที่ไม่รอดถูก ศาลชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์รายการ “ชิมไปบ่นไป-ยกโขยง 6 โมงเช้า”
- “ยิ่งลักษณ์” รายต่อมาศาลชี้โยกย้าย “ถวิล” พ้นเลขาฯ สมช.โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
- “ประยุทธ์” โดนร้องเยอะสุด 4 สำนวน แต่รอดทั้งหมด มีลุ้นแค่คดีนายกฯ 8 ปีโดยสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับมาได้
- รอลุ้น “เศรษฐา” นายกฯคนที่ 5 ถูกร้องปมแต่งตั้ง “พิชิต” แม้จะชิงลาออกไปแล้วก็ตาม
แม้ “พิชิต ชื่นบาน” ยอมถอยยื่นลาออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในประเด็นถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติจาก “แผลเก่า” ในอดีต เพื่อไม่อยากให้ข้อครหาบานปลายไปแตะตัว “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ที่ถูกร้องพ่วงไปด้วย
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่หลายฝ่ายยังคงถามถึงคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ยังสามารถรับคำร้องดังกล่าวได้หรือไม่ มีบางฝ่ายมองว่า เรื่องน่าจะต้องตกไป เพราะผู้ถูกกล่าวหา “หลัก” ชิงลาออกเสียก่อน บางฝ่ายมองว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยได้ เพราะเรื่อง “สำเร็จ” ไปแล้ว เนื่องจากมีการตั้ง “พิชิต” เป็น รมต.สำนักนายกฯ นานถึง 19 วัน (นับตั้งแต่วันถวายสัตย์ฯ)
เรื่องนี้คงต้องรอการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ โดย "นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมตุลาการ คาดว่าจะมีการนำประเด็นดังกล่าวเข้าที่ประชุม รวมถึงสถานการณ์ล่าสุดที่ “พิชิต” ลาออกจากรัฐมนตรีแล้ว ไปประกอบข้อเท็จจริงในคำร้องนี้ด้วย
สำหรับบุคคลระดับ “นายกฯ” นับตั้งแต่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญมาเมื่อปี 2540 เป็น “องค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ในช่วงเวลากว่า 27 ปีที่ผ่านมา มีนายกฯถึง 4 คน “ขึ้นเขียง” (นับเฉพาะที่ถูกร้องเมื่อครั้งเป็นนายกฯ) โดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว
ยกตัวอย่างกรณีสำคัญ ไล่เรียงมาตั้งแต่ปี 2544 คนแรกที่ถูกร้องคือ “ทักษิณ ชินวัตร” นายกฯคนที่ 23 กับคดีในตำนานการจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “คดีซุกหุ้น”
ข้อเท็จจริงจากการขุดคุ้ยของสื่อพบว่า มี “คนรับใช้-คนขับรถ” เป็น “นอมินี” ถือหุ้นแทนคนในตระกูล “ชินวัตร” ทว่าในช่วงเวลาดังกล่าว “ทักษิณ” กำลัง “กระแสสูง” อย่างมาก ในการไต่สวนมีมวลชน “คนรักทักษิณ” ดาหน้ามาให้กำลังใจกันแน่นขนัดบริเวณศาลรัฐธรรมนูญหลังเดิม (บริเวณท่าพระ ปากคลองตลาด)
จนสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียง ให้ยกคำร้องกล่าวหาดังกล่าวไป เนื่องจากเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานบ่งชี้ว่ากระทำผิด พร้อมกับวาทะในตำนานของทักษิณอันลือลั่นว่า “บกพร่องโดยสุจริต”
ต่อมาปี 2549 มีการรัฐประหาร นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญเป็นปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว มีอำนาจแค่วินิจฉัย “คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม” ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น
นายกฯคนต่อมาที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาคือ “สมัคร สุนทรเวช” นายกฯคนที่ 25 ผู้ล่วงลับ ที่เคยพูดผ่านสาธารณะยอมรับว่าเขาคือ “นอมินี” ของ “ทักษิณ” โดย “สมัคร” ถูกยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นการเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์รายการ “ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 (ชื่อขณะนั้น) โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า “สมัคร” กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลง
หลังจากนั้นในยุครัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” มีระยะเวลาแสนสั้นไม่กี่เดือน เปลี่ยนผ่านมาเป็นรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ไม่มีนายกฯถูกร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด กระทั่งถึงยุค “รัฐบาลนารีขี่ม้าขาว” นำโดย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาว “ทักษิณ” ตั้งแต่เธอเขารับตำแหน่งนายกฯเมื่อปลายปี 2554 เป็นต้นมา มีการโยกย้ายข้าราชการหลายตำแหน่ง
