ปม‘ผู้สมัคร สว.’แพ้ฟาวล์ คำสารภาพ กรธ. ‘คาดไม่ถึง’
หลัง เลขากกต. บอกว่ามี 10ว่าที่ผู้สมัคร สว. ถูกปัดตก "อดีต กรธ.-ชาติชาย" รู้ข่าวตกใจในที พร้อมบอกว่า เป็นสิ่งที่ผู้ยกร่างคาดไม่ถึง แต่ปมนี้พอมีทางออก ให้ผู้ถูกรอดสิทธิทางการเมือง ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
Key Point :
- เลขากกต. ระบุ ถึงการตีตก "10ว่าที่ผู้สมัครสว." ในอำเภอที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียว เหตุผลคือ ไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย ว่าด้วยการเลือกไขว้
- กรณีนี้ถูกมองว่า ริดรอน สิทธิของ ผู้สมัคร แบบแพ้ฟาวล์
- ทว่า กกต.มีเหตุผลที่ชี้แจงคือ มาตรา 33 ของ พ.ร.ป.สว.กำหนดไว้
- อดีต กรธ. ออกมายอมรับว่า ปมแพ้ฟาวล์นี้ ตอนยกร่างกฎหมาย คิดกันไม่ถึง พร้อมแนะให้ผู้ถูกตีตก ร้องศาลรัฐธรรมนูญ แทนร้องศาลปกครอง
- ชี้ช่องร้องศาลรัฐธรรมนูญ คือ เหตุถูกริดรอนสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ
"พวกเราคิดไม่ถึง ว่าจะมีผู้สมัครกลุ่มเดียว ทำให้การเลือกไขว้เกิดขึ้นไม่ได้... ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของผู้สมัคร” ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
การเลือก สว.2567 ที่ถูกจับตาอย่างมาก ถึงการ “ฮั้ว” และ “บ้านใหญ่-พรรคการเมือง” หนุนหลัง ที่อาจเป็นเหตุให้ได้ “สว.ไม่ตรงปก” ตามรัฐธรรมนูญ 2560
อีกทั้งยังมีประเด็นแทรก ที่เป็นความอลเวง คือ “ว่าที่ผู้สมัคร สว.” ถูกตัดสิทธิตั้งแต่ก่อนจะเริ่มต้นกระบวนการเลือก
โดย “แสวง บุญมี” เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกเมื่อ 27 พ.ค. ว่า มีผู้สมัคร สว. 10 คน ใน 7 อำเภอ ที่ต้องถูกปัดตก เนื่องจากมีผู้ลงสมัครเพียงกลุ่มเดียว และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 33 ไม่สามารถไปต่อในกระบวนการเลือกไขว้ได้
จึงหมายถึง มีผู้สมัคร “แพ้ฟาวล์” ตั้งแต่กระบวนการลงคะแนนยังไม่เริ่ม
สำหรับอำเภอที่มีผู้สมัคร 1 คน ได้แก่ อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา, อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์, อ.แม่จริม อ.นาน้อย อ.เชียงกลาง จ.น่าน ขณะที่อำเภอที่มีผู้สมัคร 2 คน คือ อ.อุ้มผาง จ.ตาก และอำเภอที่มีผู้สมัคร 3 คน คือ อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร
ปัญหานี้จึงกลายเป็นคำถามที่ต้องตั้ง ย้อนไปถึง “คนต้นเรื่อง” คือ “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ กรธ. ในฐานะผู้ออกแบบกติกา ทั้งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบฯ ว่าคิดกันอย่างไร ถึงทำให้มีผู้ถูกตัดสิทธิ ทั้งที่ยังไม่ทันเริ่มต้นกระบวนการเลือก
ต่อเรื่องนี้ “ชาติชาย ณ เชียงใหม่” อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตอนุกรรมการร่วมกันพิจารณาศึกษาและกลั่นกรอง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แสดงความตกใจ ก่อนตอบคำถาม เนื่องจากในชั้นการพิจารณา “คาดไม่ถึง” ว่าจะเกิดกรณีที่มีว่าที่ผู้สมัคร สว.ถูกปัดตก ด้วยแทคติกกฎหมาย