หนึ่งในนั้นคือการย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” พ้นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จนนำไปสู่การร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การย้ายดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการ “เอื้อประโยชน์” ให้แก่เครือญาติ คือเปิดทางให้ “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็น ผบ.ตร. และเอา พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.คนเก่าไปนั่งเลขาฯ สมช.เบียดเก้าอี้ของ “ถวิล” ไป
สุดท้ายเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 ช่วงสุกงอมของม็อบ กปปส.ที่เคลื่อนไหวล้มรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง วินิจฉัยว่า “ยิ่งลักษณ์” ใช้ตำแหน่งนายกฯเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายเลขาฯ สมช.ดังกล่าว เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ทำให้ความเป็นนายกฯ ของยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลง
หลังจากนั้นเพียง 15 วัน ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 ก็เกิดรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ถัดมาในยุครัฐบาล คสช. กุมอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีการร้องเรียนนายกฯใด ๆ ถัดมาจนถึงการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารเมื่อปี 2562
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คัมแบ็กนั่งเก้าอี้นายกฯสมัยที่ 2 เรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ามา มี 4 คดีสำคัญเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่
1.คดี “บ้านพักหลวง” โดยมีการกล่าวหาว่า “นายกฯ” พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.แล้ว แต่ยังพักอาศัยในบ้านพักราชการทหารที่ ร.1 รอ. สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ผิดกรณีนี้ เนื่องจากไปเป็นไปตามระเบียบของกองทัพบก
2.คดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเนื่องจากเป็นหัวหน้า คสช. ทำให้ขาดคุณสมบัติเป็นนายกฯหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ตำแหน่ง คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจาก คสช.เป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ การทำงานของหัวหน้า คสช.เป็นการแต่งตั้งไม่ได้ขึ้นกับกฎหมาย จึงตีตกคำร้องกล่าวหา
3.คดีกล่าวคำถวายสัตย์ฯ เมื่อครั้งเป็นนายกฯปี 2562 ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 โดยศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ยกคำร้องไม่รับวินิจฉัยคดีนี้ โดยเห็นว่า การถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ได้อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด และไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49
4.คดีดำรงตำแหน่งนายกฯเกิน 8 ปี ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ โดยมีการร้องเรื่องนี้เมื่อปี 2565 คดีนี้น่าสนใจมากที่สุด เพราะในช่วงรับคำร้อง ศาลรัฐธรรมนูญ “เสียงแตก” ออกเป็น 2 ฝ่าย โดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียงให้รับคำร้องดังกล่าว และสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
ถัดมาเกือบ 1 เดือนศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากให้เริ่มนับความเป็นนายกฯตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ คือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นต้นมา
ทั้งหมดคือคดีความที่มีการร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย “คุณสมบัติ” ความเป็น “นายกฯ” เมื่อครั้งยังอยู่ในตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญในรอบ 27 ปีที่ผ่านมา
จะเห็นว่าส่วนใหญ่ “รอดพ้น” ทั้งหมด มีแค่ 2 รายคือ “สมัคร สุนทรเวช-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง
ดังนั้น “เศรษฐา” นายกฯ คนที่ 29 ถือเป็นนายกฯ คนที่ 5 ที่ถูกร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ จับตา 23 พ.ค.2567 ว่า ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลสรุปออกมาเป็นอย่างไร