“พวกเราคิดไม่ถึงว่าจะมีผู้สมัครกลุ่มเดียว ทำให้การเลือกไขว้เกิดขึ้นไม่ได้ ตอนคิดเรามองในการออกแบบให้กลุ่มสมัครเปิดกว้างมากที่สุด ถึงกำหนดให้มีคำว่าอื่นๆ ไว้ในอาชีพที่เป็นคุณสมบัติสมัคร สว.ได้ แต่เมื่อมีผู้สมัครกลุ่มเดียว และจำนวนน้อย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย จึงถูกตัดสิทธิ ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของผู้สมัคร” ชาติชาย ระบุ
ชาติชาย ยอมรับว่า ทางออกของเรื่องนี้ไม่มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายลูก จึงเป็นสิทธิที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะพิจารณาและทำตามกติกาที่เขียนไว้ เมื่อรายละเอียดไม่ครบองค์ประกอบที่นำไปสู่การเลือกไขว้ในระดับอำเภอได้ จึงต้องตัดสิทธิ ทำให้ผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธินั้น เสียสิทธิไปตามกฎหมาย
“ผมมองว่าการตัดสิทธิจากที่มีคนสมัครกลุ่มเดียว ไม่แฟร์กับผู้สมัคร แต่ตอนนี้ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ต้องรอแก้กฎหมายในอนาคต"
ส่วนกรณีที่คนสมัครน้อย ที่มีคนมองว่าเพราะกระบวนการของ กกต. ทำไม่ทั่วถึงนั้น ชาติชาย มองว่า ต้องพิจารณาในเชิงพื้นที่ด้วย จะนำพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะมาเทียบกับพื้นที่เมืองไม่ได้
ส่วนคนที่ถูกปัดตกจะมีสิทธิ “ร้องเรียนเพื่อทวงสิทธิ” หรือ “อุทธรณ์” เพื่อทวงสิทธิคืนหรือไม่ อดีต กรธ.ผู้นี้มองว่า กกต.เป็นองค์กรและต้องทำตามกติกา ตามกฎหมาย เมื่อมีผู้สมัครน้อย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบ ต้องทำตามนั้น หากผู้เสียสิทธิจะสู้กับ กกต. โดยการยื่นศาลปกครอง ตนมองว่า กกต.มีหลักพิงคือข้อกฎหมายที่ไม่เปิดช่องไว้ให้
“อีกทางที่ทำได้คือ ผู้ที่ถูกปัดตก หรือเสียสิทธิ สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาหาทางออกให้ ฐานะเป็นผู้ที่ถูกลิดรอนสิทธิทางการเมืองจากกฎหมาย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยที่พอเป็นทาง เหมือนกับเขียนกฎหมายหรือข้อปฏิบัติให้เป็นทางออกของเรื่องนี้ได้” ชาติชาย ระบุ
ทว่า ไม่การันตีว่าหากมีคนใช้ช่องทางนี้ จะเป็นการยื้อไทม์ไลน์เลือก สว.ออกไปหรือไม่ หรือยื้อออกไปนานเพียงใด
ก่อนทิ้งท้ายว่า “ผมเสียใจ เพราะเป็นสิ่งที่พวกเราคิดไม่ถึง กรณีมีกลุ่มๆ เดียว ไม่พอให้เลือกไขว้ ทำให้ถูกเสียสิทธิ ดังนั้น ในอนาคตต้องแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหา เช่น กรณีที่มีผู้สมัครกลุ่มเดียวในระดับอำเภอ สามารถให้ กกต.นำไปรวมกับอำเภอที่มีเขตติดต่อกันเพื่อให้เลือกไขว้ได้ และผ่านไปสู่ระดับต่อไปได้”
สำหรับการออกแบบกติกาให้ “สว.” มาจากการเลือกของกลุ่มสาขาอาชีพ 20 กลุ่ม และมีระบบเลือก 2 ชั้นใน 3 ระดับ ถือเป็นการออกแบบที่คิดมาเพื่อแก้ปัญหา
1.การครอบงำของกลุ่มการเมือง ที่ทำให้เกิดสภาผัว-สภาเมีย
2.การฮั้วกันของผู้สมัคร ซึ่งมีตัวอย่างเหตุการณ์จากการเลือกของบางองค์กร
กับการออกแบบ สว.ที่มาจากสาขาอาชีพ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการออกแบบกฎหมายที่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ที่มาจากสาขาอาชีพต่างๆ เข้ามาเป็นสภาฯ กลั่นกรอง ถือเป็น “จุดตั้งต้น” ของการออกแบบ สว.เลือกกันเองของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อการออกแบบที่ป้องกันการฮั้ว และสร้างเกราะให้คนดีเข้าสู่สภาสูงกลับพบปัญหา จึงต้องจับตาว่าการออกแบบกติกาลักษณะนี้จะถูกใช้ซ้ำอีก หรือถูกรื้อทิ้ง.